เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ด่วนที่สุด “คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 คัดค้านร่างกฎหมายห้ามชุมนุม” โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีใจความว่า
“ตามที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม รวมทั้ง นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะ โดยมีสาระสำคัญในการ “ห้ามชุมนุมบนท้องถนน เว้นแต่ได้รับอนุญาต, ผบช.น.-ผวจ.มีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา” นั้น
กรณี นายสมัคร สุนทรเวช ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ” ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนมีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน, มีเจตนาเพื่อยุติการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่การกล่าวหาในกรณีการละเมิดสิทธิ์ ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว, เป็นการนำรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สนองตอบความต้องการของตนเอง
ดังนั้น “การกระทำของ นายสมัคร จึงเป็นการกระทำที่หลงยุค น่าละอาย เสมือนจับรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกันและใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นเครื่องมือตอบสนองความเป็นเผด็จการของตนเอง”
กรณีร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนมีท่าทีและจุดยืน ดังนี้
1.กฎหมายฉบับนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการแสดงถึงความคิดประชาธิปไตยที่ล้าหลัง ไม่เหมาะสมกับประเทศทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
2.กฎหมายฉบับนี้เป็นการทำลายระบบนิติรัฐของประชาชน มีแนวโน้มจะเกิดการเลือกปฏิบัติ จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล และฝ่ายปกครองในการคุกคามและทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมทั้งการชุมนุมขององค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร ที่เรียกร้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมก็มีแนวโน้มว่า จะไม่ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอน
3.กฎหมายฉบับนี้เป็นการทำลายระบบรัฐสภาของประชาชน หากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะชี้ให้เห็นถึงความเป็น “เผด็จการทางรัฐสภา” โดยการใช้เสียงข้างมากลากไป
4.กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คัดลอกมาจากกฎหมายของ สนช.ที่เคยเสนอไว้เกือบทั้งฉบับ เป็นการกลืนน้ำลายตัวเองที่พรรคพลังประชาชน มักจะกล่าวว่า กฎหมายจาก สนช.รวมทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นมรดกของเผด็จการ คมช.
5.กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ตามที่ระบุข้างต้นแล้ว รวมทั้งยังมีรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะ อีกหลายประเด็น กล่าวคือ
ประการแรก) การให้อำนาจต่อกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายรัฐทั้งหมด มีทั้งทหาร, ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เป็นการให้อำนาจฝ่ายรัฐและราชการ และมีแนวโน้มจะเกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาลในการอนุมัติการชุมนุม (ดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบชุมนุม มาตรา 5-14)
ประการที่สอง) ผบช.น.-ผวจ.ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ มีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา (ดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบชุมนุม มาตรา 5-14)
ประการที่สาม) หากฝ่าฝืนการจัดชุมนุม จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 6 เดือน ถึงไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบชุมนุม มาตรา 17-19)
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนขอเรียกร้องให้องค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรนิสิตนักศึกษา องค์กรวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มพลังทางสังคม รวมทั้งปัจเจกชนผู้รักความเป็นธรรม ร่วมกันแสดงออกในทุกวิถีทางที่แสดงถึงการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ วานนี้ (5 ส.ค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4/2551 เรื่อง คัดค้านร่าง “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ” เช่นกัน โดยมีแถลงการณ์ว่า
ตามที่ นายจุมพฎ บุญใหญ่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร พรรคพลังประชาชน พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมพรรคอีก 25 คน ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ... โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีทั้งสิ้น 20 มาตรา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการกฎหมาย เป็นร่างกฎหมายที่เสนอใหม่ มีสาระสำคัญคือ ให้พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นิยามคำว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายถึง ผู้ยื่นคำขออนุญาตชุมนุม รวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน นอกจากนี้ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการชุมนุมในมาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะ ได้แก่ มีการใช้ช่องทางการเดินรถ หรือพื้นผิวการจราจร มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใด ๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม มีการใช้ยานพาหนะ มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น
จากเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ปรากฏ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย อันประกอบด้วย องค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม กลุ่มสหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กว่า 30 องค์กร มีความเห็นว่าการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไว้ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรอการพิจารณาเป็นการแสดงท่าทีที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวของประชาชนเพื่อแสดงออก และนำเสนอความคิดเห็น ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550มาตรา 63 จริงอยู่ว่าในมาตรา 63 วรรคสองได้บัญญัติไว้ว่าสามารถจำกัดสิทธิได้ตามกฎหมายกำหนด แต่ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ... ออกมาเป็นกฎหมาย เนื่องจากการเอาผิดต่อผู้กระผิดในกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกีดขวางจราจร การตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน การใช้เครื่องขยายเสียง สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้โดยใช้กฎหมายอาญา กฎหมายจราจร และกฎหมายอื่นๆ มีอยู่พร้อมมูล ผู้เดือดร้อนสามารถใช้สิทธิ์ทางศาลได้อยู่แล้ว
ถ้าหากร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ... ผ่านการพิจารณาออกมาเป็นกฎหมาย อาจถือเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งจะขัดกับ มาตรา 27 ถึงมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันเห็นได้ว่าเรื่องสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่และต้องให้ความสำคัญ จะมาทำกันลวกๆ ไม่ได้ และการใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธถือเป็นรูปแบบการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมและเป็นธรรมรูปแบบหนึ่งของขบวนการภาคประชาชนที่นานาอารยประเทศยอมรับ โดยเฉพาะในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ารูปแบบการชุมนุมเรียกร้องและแสดงออกเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากว่าประชาชนคนชั้นล่าง พี่น้องผู้ใช้แรงงาน คนยากจนต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงกลไกของรัฐในการเรียกร้องความเป็นธรรม หรือตีแผ่สภาพปัญหาของกลุ่มคนเหล่านั้นให้สังคมได้รับรู้ได้ ดังนั้นรูปแบบการชุมนุมเหล่านี้จึงถือเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวในการเจรจาต่อรองเพื่อสิทธิประโยชน์ของเขาเหล่านั้น ดังนั้นหากมีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้ออกมาก็เสมือนการตัดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
และที่สำคัญ ไม่ควรใช้สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังมีความแตกแยกเป็นตัวแปรหรือปัจจัยในการออกกฎหมายเพราะจะทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม ทำให้สังคมตั้งคำถามกลับไปได้ว่าออกกฎหมายนี้เพื่อสลายการชุมนุมเฉพาะหน้าเพื่อเสถียรภาพที่มั่นคงมากขึ้นของรัฐบาลหรือไม่
ท้ายที่สุดนี้หากพิจารณาย้อนกลับไปจะพบว่าเสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) ของประเทศไทย ได้ถูกยอมรับและรับรองตามรัฐธรรมนูญไทย มาช้านาน ซึ่งในต่างประเทศเองก็ได้มีการยอมรับ ในเสรีภาพดังกล่าว ที่ประชาชนสามารถที่จะเข้าร่วมชุมนุมได้ การที่รัฐจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาใช้บังคับกับผู้ชุมนุม ก็ย่อมต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมของประเทศตนเอง ว่ามีความเหมาะสมแค่ไหนเพียงไร โดยพิจารณาจากผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายกับผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนโดยภาพรวม เพื่อให้การคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนในประเทศเป็นไปอย่างเสมอกัน เพราะมิฉะนั้น การดำเนินการใดๆของเจ้าหน้าที่รัฐที่มากเกินไป อาจจะกลายเป็นผู้ละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเอง