“นายกแพทยสภา” โพล่ง รพ.เอกชน อยากผลิตหมอเองมานานแล้ว ไม่อยากให้รัฐโจมตีเป็นต้นเหตุทำให้หมอขาดแคลน คุย ศักยภาพสูงกว่ารพ.รัฐ ทั้งอาจารย์ ตึก เคสผู้ป่วย หากทำมีหลักสูตรอินเตอร์ด้วย เปิดสอน นร.ต่างชาติ ด้านเลขาธิการแพทยสภา ค้านขึ้นค่าปรับเต็มที่ ยิ่งปรับแพง ยิ่งเพิ่มภาระให้ผู้ป่วยที่ใช้บริการ รพ.เอกชนต้องจ่ายค่ารักษาแพงขึ้น เพราะต้องซื้อตัวหมอแพงขึ้นเพื่อให้หมอเอาไปไถ่ตัวออกจากระบบ
จากกรณี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากแพทย์ในระบบราชการถูกซื้อตัวไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน โดยเรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกันในการผลิตแพทย์เอง โดยอาจจะก่อตั้งเป็นโรงเรียนแพทย์เอกชนก็ได้ ซึ่งก่อหน้านี้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอจะขอเพิ่มค่าปรับแพทย์ไม่ทำงานใช้ทุนครบ 3 ปี จากเดิมที่เรียกเก็บ 4 แสนบาท เพิ่มเป็น 4-10 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น
วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนมีแนวคิดที่จะลงทุนผลิตแพทย์เองมานานแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนมีศักยภาพสูงเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ของภาครัฐ สามารถผลิตแพทย์ได้เองเช่นกัน และมีการหารือถึงระดับจะทำหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อเปิดให้นักเรียนแพทย์ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเรียนด้วย โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะมีทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีอาคารเรียนที่เป็นโรงพยาบาลของตนเอง และมีความหลากหลายของผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งอาจจะมากกว่าของโรงพยาบาลรัฐด้วย
“มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้พยายามหารือเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว โดยมีการชวนกันลงขัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป สาเหตุที่คิดอยากจะผลิตแพทย์เอง เนื่องจากไม่ต้องการให้ภาครัฐออกมาโจมตีว่าปัญหาแพทย์ขาดแคลนมาจากถูกโรงพยาบาลเอกชนซื้อตัวออกจากระบบ ซึ่งข้อเสนอของ นพ.ประเวศ ถือเป็นโอกาสดี เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำนานแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครมาท้า แต่ที่ผ่านมาที่ไม่ได้ริเริ่มจะทำเป็นเพราะเกรงใจหมาวิทยาลัยรัฐ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องสถานที่เรียกก็ควรจะมีการแข่งขันกันบ้าง อย่างในต่างประเทศโรงพยาบาล หรือแพทย์ที่มีชื่อเสียงก็มาจากภาคเอกชนทั้งนั้น เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น” นายกแพทยสภา กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากโรงพยาบาลเอกชนสามารถผลิตแพทย์ได้เอง จะมีคุณภาพเทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าแพทย์ที่ภาครัฐผลิตก็ได้ เพราะมีปัจจัยพร้อมกว่า ส่วนค่าเล่าเรียนคงไม่มีราคาแพงมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐสักเท่าไร อยู่ในกำลังที่พอจ่ายได้ แต่ที่สำคัญ จะไม่มีระเบียบให้แพทย์จบใหม่ไปทำงานในชนบท และไม่มีค่าปรับด้วย เพราะจะไม่มีการทำงานใช้ทุนอย่างแน่นอน
“ในต่างประเทศแม้แต่อเมริกาใต้ ก็ได้เลิกใช้วิธีบังคับให้แพทย์จบใหม่ทำงานใช้ทุนในชนบทแล้ว เพราะใช้มานานแต่ไม่ได้ผลแพทย์ยังแห่ลาออกจากระบบอยู่ แต่ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีจูงใช้อื่นๆ แทน เช่น สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาได้ และแพทย์อยากอยู่ในชนบทมากกว่าในเมืองทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยไม่คิดใหม่เสียทีทั้งๆ ที่ใช้วิธีนี้มานานกว่า 30 ปี ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย แต่กลับจะเดินหน้าทำอยู่อีก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนายอัมมาร สยามวารา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวหาว่า แพทยสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีตัวแทนเป็นโรงพยาบาลเอกชน ถือว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะกรรมการแพทยสภาทั้งหมด 46 คน แต่มีกรรมการที่มาจากโรงพยาบาลเอกชนเพียง 4 คนเท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนทั้งหมด
ด้านนพ.อำนาจ กุลสลานนท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า คัดค้านการเพิ่มค่าปรับแพทย์ทุกกรณี เพราะไม่ใช้แก้ปัญหา มีแต่จะเพิ่มปัญหามากขึ้น และสุดท้ายอาจทำให้ไม่มีเด็กเก่งๆ สมัครเรียนแพทย์ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นจุดวิกฤตทางการแพทย์ได้ ขณะเดียวกัน หากเพิ่มค่าปรับสูงขึ้นเป็นหลักล้านบาท จะยิ่งส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุข เพราะทำให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาแพงมากขึ้นไปอีก เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนอีก เพราะค่าปรับที่แพงขึ้นทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่จะซื้อตัวแพทย์ ต้องจ่ายค่าตอบแทนแพทย์แพงขึ้นไปอีกเพื่อให้แพทย์สามารถไถ่ตัวออกจากระบบได้