xs
xsm
sm
md
lg

สพท.ดันหนังไทยขึ้นชั้นอินเตอร์ ควงผู้สร้างโรดโชว์เมืองคานส์ -ปลื้มรายได้ 4 เดือนโต200%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพท.ปลื้ม ตัวเลขถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 4 เดือน โตพรวด 200% สร้างเม็ดเงินได้กว่า 1,139 ล้านบาท “ธนิฎฐา” คุย ประเทศไทยเนื้อหอม โรดโชว์แต่ละครั้งผู้สร้างต่างประเทศแห่ทำสัญญา ล่าสุดกองกิจการภาพยนตร์ควงแขนกระทรวงวัฒนธรรม ออกบูธเทศกาลหนังเมืองคานส์ ดันผู้สร้าง ผู้กำกับไทย ชื่อดัง เปิดตัวหาพันธมิตรร่วมลงทุน หวังดันหนังไทยเทียบชั้นอินเตอร์

นางธนิฎฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-เม.ย.51) เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 200% และ เป็นตัวเลขที่สูงกว่ารายได้รวมทั้งปีของปี 2550 ด้วย โดยมีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยรวม 215 เรื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 1,139.88 ล้านบาท แบ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว 9 เรื่อง ,ภาพยนตร์โทรทัศน์ 17 เรื่อง ,มิวสิควีดีโอ 16 เรื่อง ,ภาพยนตร์โฆษณา 96 เรื่อง และ ภาพยนตร์
สารคดี 77 เรื่อง ขณะที่ปีก่อน ช่วง 4 เดือนแรก มีรายได้เพียง 379 ล้านบาท และมียอดรวมทั้งปีที่ 1,072.62 ล้านบาท ดังนั้น สพท.มั่นใจว่าปีนี้ธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 2,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนกว่า 100%

สาเหตุที่เติบโตสูง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาประท้วงของผู้เขียนบท เมื่อปลายปีก่อน ทำให้ ผู้สร้าง ต้องชะลอการถ่ายทำภาพยนตร์ พอเคลียร์ปัญหาเสร็จสิ้น ทุกบริษัทผู้สร้าง ก็เร่งเดินงานถ่ายทำต่อเพื่อป้อนภาพยนตร์ออกสู่ตลาด ขณะเดียวกันยอมรับว่า ปัจจุบัน โลเกชั่นของประเทศไทย กำลังเป็นที่ฮอตฮิตของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ สังเกตุได้จาก ทุกครั้งที่ไปร่วมออกงานเทรดโชว์ในประเทศต่างๆ จะได้ภาพยนตร์เรื่องยาวที่ตกลงมาถ่ายทำในประเทศไทย หรือบางทีก็มีพันธมิตรสนใจมาร่วมลงทุนกับผู้สร้างคนไทยด้วย ล่าสุดในงาน โลเกชั่น เฟสติวัล โชว์ ที่เมืองซานต้า โมนิก้า รัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องยาว ติดต่อขอมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยถึง 3 เรื่อง ให้เหตุผลว่า ได้ยินชื่อเสียงของประเทศไทยมานานจึงต้องการเข้ามา บางรายที่เคยเข้ามาแล้ว ชื่นชอบโลเกชั่นและบริการ ก็เลยเข้ามาซ้ำ เพราะประเทศไทยมีโลเกชั่นหลากหลาย เช่น ป่า น้ำตก ภูเขา ทะเล ทุ่งหญ้า จึงสมมุติให้เป็นประเทศอะไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยสูงสุดปีนี้ คือ ญี่ปุ่น จำนวน 57 เรื่อง รองมาคือยุโรป 44 เรื่อง ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย 34 เรื่อง ,เกาหลี 14 เรื่อง ฮ่องกง 11 เรื่อง อเมริกา 11 เรื่อง ออสเตรเลีย 6 เรื่อง จีน 5 เรื่อง ไต้หวัน 1 เรื่อง และประเทศอื่นๆ อีก 32 เรื่อง

ดันผู้กำกับชื่อดังโปรโมตที่เมืองคานส์
ทางด้านนางสาว วรรณสิริ โมรากุล ผู้อำนวยการกองกิจการภาพยนตร์ สพท. กล่าวว่า ล่าสุด ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางไปออกบูธ ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ ที่เมือง คานส์ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-21 พ.ค.51 โดยปีนี้ นอกจาก จะนำโลเกชั่นของประเทศไทย ไปนำเสนอต่อผู้สร้างภาพยนตร์ที่มาร่วมงานแล้ว ยังได้นำทีมผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำของไทย และ โปรดิวเซอร์ ร่วมเดินทางไปด้วย จุดประสงค์ เพื่อนำบทภาพยนตร์ไปเสนอหาผู้ร่วมลงทุน

“เราร่วมทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นว่ามีการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งผู้สร้าง ผู้กำกับที่ร่วมเดินทางไปด้วย ได้แก่ อาทิตย์ อัสรัตน์ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง วันเดอร์ฟูลทาวน์ ,นนทรี นิมิตบุตร ,และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นต้น ซึ่งงานที่เมืองคานส์นี้ จะมีผู้ลงทุนจากหลายประเทศมาร่วมงาน หากมีผู้สนใจในภาพยนตร์ของไทย จะช่วยให้อุตสาหกรรมหนังไทย เทียบชั้นระดับสากลได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาพยนตร์เรื่องพลอย ของ เป็นเอก รัตนเรือง ก็เคยได้ทุนสร้างจากประเทศเกาหลี ในงานเทศกาลภาพยนตร์ เมืองปูซาน”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะทำงานกฎกระทรวงกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.51 นับเป็นการประชุมครั้งแรก โดยคณะกรรมการ จะประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาพยนตร์ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สมาคมผู้สนับสนุนภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น การหารือเพื่อร่วมรับทราบข้อกฎหมายกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มี.ค.51 และคณะกรรมการชุดนี้จะต้อง ร่วมร่างกฏกระทรวง เพื่อใช้เป็นกฎหมายลูก ซึ่งตามข้อบังคับต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน หลัง ประกาศใช้กฎหมาย แต่หากไม่ทันจะอนุโลมให้เป็น 1 ปี นับจากวันประกาศใช้กฎหมาย

ทั้งนี้กฎกระทรวงที่จะทำการร่างขึ้นใหม่ จะต้องใช้กฎหมายเดิมเป็นแม่แบบแต่ปรับให้ทันสมัยเข้ากับปัจจุบันและอนาคต แต่สิ่งที่จะขอให้คงไว้คืองานด้านวันสต๊อปเซอร์วิส เพราะได้จัดตั้งโดยระเบียบสำนักนายก ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายใหม่มาบังคับใช้ ก็ต้องยกเลิกระเบียบดังกล่าวออกไป แต่กรณีนี้ จะให้เหตุผลว่า การบริการวันสต๊อปเซอร์วิส มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น