สพฐ.รับลูก 10 เกมอันตราย ให้ครูถ่ายทอดความรู้เกมอันตรายแก่ผู้ปกครอง 4-8 สิงหา เตรียมจัดประชุมทางไกลกรรมการนักเรียน คัดกรองปัญหาต่างๆ หาต้นเหตุของปัญหา เชื่อปัญหาบางเรื่องเด็กขจัดเองได้ หากเกินความสามารถผู้ใหญ่ต้องยื่นมือไปช่วย พร้อมดันวิชาไอที ให้ครูสอนแบบสร้างสรรค์ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเกมอันตราย ด้าน สวช.เตรียมถกแก้ปัญหาเยาวชนเลียนพฤติกรรมรุนแรงจากเกม
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง 10 เกมอันตรายว่า ทาง สพฐ.คงเผยแพร่ไปยังโรงเรียน เพื่อให้ทราบว่าเกมอันตรายที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างไร พร้อมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค.นี้ เป็นการประชุมชั้นเรียนโดยให้ผู้ปกครองมาพบครู สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่สะดวกในช่วงนี้ ก็อาจจัดช่วงอื่นได้ แต่ให้อยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองจะได้มีเวลามาพบปะกับครู เนื้อหาสาระที่ครูต้องแนะนำผู้ปกครองจำนวนมาก เพราะมีผู้ปกครองจำนวนมากยังไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ แต่โรงเรียนมีประสบการมากกว่า
“นักเรียนไม่ได้เล่นที่โรงเรียนเพราะโรงเรียนคุมเข้ม แต่เด็กอาจออกไปเล่นที่บ้านหรือร้านเกม ถ้าหากผู้ปกครองมีความเข้าใจจะได้ช่วยกันหลายหูหลายตาติดตามดูแลเรื่องนี้”
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า สพฐ.จะจัดการประชุมทางไกลกับกรรมการนักเรียนทั่วประเทศ โดยจะให้กรรมการนักเรียนลองคุยกันเองในโรงเรียน ว่า ปัญหานี้จะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไร แล้วจะมีการสื่อสารทางไกลมายัง กรรมการนักเรียน จากนั้นคัดสรรมาเป็นข้อเสนอ เชื่อว่าหลายข้อเสนอนักเรียนสามารถจัดการได้เอง หลายข้อเสนออาจต้องอาศัยผู้บริหาร หลายข้อเสนอต้องเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่จะต้องรับรู้แล้วเข้ามาช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง เราจะได้หาวิธีแก้ไขตรงประเด็น
ถามว่าได้คุยกับครูของนายพลวัฒน์ ฉินโน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริยาราม หรือยัง คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ตนคิดว่าครูเขามีระบบดูแลที่ดี และทราบเรื่องครอบครัวมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่คิดว่าเรื่องจะออกมาลักษณะนี้ เมื่อพูดคุยกับเพื่อนได้เห็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้พยายามดึงเพื่อนเข้ามาช่วย เรียกว่า “ยุวชนแนะแนว” เพื่อให้เพื่อนช่วยเป็นจับตาดูแลเพื่อนกันเอง เพราะมีความใกล้ชิดกันมากกว่า คงคงอาศัยกลไกนี้
“ครูแนะแนวคนเดียวไม่พอ วันนี้เราให้ครูทุกคนเป็นที่ปรึกษา และเราค้นพบว่าอาศัยครูเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ เลยอาศัยเครื่อข่ายผู้ปกครอง ซึ่งจัดประชุมผู้ปกครองระหว่าง 4-8 ส.ค.นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยเครือข่ายเพื่อน มาเป็นกลไกในการติดตามนักเรียน อีกอย่างหนึ่งแต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกัน คงต้องประสานกันทุกฝ่าย แล้วทุกฝ่ายตระหนักเรื่องความรับผิดชอบ ช่วยกันดูแลปัญหาก็คงจะลดลงไปบ้าง”
จากนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวถึงวิชาไอที คงต้องปลูกฝังเรื่องการใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพื่อเด็กจะได้ไม่มกมุ่นเรื่องของเกม แต่มีโรงเรียนบางแห่งสอนให้เด็กสร้างเกม เพื่อให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของเกมและรู้เท่าทันว่าเกิดอะไรขึ้น คงไม่ได้ยกเลิกเรื่องนี้ แต่นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการใช้ในมิติอื่นๆ
ขณะที่ ในบ่ายวันนี้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ สวช.จะจัดประชุมเพื่อร่วมหาทางออกแก้ปัญหาเยาวชนลอกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากเกม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งนักจิตวิทยา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านเกม รวมทั้งผู้จำหน่ายและนำเข้าเกม เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาเกม เพื่อออกใบอนุญาตเผยแพร่นั้นจะพิจารณาจากตัวอย่างเกมเท่านั้น แต่การประชุมวันนี้จะให้บริษัทนำเข้าเกม ต้องส่งคู่มือและเนื้อหาของเกมทั้งหมดให้ สวช.ก่อนจะพิจารณาออกใบอนุญาตเผยแพร่ภาพ
นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ บอกว่า จะมีการหารือถึงมาตรการในการควบคุมเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ทั้งด้านกฎหมาย หรือระบบการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งขอความร่วมมือกับผู้นำเข้า และผู้ประกอบการร้านเกม ให้ยุติการจำหน่ายเกมจีทีเอ หลังจากบริษัทเกมนิวอีล่า ได้รับใบอนุญาตเผยแพร่ภาพอย่างถูกต้องจาก สวช.
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ตำรวจทั่วประเทศเข้มงวดกวดขันและจับกุมร้านเกม ร้านจำหน่ายแผ่นเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรง ลามก อนาจาร และให้รายงานผลภายใน 7 วัน หากพบว่าร้านใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในเขตกรุงเทพฯ มีร้านเกมกว่า 20,000 ร้าน แต่ขออนุญาตเพียง 10,000 ร้าน ยังไม่รวมร้านเกมนอกระบบที่ไม่ได้ตรวจสอบอีกจำนวนมาก ส่วนผู้ปกครองหากพบร้านที่ไม่มีใบอนุญาต และพบเด็กต่ำกว่า 18 ปี หรือเยาวชนเข้าไปมั่วสุม ให้แจ้งตำรวจท้องที่ได้ ส่วนมาตรการระยะยาว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงไอซีที อีกครั้ง