กฤษฎีกาตีความอำนาจทำซีแอล สธ.ทำถูกกฎหมายหรือไม่ 10 ก.ย.นี้ สปสช.ส่งทีมกฎหมาย “หมอวิชัย” แจงข้อเท็จจริง มั่นใจไทยทำซีแอลถูกต้องตามกระบวนขั้นตอนทางกฎหมาย เตรียมเอกสารข้อมูลแน่นปึกอ้างอิง ตำหนิ พณ.รับลูกบริษัทยาไม่ชอบมาพากล ชี้ ไม่ต้องสนใจบริษัทยาก็ได้ เพราะข้อแย้งไร้สาระ ไม่มีเหตุผล ลุยเดินหน้าซีแอลนำเข้ายาเต็มที่
วันที่ 9 กันยายน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ยื่นให้สำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกาวินิจฉัย เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือแจ้งให้ สปสช.เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวในวันที่ 10 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น.ซึ่งตนได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแทน คือ นายวิญญู พิทักษ์ปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ภก.สรชัย จำเนียนดำรงการ สำนักนโยบายและแผน สปสช.และนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะคณะกรรมการบริการ สปสช.และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ทั้งนื้ ไม่ทราบว่า จะมีผลวินิจฉัยทันทีหรือไม่
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการอ้างอิงประกอบการวินิจฉัยของสำนักงานกฤษฎีกาฯ ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยประเด็นสำคัญ คือ กรณีที่บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด มีข้อท้วงติงไปยังกระทรวงพาณิชย์ว่า การทำซีแอลยารักษามะเร็งปอด และเต้านมโดซีแท็กเซลยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.25522 มาตรา 51 เนื่องจาก สธ.ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งต้องให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้อนุญาตบังคับใช้สิทธิบัตรก่อน สธ.จึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงไม่สามารถนำเข้ายาโดซีแท็กเซลเข้ามาได้ ถือเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีเหตุผล เพราะในกฎหมายสิทธิบัตรของไทย ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้กระทรวง ทบวง กรม มีอำนาจสามารถดำเนินการประกาศซีแอลได้ โดยไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการเฉพาะ
“จริงๆ บริษัทยาเคยมีข้อโต้แย้งกรณีเดียวกันนี้กับยายาสลายลิ่มเลือดและหัวใจ โคลพิโดเกรลเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง อภ.ได้ให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่มีหลักฐาน จึงไม่สนใจที่จะตอบด้วยซ้ำไป และเดินหน้าเต็มที่ โดยการสั่งนำเข้ายา และไม่เพียงนักกฎหมายไทย และนักวิชาการเท่านั้น ยังมีนักกฎหมายชาวต่างประเทศ ฌอง ฟลินน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้วิเคราะห์กฎหมายสิทธิบัตรของไทยโดยละเอียดแล้ว ระบุว่า สธ.สามารถประกาศใช้ซีแอลได้ นอกจากนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลกที่เข้ามาประเมินการทำซีแอลในไทยก็ยืนยันชัดเจนว่าไทยทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องฟังคำโต้แย้งของบริษัทยาด้วยซ้ำ แต่กลับไปรับลูกฟังคำร้องของบริษัทยาจึงเป็นเรื่องน่าแปลก ยิ่งทำหนังสือไปยังกฤษฎีกาให้ตีความตามที่บริษัทยาแนะนำยิ่งไม่ชอบมาพากล ทำให้ทุกฝ่ายต้องเสียเวลาโดยใช้เหตุ ทั้งๆ ที่ไทยทำซีแอลถูกต้องตามกฎหมาย และตรงไปตรงมา การที่บริษัทยาดำเนินการในลักษณะนี้เห็นได้ชัดว่า เป็นการใช้เล่ห์กล พยายามทุกช่องทางอย่างไม่สมควร ซึ่งต่อไปหากบริษัทยาจะขู่ฟ้อง หรือดำเนินการใดไม่ควรสนใจ เพราะหากไทยทำไม่ถูกต้องบริษัทยาคงไม่เพียงแค่ขู่เท่านั้น แต่คงฟ้องร้องไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการวินิจฉัยของสำนักงานกฤษฎีกาครั้งนี้ จะชี้ว่าไทยทำซีแอลถูกต้องตามกฎหมาย