xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สังคมเสื่อมเกิดแม่ 3 สายพันธุ์ใหม่ “แม่จำเป็น-แม่ไฮเปอร์-แม่เชย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ ชี้ สังคมเสื่อมเกิดแม่ 3 สายพันธุ์ใหม่ “แม่จำเป็น-แม่ไฮเปอร์-แม่เชย” ระบุ กลุ่มแรกน่าห่วงสุด ต่ำกว่า 19 แห่คลอดเฉียด 7 หมื่นคนต่อปี เลี้ยงลูกไม่เป็น เสี่ยงติดดบุหรี่ การพนัน กลุ่ม 2 รวย สุดเวอร์ ชอบยัดเยียดโปรแกรมอัจฉริยะ จนลูกรับไม่ไหว กลายเป็นฆ่าลูกด้วยความรัก กลุ่มสุดท้ายมากสุด ต้องทำงานหนักหาเงิน แต่รู้ไม่ทันลูก ไม่เคยรู้ลูกตัวทำอะไร ชี้ใครเลี้ยงลูกรอดเป็นความสามารถเฉพาะตัว จี้รัฐแก้ปัญหาจริงจัง ให้ความสำคัญกับครอบครัว แนะใช้ทฤษฎีคนตัวเล็กแก้ปัญหาใหญ่ ขณะที่เครือข่ายพ่อแม่แสนอสร้าง “พ่อ” เป็นตัวอย่างที่ดีไปพร้อมกัน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์
วันนี้ (11 ส.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายครอบครัวจัดเสวนา เรื่อง “แม่ไทยจะเป็นแบบไหน ในอีก 10 ปี ข้างหน้า” โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ในอีก 10 ปี ข้างหน้า จะมีคุณแม่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น 3 แบบ คือ 1.คุณแม่จำเป็น มีลูกเพราะไม่ตั้งใจ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า แต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 19 มาทำคลอดปีละ 6-7 หมื่นคน โดยในปี 2550 มีมากถึง 68,385 คน เฉลี่ยวันละ 187 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอีก 10 ข้างหน้า จะมีแม่กลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน ที่ส่วนใหญ่เป็นแม่วัยรุ่นไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก ทั้งด้านจิตใจ หรือเลี้ยงไม่เป็นเนื่องจากไม่มีความรู้ บางส่วนยังต้องเรียนหนังสือ รวมถึงคุณแม่ที่ยากจน ขาดความสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งจะเป็น 10% ของคุณแม่ทั้งหมด ทำให้แม่กลุ่มนี้เสี่ยงที่จะติดสุราและบุหรี่และเป็นยุวอาชญากรมากกว่าแม่กลุ่มอื่นๆ ถึงเท่าตัว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คุณแม่ไฮเปอร์ จอมเวอร์ เจ้าไฮเทค เป็นกลุ่มหญิงชนชั้นกลางอยู่เมืองใหญ่ๆ มีการศึกษาสูง ซึ่งปัจจุบันมีคนที่เรียนต่อปริญญาโท-เอก ประมาณ 2-3 แสนคน และส่วนใหญ่คุณแม่กลุ่มนี้มีรายได้สูง มีกำลังซื้อมาก ดังนั้นจึงพยายามเป็นผู้อำนวยการสร้างออกแบบชีวิตของลูก สรรหาสิ่งที่คิดว่าที่สุดให้กับลูก จนเกินพอดี เช่น มีสถาบันพัฒนาสมองชั้นเลิศต้องพาไปเรียน ใส่โปรแกรมเรียนพิเศษจนแน่น แย่งกันพาเด็กไปเข้าคอร์สอัจฉริยะทุกด้าน ต้องเก่งดนตรีเหมือนบีโทเฟ่น วาดรูปตามรอยแวนโก๊ะ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องหามาประเคนให้ลูก เพราะมีความคิดว่าลูกต้องไม่ด้อยกว่าเด็กคนอื่น

“คุณแม่กลุ่มนี้จะมีราว 10-15% ซึ่งตัวแม่นั้นไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือเด็ก เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการถูกยัดเยียดสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้เด็กรับไม่ไหว จากการถูกเร่งมากเมื่อเด็ก พอโตถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้นเด็กเครื่องจะดับ บางคนกลายเป็นเด็กมีพฤติกรรมเกเร กลายเป็นแม่ฆ่าลูกด้วยรัก อีกทั้ง ยังทำให้เกิดช่องว่างในสังคมมากขึ้นทุกที เพราะเด็กที่เกิดจากคุณแม่กลุ่มที่ 1 และ 2 จะมีความแตกต่างกันมาก กลุ่มแรกด้อยโอกาสอย่างมหาศาล กลุ่มที่ 2 ก็เปี่ยมโอกาสจนล้น ผมอยากให้ลองนึกดูว่า สังคมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คนที่มีความต่างกันมากๆ จะยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 3 คุณแม่ที่ก้าวไม่ทันโลก รู้ไม่ทันลูก ที่เป็นแม่กลุ่มใหญ่ที่สุดราว 75-80% กลุ่มนี้ที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นแม่บ้าน แม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ทางไกล ที่เป็นหญิงทำงานในเมืองตามตึกสูง ต้องเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์ แต่ทันลูก ไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาให้ลูก จนแทบไม่รู้ว่า ลูกของตนทำอะไรอยู่ ขณะที่อีก 10 ข้างหน้า จะอยู่ในยุคของทุนนิยมสุดขั้ว เต็มไปด้วยความเจริญทางวัตถุ อบายมุข สิ่งยั่วยุ มีสิ่งล่อตา ล่อใจ ให้เด็กต้องการ และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา ถ้าแม่รู้ไม่เท่าทัน ปัญหาสังคมจะรุนแรงกว่ากรณีเล่นเกมจีทีเอ แล้วไปฆ่าคนเสียอีก

“แม่ที่ดีต้องเป็นแม่แบบไทยผสมกับความทันโลก แม่ต้องเข้าใจโลกของลูก ซึ่งต้องอาศัยความเป็นเพื่อนสูง จึงจะซี้กับลูกมากพอที่เขาจะไว้ใจ พอที่จะพูดคุยปรึกษากับเราได้ทุกเรื่อง แต่ในความเป็นจริงมีงานวิจัยพบว่า มีแม่เพียง 20% ใช้ประโยคทางบวก พูดชื่นชม ยินดีกับลูก ขณะที่ถึง 80 % พูดคุยกับลูกด้วยประโยคทางลบ เช่น คาดคั้น กล่าวโทษ ว่าร้าย ทำให้เด็กหัวใจรวน ซึ่งเด็กปัจจุบันน่าสงสารมาก ถูกยั่วยุ รุมเร้ามาก เขาจึงต้องการแม่ที่จะพุดคุยด้วย เพื่อเช็คความคิดและการตัดสินใจของเขาว่าถูกหรือไม่”ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม คุณแม่ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการความช่วยเหลือที่ต่างกัน และสามารถที่จะแก้ไขได้ในกลุ่มกลุ่ม ซึ่งแม่กลุ่มที่ 1 น่าห่วงที่สุด ภาครัฐต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะลดจำนวนแม่อายุต่ำกว่า 19 ลงให้ได้ พร้อมทั้งช่วยเหลือเด็กที่กลายเป็นแม่ ให้กลับไปเรียนหนังสือ ส่วนแม่ไฮเปอร์ มีความรู้มากอยู่แล้ว แต่ต้องมีความเข้าใจด้วย ไม่กดดันลูก และรัฐต้องกระจายการศึกษา การพัฒนาต่างๆ ต้องให้เท่าเทียมทั่วถึง ลดช่องว่างทางสังคม

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน รัฐต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาสังคมโดยรวม และให้ความสำคัญกับครอบครัว แก้ปัญหาสังคม ปราบสื่อลามก เพิ่มพื้นที่ดีให้เด็ก เพื่อให้เป็นเบ้าหลอมที่ดีแก่เด็กส่วนใหญ่ในสังคม โดยเสนอให้ใช้ทฤษฎีคนตัวเล็ก เพราะความซับซ้อนทางการเมือง อาจทำให้คนเก่งไม่สามารถทำงานได้มาก และไม่ควรตั้งความหวังกับคนตัวโต แต่ใจใหญ่หันมาสนับสนุน ใส่น้ำ เติมปุ่ยให้กับคนตัวเล็ก อย่างอบต. อบจ.เครือข่ายครอบครัว ให้คนตัวเล็กในพื้นที่เล็กๆ ก็สามารถทำงานใหญ่ๆ ได้

รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า วัยรุ่นไทยอยากเป็นแม่เพียง 20% เนื่องจากเห็นว่าความเป็นแม่ เป็นความทุกข์ยาก ลำบาก เหนื่อย แต่กลับไม่มีอะไรมาตอบแทน โดยเด็กที่มีลักษณะเสี่ยงที่จะเป็นแม่ที่ไม่มีคุณภาพ คือ เด็กที่ไม่มีความสนใจในตัวเอง ไม่คิดอะไรมาก ชอบเที่ยวชอบแต่งตัว มีแต่เพื่อนเที่ยว ซึ่งการเตรียมความพร้อมสู่สังคมยุคต่อไป เยาวชนต้องมีความเก่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะการปรับตัว ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การมีทัศนคติที่ดีในการชีวิต ขณะที่รัฐบาลต้องมีนโยบายในการแก้ปัญหาครอบครัวอย่างจริงจัง โดยจะต้องให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ทำแบบทดสอบว่านโยบายของกระทรวงนั้นๆ เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงสู่เรื่องครอบครัวและเด็กอย่างไร

ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การเลี้ยงลูกพ่อแม่ต้องเชื่อว่าลูกไม่ใช่สมบัติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเลี้ยงลูกแบบครอบงำ คาดหวังกับลูกมาก เลี้ยงลูกเหมือนตุ๊กตา จับแต่งสิ่งต่างๆ โดยตอบสนองความใฝ่ฝันของตนเองที่ขาดหายไป จึงสร้างแรงกดดันและปัญหาให้กับเด็กมาก เมื่อเกิดปัญหาเด็กจะไม่กล่าบอกเล่าหากผิดจากความคาดหวังของพ่อแม่ แต่หากเลี้ยงลูกให้เข้ามีชีวิตและพื้นที่ของเขาเอง จะทำให้การเลี้ยงลูกในครอบครัวเป็นแบบสบายๆ

นางทิชา กล่าวต่อว่า ครอบครัวไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว เด็กมีความว้าเหว่า และเหงา ปัจจุบันใครเลี้ยงลูกรอด ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัว เนื่องจากกลไกภาครัฐยังไม่มีการออกแบบให้มีการรองรับหรือตอบสนองในการแก้ปัญหาครอบครัว ตนจึงอยากให้พรรคการเมืองลุกขึ้นมาประกาศนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับครอบครัว ไม่ใช่มีแต่นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม หากทำได้จะช่วยให้พื้นที่ความสำคัญของการแก้ปัญหาครอบครัวกลับมาได้ส่วนหนึ่ง

นางกนิษฐา ปวีณะโยธิน ตัวแทนเครือข่ายพ่อแม่ กล่าวว่า หากสังคมต้องการแม่ที่มีคุณภาพ ต้องปรับทัศนคติให้เท่าเทียมกันทั้งชาย หญิง การจะมีแม่ที่ดีได้ ต้องเริ่มสร้าง “พ่อที่ดี” ไปพร้อมๆ กัน เพราะการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเด็ก นอกจากความอยากลองแล้ว ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กำลัง ข่มขืน อีกทั้งต้องไม่คาดหวังกับเด็กสูงเกินไป จะทำให้พวกเขาต้องเอาตัวรอด ชิงดีชิงเด่น และหากอยากให้เด็กกตัญญู คนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่าง มีความกตัญญูต่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ให้เด็กเห็นเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น