รักษาการผู้ว่าฯ กทม.ยันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่กระทบเลือกตั้งพร้อมเดินหน้าตามปรกติ ส่วนผู้สมัครสามารถปราศรัยหาเสียงได้ตามเดิมไม่ขัด พ.ร.ก. ด้าน ผอ.สำนักปกครองฯ ชี้หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจะทำให้ กทม.สูญเงินวันละ 2 ล้านบาท ขณะที่ กทม.คุมเข้มพื้นที่ 7 เขตชั้น เฝ้าระวังมือที่ 3 ก่อเหตุ
วันนี้ (2 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ในฐานะรักษาการณ์ผู้ว่าฯ กทม.เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการของกทม.ทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายหลังการประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าตนจะขอให้สัมภาษณ์เฉพาะประเด็นการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้นจะไม่มีการให้สัมภาษณ์ประเด็นความมั่นคง
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวว่า สำหรับการรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ยังคงดำเนินการไปตามปกติจนถึงวันที่ 5 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นวันรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.วันสุดท้าย ส่วนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังคงเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือในวันที่ 5 ต.ค. ในส่วนของการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ผู้สมัครสามารถปราศรัยในสถานที่ที่กลางที่ กทม.จัดไว้ให้ได้ แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงขอเตือนผู้สมัครให้หลีกเลี่ยงการหาเสียงที่อาจสร้างความแตกแยก ก่อให้เกิดการยั่วยุหรือเกิดการเผชิญหน้ากัน อย่างไรก็ตาม ส่วนจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วย เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างที่มีการประกาศลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น เลือกตั้ง 5 ก.ย.นี้ซึ่งจะเป็นวันรับสมัครผู้ว่าฯ กทม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่าจะมีการขนคนเข้ามาร่วมชุมนุมในพื้นที่กทม.เพิ่มมากขึ้นนั้น นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวว่า กทม.จะติดตามและสั่งการให้ทุกสำนักงานเขตดูแลอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งด้วยว่า รักษาการผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 7 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร ป้อมปราบฯ ราชเทวี พญาไท ปทุมวันและสัมพันธวงศ์ ดูแลพื้นที่ของตนเองเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นอกจากนี้ ให้ระมัดระวังเรื่องของการถูกตัดน้ำและไฟในสถานที่ราชการของ กทม. ที่สำคัญให้ระวังและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเรื่องของมือที่ 3 ที่จะเข้าแทรกแซงการชุมนุมระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับ นปช.
ด้านนายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัด กทม. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 7 วรรคสอง ที่ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาให้มีการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งได้ตามความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โดยต้องระบุเหตุผลการมีคำสั่งดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณานั้นจะต้องมีการหารือร่วมกันทั้ง กกต., กกต.กทม. และปลัด กทม.ได้ทันทีหากเห็นว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ร้องเรียนเข้ามาโดยให้เหตุผลว่าเป็นอุปสรรคต่อการหาเสียงทำให้ระยะเวลาหาเสียงไม่เพียงพอซึ่งหากมีการพิจารณาจะให้เลื่อนวันเลือกตั้งไปกี่วันก็ขึ้นอยู่กับการหารือของ กกต. อย่างไรก็ตาม หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจริงนั้น กทม. จะสูญเสียงบประมาณเพิ่มเติมอีกวันละ 2 ล้านบาท