เลขามูลนิธิขาเทียมฯ “ร.ศ.นพ. เทอดชัย ชีวะเกตุ” ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เผยภูมิใจได้ทำงานถวาย “สมเด็จย่า –พระพี่นาง” ตั้งใจขยายการทำขาเทียมคลอบคลุมคนพิการทั้วประเทศยั่งยื่น
ร.ศ.นพ. เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราราชนนี ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2551 ซึ่งถือกันว่า เป็นโนเบลแห่งเอเชีย โดยจะเดินทางเข้ารับรางวัลในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้รางวัล ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย สำหรับการทำงานที่ผ่านมา 16 ปี ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานถวายสมเด็จพระศรีนครินทราราชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีจัดหน่วยขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ออกไปให้บริการทำขาเทียมในชนบททุรกันดารอย่างทั่วถึง จากนั้นก็มีการทำโครงการตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานฯ ขึ้นในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยื่น โดยขณะนี้มีโรงงานมากกว่า 10 แห่งแล้ว
ร.ศ.นพ. เทอดชัย กล่าวต่อว่า ผู้พิการเมื่อได้รับขาเทียมแล้ว ขาเทียมก็อาจมีการชำรุดทรุดโทรมได้เหมือนกับรองเท้า จึงต้องมีทำขาเทียมเอง โดยการตั้งโรงงานให้ดูแลกันในชุมชน ในพื้นที่ เพราะหากจะกล่าวถึงผู้พิการขาขาดแล้วประเทศไทยยังมีอีกเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากอุบัติเหตุ บาดแผลเรื้องรังที่เกิดจากโรคเบาหวาน ดังนั้น ผู้พิการขาขาดจึงไม่มีวันหมด
“งานที่ผ่านมาถือว่าหนักและเหนื่อยพอสมควร แต่จะพยายามทำต่อไปให้คนพิการได้มีขาเทียมคลอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ทำให้ผู้พิการกว่า 15,000 คนได้มีขาเทียม และทำขาเทียมไปแล้วกว่า 21,500 ขา ซึ่งเมื่อได้ขาเทียมแล้วทำให้เขาสามารถประกอบอาชีพได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดทำโครงการร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)และหน่วยงานต่างๆ ในการคัดเลือกผู้พิการที่ได้รับขาเทียมและสามารถเดินได้เข้าโครงการส่งเสริมอาชีพ โดยมอบให้เป็นเฟรนไชด์ เช่น อาชีพขายลูกชิ้นปิ้ง ขายขนมแพนเค้ก ไอศกรีมฯลฯ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถเลี้ยงชีพได้”ร.ศ.นพ. เทอดชัยกล่าว
อนึ่ง มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราราชนนี เป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น เมื่อทรงทราบว่า ร.ศ.น.พ. เทอดชัย ชีวะเกตุ ประดิษฐ์ขาเทียมใต้เข่าจากขยะพลาสติกประเภท Polystyrene ในราคาต้นทุนที่ต่ำมากคือ 700 บาท โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธินี้ ทำขาเทียมให้ผู้พิการที่ยากไร้ด้อยโอกาส ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า มูลนิธิได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535