ปัจจุบันประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันมานิยมการบริโภคอาหารสำเร็จรูป อาหารหวาน มัน และเค็ม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และน้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กชั้นประถมปีที่ 5-6 ในปี พ.ศ.2549 พบว่า เด็กบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการถึง 3 เท่า
“โรงเรียนแสงวิทยา” โรงเรียนเอกชน ใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบในเครือข่ายของ โครงการณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้การบูรณาการหลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการเข้ากับแผนการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างเด่นชัด เพื่อปลูกฝังนักเรียนให้ลดการบริโภคน้ำตาลที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ในวัยเด็ก
อ.พเนศ ต.แสงจันทร์ ผอ.ร.ร.แสงวิทยา ให้ข้อมูลว่า ทางโรงเรียนร่วมได้นำแผนการทำงานโครงการฯ มาประยุกต์และบูรณาการเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น จัดทำสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ เช่น นิทานไม่กินหวาน, เกมไม่กินหวาน รวมทั้งดูแลด้านโภชนาการของเด็กด้วยการจัดกิจกรรม วันปลอดขนมถุง และ ปลอดไอศกรีม งดน้ำตาลในเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว และจัดผลไม้เป็นอาหารว่างให้เด็กอนุบาล รวมถึงได้ขยายเครือข่ายด้วยการสร้างกระแสไม่กินหวานไปสู่แม่ค้าและประชาชนในชุมชนเทศบาลแก่งคอยอีกด้วย
การปลูกฝังให้เด็กๆ ไม่กินหวานด้วยการสอนผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจได้ง่ายและสามารถถ่ายทอดสู่คนรอบข้างได้ ดังเช่น ด.ช.กฤษณะ โมราขาว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้โดยเลิกกินน้ำอัดลม ขนมหวาน และลูกอม ทั้งในและนอกโรงเรียน และยังชักชวนผู้ปกครองให้เลิกกินหวานอีกด้วย
ด้าน ร.ร.บ้านราษฎร์เจริญ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เป็นโรงเรียนเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการโดยมีดีกรีรางวัลชนะเลิศโรงเรียนส่งเสริมทันตสุขภาพระดับจังหวัดปี 2549 ไม่มีน้ำอัดลม ไม่มีขนมถุง ไม่มีไอศกรีมจำหน่าย จึงไม่เป็นเรื่องยากที่ทางโรงเรียนจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนสู่การไม่กินหวาน
อ.วิรัช เวชสิทธิ์ ผอ.ร.ร.บ้านราษฎร์เจริญ กล่าวว่า ทางโรงเรียนต้องการปลูกฝังพฤติกรรมไม่กินหวานให้ติดตัวเด็กอย่างยั่งยืนตลอดไป จึงมีการให้ความรู้อย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการบูรณาการกิจกรรมไม่กินหวานควบคู่กับการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้มุ่งขยายเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานออกไปสู่โรงเรียนอื่นๆ และชุมชนใกล้เคียง ด้วยการให้ ด.ช.วีระ พิมพ์ศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่ง จัดหาทีมเพื่อนๆ แสดงละครเป็นภาษาอีสานที่แสดงให้เห็นถึงพิษภัยของการกินหวานเพื่อชักชวนให้คนในชุมชนอื่นๆ เลิกกินหวาน
นอกจากนี้ยังขยายผลไปสู่ชุมชนรอบๆ โรงเรียนให้มีส่วนร่วมกันดูแลสุขภาพของเด็กๆ ดังเช่น ป้าทวาย บุญเพ็ง แม่ค้าขายขนมที่อยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า ทางโรงเรียนได้ขอให้เลิกขายน้ำอัดลมและขนมถุงที่ไม่มีประโยชน์แก่เด็กๆ ก็รู้สึกเห็นด้วย เพราะเด็กๆ แถวนี้เป็นเหมือนลูกหลานของเรา ต้องช่วยกันดูแลตอนนี้ป้าขายแต่ลูกชิ้นปิ้ง ขนมปัง ผลไม้ และขนมที่มีประโยชน์เท่านั้น