xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงแห่งชีวิตของชาว B-Boy

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลีลาการเต้นของเหล่า B-Boy
ถ้าจะเอ่ยถึง กิจกรรมของวัยรุ่นในปัจจุบันนั้นล้วนมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา การเล่นเกม ดูทีวี เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ววัยรุ่นจะชอบทำกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถ แปลก แหวกแนว ไม่ซ้ำแบบใคร มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว

ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่วัยรุ่นเลือกและสามารถที่จะตอบโจทย์ให้กับพวกเขาได้ นั่นคือ การเต้น B-Boy ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งกิจกรรมที่วัยรุ่นทั้งชายและหญิงนิยมกันมาก โดยจะมีการจับกลุ่มกันเพื่อฝึกการเต้นตามจุดนัดพบต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

การเต้น B-Boy คือ การเต้นที่ต้องใช้พละกำลังมาก ใช้ท่วงท่าที่ดูหนักหน่วง และดูเป็นธรรมชาติที่สุด โดยการเต้นมักจะใช้ท่าสเต็ปเท้าเป็นหลัก ส่วนท่ามือไม่ได้ใช้กันแต่มักจะปล่อยเป็นฟรีสไตล์ทำให้การเต้นดูมีความพลิ้วไหวมากขึ้น และลำตัวจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ส่วนท่าหมุนต่างๆ มักใช้หลักการหมุนตามธรรมชาติมาช่วย ฉะนั้นการเต้น B-Boy จึงเป็นการผสมผสานส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ลำตัว มือ เท้า เข้าด้วยกัน

ถ้าเป็นนักเต้นที่เป็นผู้ชาย ศัพท์แสงที่ใช้ ก็คือ B-Boy ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า B- Girl อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ชาว B-Boy ก็คือ คนทั่วไปมักจะมองนักเต้นเหล่านี้ว่าเป็นเด็กที่ไม่ดี ไร้การศึกษา จับกลุ่มมั่วสุมกัน ทำกิจกรรมที่ไร้สาระ เป็นพวกขยะสังคม แต่ความเป็นจริงแล้ววัยรุ่นกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเป็นเด็กที่มีการศึกษา มีความสามารถ แต่ว่าพวกเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงความสามารถเท่านั้น ซึ่งเมื่อลองเข้าไปสัมผัสแล้วจะพบว่าล้วนเป็นเด็กที่มีความสามารถทั้งสิ้น เพราะกว่าที่จะเก่งได้ต้องมีการฝึกซ้อมกันนานหลายปี

ทั้งนี้ พลังความสามารถของ B-Boy หรือว่า B-Girl เหล่านี้ได้ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมากมาย เป็นการประกาศให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติรู้ว่าเด็กไทยก็มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดเช่นกัน การฝึกซ้อมของนักเต้นเหล่านี้โดยส่วนมากจะไม่มีครูสอนเต้นเฉพาะ แต่จะเป็นการสอนแบบพี่สอนน้อง เป็นการสอนทักษะการเต้นจากรุ่นสู่อีกรุ่น แล้วมีการพัฒนารูปแบบการเต้นไปเรื่อยๆ
น้องท็อป-กิตติฑัตย์  โควหกุล
“กิตติฑัตย์ โควหกุล” หรือ น้องท็อป อายุ 18 ปี หนุ่มน้อยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์มัลติมีเดีย หนึ่งในสมาชิกทีม ROMEO ZERIOUS ที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเต้น B-Boy ด้วยสีหน้าที่มีความมั่นใจว่า....

“รู้จักกับการเต้น B-Boy มากว่า 5 ปีแล้ว เริ่มแรกไม่รู้จักสิ่งนี้เลย ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับผม เพราะเมื่อก่อนการเต้นลักษณะนี้ยังไม่ดัง แต่เรามีความสุขกับการได้ลองทำกับสิ่งที่ไม่รู้จัก โดยส่วนตัวก็เป็นคนชอบทำอะไรที่แปลกใหม่อยู่เสมอ แล้วก็ได้มาเจอกับเพื่อนๆ ที่มีใจรักเรื่องการเต้นเหมือนกัน จึงรวมกลุ่มกันตั้งเป็นทีมกับเพื่อน 6-7 คน”

หลังจากที่มีการรวมทีมกันแล้วก็มีการฝึกซ้อมกันเพื่อที่จะออกแข่งขัน ซึ่งใช้เวลานานเหมือนกันกว่าทีมจะมีความพร้อม

“ทีมเราค่อนข้างที่จะแตกต่างกับทีมอื่นตรงที่พวกเราจะสื่อรูปแบบการเต้นออกมาให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่มีการกำหนดขอบเขตท่าเต้นที่ตายตัว โดยนำเสนอคาแร็กเตอร์ของตัวเอง เพราะพวกเรามองว่าการที่จะทำอะไรให้ได้ดีต้องไม่มีการฝืนตัวเอง ต้องทำออกมาจากใจ ทำออกมาจากตัวตน”

การเต้นของทีม ROMEO ZERIOUS จะเป็นท่าที่มีการผสมผสานกันในหลากหลายรูปแบบ ใครเด่นในการเต้นอะไรก็นำเสนอท่าที่ตัวเองถนัดออกมา เช่น ใครถนัดท่า Headspin (การหมุนหัว) หรือถนัดสเต็ปเท้าก็ใช้ความสามารถตรงนี้ จากการที่มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองทำให้น้องๆ เหล่านี้สามารถชนะใจกรรมการมาหลากหลายเวที เช่น การประกวด “Battle of the Year Thailand 2006” ได้อันดับ 2 หรือ ประกวด Siam Hiphop Underground และมีออกไปประกวดต่างประเทศด้วย

นอกจากการแข่งขันตามเวทีต่าง ๆแล้ว น้องท็อป เล่าด้วยรอยยิ้มว่า การเต้นยังทำให้เขาเข้ามาเป็นดาราโดยไม่รู้ตัว จากการทาบทามของผู้กำกับชื่อดัง

“ต้องย้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปว่า เริ่มแรกได้มาเล่นละครเวทีเรื่องชายกลางก่อน แล้วหลังจากนั้นก็มีการติดต่อมาให้เล่นภาพยนตร์เรื่อง “ช็อกโกแลต” ของปรัชญา ปิ่นแก้ว เราก็เลยตัดสินใจเล่นเรื่องนี้เลย เพราะคิดว่าเป็นโอกาสอันดีอีกทั้งตัวละครมีบุคลิกใกล้เคียงกับตัวเอง และยังทำให้เราได้ใช้ความสามารถในเรื่อง การเตะ ต่อย และก็มีงานโฆษณาติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ อีกด้วย” น้องท็อป เล่า

เมื่อถามว่ารู้สึกท้อบ้างไหม น้องท็อป ตอบว่า มีท้อมีเหนื่อยบ้าง แต่เมื่อมีความรู้สึกชอบเป็นพื้นฐานก็จะสนุกกับงานตรงนี้ และจะเต้นต่อไปเรื่อยจนได้เป็นที่ยอมรับของสังคม

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ นอกจากการเต้นที่เป็นกิจกรรมยามว่างแล้วยังทำให้น้องๆ นักเต้นเหล่านี้มีรายได้จากการออกงานโชว์ต่างๆ การประกวดแข่งขัน งานโฆษณา ซึ่งรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 7,000-10,000 บาทต่องาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว
น้องไผ่-“พริ้วไผ่  เพชรคุ้ม”
ด้านน้องไผ่-“พริ้วไผ่ เพชรคุ้ม” อายุ 16 ปี ที่มีความสนใจด้านการเต้น B-Boy มากว่า 5 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า สนใจการเต้นนี้มาตั้งแต่ ป.6 โดยเริ่มแรกจากการดูทีวี อินเทอร์เน็ต แล้วเกิดความชอบ จากตอนแรกก็ลองผิดลองถูกอยู่ที่บ้านคนเดียว หลังจากนั้น ก็ได้มารู้จักกับเพื่อนๆ ที่มีใจรักเหมือนกัน จึงได้รวมทีมขึ้นมา

“B-Boy ครั้งแรกมันเป็นอะไรที่แปลกและใหม่สำหรับผม จึงอยากลองเข้ามาสัมผัส เพราะรู้มาว่าการเต้น B-Boy คือ การทำอะไรที่ไม่ต้องมีแบบแผน มีความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องเสแสร้ง โดยการเต้นที่นำเอาคาแร็กเตอร์ของเราออกมาผสมผสานกับเพื่อนคนอื่นให้เกิดความลงตัว”

ส่วนคำถามว่า มาทำแบบนี้แล้วส่งผลกระทบกับการเรียนหรือไม่ อย่างไร?

น้องไผ่ให้ความเห็นว่า...“ไม่มีผลเสียต่อการเรียน เพราะได้มีการแบ่งเวลาแล้วและเกรดของผมก็ไม่เคยต่ำกว่า 3 โดยก่อนที่จะมาซ้อมเต้นเราก็ต้องทำการบ้านให้เรียบร้อยก่อน ผมมองว่า การทำกิจกรรมควบคู่กับการเรียนทำให้เราได้อะไรหลายๆ อย่าง ได้ทั้งเพื่อน ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน”


เช่นเดียวกันกับสาวน้อย B-Girl “ณฐิติ กฤษเชิด” หรือโย ที่กล่าวถึงแรงบันดาลใจของการก้าวเข้ามาเต้น B-Boy ว่า เกิดจากความสนใจและใจรักเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าตัวเองจะเป็นผู้หญิงแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร ทุกคนมีความเสมอภาคกันหมด

“ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเต้น B-Boy จะเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับผู้หญิง บางคนอาจจะยังไม่กล้าเดินเข้ามา เพราะคิดว่าส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้ชาย ตอนแรกโยก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่เราก็อาศัยความกล้า ดีที่มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาชวน เราจึงตัดสินใจเข้ามา แรกๆ ก็กลัวๆ กล้าๆ เหมือนกัน แต่เราต้องมั่นใจและหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ ฝีมือของเราก็จะพัฒนา การเต้นนั้นจะไม่มีการแยกว่าเป็นหญิงหรือว่าชาย แต่เราจะวัดกันที่ความสามารถมากกว่า”

โย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จริงอยู่ที่ความเป็นผู้หญิงทำให้มีอุปสรรคบ้างในการเต้น เพราะบางท่าอาจจะโลดโผนหรือว่าอันตรายจนเกินไป ซึ่งคนเล่นก็ต้องเซฟตัวเองโดยไม่ฝึกในท่านั้น

...เห็นอย่างนี้แล้วเชื่อแน่ว่า ชาว B-Boy B-Girl ทั้งหลายต่างเป็นผู้ที่มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือว่าชาย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะฝึกฝนและพัฒนาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น