xs
xsm
sm
md
lg

แฉโรงเรียนให้เกรดไร้มาตรฐาน 1,224 แห่งปล่อยเกรด 1,238 แห่งกดเกรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ ระบุ คุณภาพการศึกษาต่ำ เพราะการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาทำหลักสูตร วัดผล และฝ่ายการเมืองเข้ามากำหนดสัดส่วนจีแพค โดยไร้ความรู้ ขณะนี้เหลือแค่โอเน็ตที่ได้มาตรฐาน นำผลโอเน็ตมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชี้มีโรงเรียนปล่อยเกรด

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสัมมนาเรื่อง “การนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ไปใช้” โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครูและนักวิชาการเข้าร่วมประมาณ 140 คน โดยนายศิริชัย กาญจนวาสี ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบและประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและวิชาชีพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายตอนหนึ่งในเรื่อง “การนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการปรับเทียบผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (จีแพค) ของนักเรียนในสถานศึกษา” ว่า ผลประเมินการศึกษาขององค์กรต่างประเทศอย่างโครงการ Programme for International Student Assessment หรือ PISA สอดคล้องกับผลการประเมินขององค์กรภายในประเทศ ทั้ง สทศ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งพบว่าคุณภาพการศึกษาและศักยภาพการแข่งขันของเด็กไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระจายอำนาจไปให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตร และวัดผลประมวลผลเอง แม้จะเป็นทิศทางที่ถูก แต่หากขาดมาตรฐานและทิศทางที่เหมาะสม ตลอดจนผู้บริหารยังมีความสามารถในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ก็ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างกันในเชิงคุณภาพการศึกษา

“เราปล่อยให้การกำหนดสัดส่วนจีแพค ซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษานั้น เป็นอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะฝ่ายการเมืองไม่มีความเข้าใจเทคนิคการศึกษาทำให้ผลการตัดสินใจไม่ได้อยู่บนหลักวิชาการ ซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กและเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะแก้ไขได้ยากมาก ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องจีแพคจึงควรตัดสินใจบนพื้นฐานของงานวิจัย”

นายศิริชัย กล่าวว่า ในส่วนของโอเน็ตถือเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นมาตรฐาน และเชื่อถือได้เพียงแหล่งเดียวในขณะนี้ จึงนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กไทย เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ระหว่างประเทศ ปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน ส่งเสริมพัฒนาผู้เรียน ตลอดจนสามารถนำมาปรับเทียบจีแพคเพื่อให้มีมาตรฐานขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้จุฬาฯ นำคะแนนโอเน็ตของปีการศึกษา 2549 มาปรับเทียบกับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมระดับโรงเรียน และนักเรียนใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้วยวิธีการทางวิจัย ซึ่งเบื้องต้นได้ปรับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมของแต่ละโรงเรียนให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีทั้งหมด 2,583 โรงเรียน จากนั้นจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้คะแนนโอเน็ตเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มคุณภาพโรงเรียน ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง กลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพปานกลาง และกลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ

“ผลจากการนำคะแนนโอเน็ตมาถ่วงกับจีแพค พบว่า แนวโน้มการให้เกรดของโรงเรียนไม่ได้สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แท้จริง เพราะโรงเรียนทั้ง 3 กลุ่มมีค่าเฉลี่ยคะแนนโอเน็ตที่ต่างกันชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยคะแนนจีแพคกลับพบว่ามีความใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับกลาง และระดับต่ำ และเมื่อวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคุณภาพโรงเรียนกับลักษณะการให้เกรดพบว่า กลุ่มคุณภาพของโรงเรียนมีความสัมพันธ์กับการให้เกรดคือ กลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงจะกดเกรด ส่วนกลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ จะปล่อยเกรด ขณะที่กลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพปานกลาง จะมีทั้งการกดเกรด และปล่อยเกรดในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน”

ทั้งนี้ การนำคะแนนโอเน็ตไปปรับเทียบกับจีแพคครั้งนี้ เป็นเพียงการนำร่อง แต่การนำไปใช้จริงขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ.เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะกับโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มปล่อยเกรด เพราะผลจากการวิจัยพบว่าจากโรงเรียน 2,583 โรงเรียน มีการปล่อยเกรดสูงถึง 1,224 โรงเรียน ซึ่งหากมีการปรับจีแพคให้มีคุณภาพแท้จริงก็จะต้องมีการลดเกรดที่โรงเรียนให้กับเด็กลงมา ซึ่งบางโรงเรียนพบว่าจะต้องลดเกรดลงถึง 0.95 ดังนั้น หากต้องลดเกรดลง ผู้ปกครอง ตลอดจนโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มปล่อยเกรดก็คงไม่ยอม ทั้งนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ปล่อยเกรด มักเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับปานกลางและระดับต่ำ อย่างไรก็ตามจากผลการวิจัยพบว่าไม่ได้มีเพียงโรงเรียนที่ปล่อยเกรด แต่ยังพบโรงเรียนที่กดเกรดซึ่งมีกว่า 1,238 โรงเรียน ก็จะต้องเพิ่มเกรดให้ ซึ่งบางแห่งต้องเพิ่มเกรดให้สูงถึง 0.69 ส่วนโรงเรียนที่ให้เกรดเป็นปกติมี 121 โรงเรียน

นายศิริชัย กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ จะนำผลสรุปของงานวิจัยเสนอ สพฐ.เพื่อตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะมีการนำไปใช้หรือไม่อย่างไร แต่ย้ำว่าเป็นงานวิจัยที่ใช้ฐานข้อมูลในปีการศึกษา 2549 ซึ่งในปีการศึกษา 2550 การปล่อยเกรด หรือกดเกรดของแต่ละโรงเรียนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ เรื่องนี้จึงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยากจะให้มีการศึกษาต่อเนื่องไป และอยากจะให้ลงลึกถึงกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น โรงเรียนมีการปล่อยเกรด หรือกดเกรดแค่ไหน ซึ่งหากมีการวิจัยเรื่องนี้และสะท้อนกลับไปให้โรงเรียนได้รับรู้แล้วก็จะมีการให้เกรดที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งนี้การจะมีการวิจัยต่อไปหรือไม่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ สทศ.และ สพฐ.ว่าจะให้ดำเนินการต่อหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น