xs
xsm
sm
md
lg

รำกระบอง = Exercise แก้ไขโรค แต่ไม่ป่วยก็ทำได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สาทิส อินทรกำแหง
“ต่อให้เอาตำราด้านสุขภาพที่ดีเลิศมากางตรงหน้า ถ้าไม่ป่วยคนเราก็ไม่เริ่มดูแลตัวเอง”

ดร.สาทิส อินทรกำแหง ผู้บุกเบิกแนวคิดชีวจิต และผู้คิดค้นการออกกำลังกายเพิ่มภูมิชีวิตอย่าง “รำกระบอง” กล่าวไว้ในงาน “มหกรรมรำกระบอง” ที่รวมพลคนรักสุขภาพไว้กว่าพันคน ซึ่งมีทั้งคนที่เชี่ยวกรำกับการรำกระบองมานาน และมือใหม่หัดรำปะปนกันไป

แน่นอนว่า คงไม่มีใครปฏิเสธคำกล่าวของ ดร.สาทิส เพราะหลายคนก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ และจำนวนไม่น้อยอาการเจ็บป่วยทางร่างกายถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับคนที่ตัดสินใจมารำกระบองก็เพราะเริ่มป่วย คิดว่าร่างกายต้องได้รับการแก้ไขแล้วนั่นเอง

  • แก้จุดบกพร่อง เพิ่มภูมิชีวิต

    การออกกำลังกายในรูปแบบรำกระบองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเป็นการออกกำลังที่จำกัดกลุ่มในคนสูงอายุเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการออกกำลังกายที่ไม่ยากแต่ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระดูกสันหลัง และการเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นอย่างดี

    ดร.สาทิส อธิบายว่า การรำกระบองเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายตามหลักไคโรแพคติก กายภาพบำบัด และโยคะเข้าด้วยกัน จุดประสงค์เพื่อเพิ่มภูมิชีวิต หรือ อิมมูนซิสเต็ม (Immune System) เพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง และอาการอันเกิดจากการเจ็บป่วย และเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ได้ดีขึ้น

    คำถามก็คือแล้วรำกระบองแตกต่างจากการออกกำลังกายแบบอื่นอย่างไร?

    จากการศึกษาของ ดร.สาทิส ผู้คิดค้นพบว่า ส่วนสำคัญสุดที่เป็นแกนของร่างกายคนเรา ก็คือกระดูกสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสมองส่วนที่สอง กล่าวคือ ปกติการที่ร่างกายจะมีอากัปกิริยาอะไรก็ตามจะอยู่ใต้คำสั่งของสมอง หรือสรุปง่ายก็คือสมองจะเป็นอวัยวะสำคัญในการควบคุมระบบ เมื่อสมองมีคำสั่งลงมา กระดูกสันหลังที่เปรียบเสมือนสมองส่วนที่สองก็จะมีคำสั่งต่อลงไปอีกทอด เช่น เมื่อสมองสั่งให้ยกแขนซ้าย กระดูกสันหลังก็จะออกสั่งไปที่แขนซ้ายเพื่อให้ยกมือขึ้นมา

    แต่ในปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากมีปัญหากระดูกสันหลังทำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ จนทำให้กระดูกคดผิดรูป โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำในสำนักงาน ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย ทั้งบริเวณหลัง เอวและคอ รวมทั้งกินอาหารไม่ได้ ดังนั้น แนวคิดการแก้ที่กระดูกสันหลังจึงเกิดขึ้นโดยการรำกระบองเป็นเครื่องมือแก้ไข

    “การที่เราป่วยเพราะอิมมูนซิสเต็มไม่สมบูรณ์ ดังนั้น มันบกพร่องตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง คลื่นไส้ เราก็ใช้วิธีแก้โดยวิธี กินอาหาร กินยา พักผ่อน นอนหลับ ขณะที่การรำกระบองจะเข้ามาช่วยเพิ่มอิมมูนซิสเต็มหรือภูมิชีวิต พออิมมูนซิสเต็มสมบูรณ์ระบบต่างๆ ดีขึ้น ระบบย่อยดีขึ้น ระบบหายใจดีขึ้น” ดร.สาทิส ชี้ให้เห็นภาพ
    ท่าสีลม คล้ายแตะสลับแต่เพิ่มอุปกรณ์ ลดอาการปวดเมื่อยกระดูกสันหลัง
    ดร.สาทิส บอกอีกว่า มีคนที่เคยป่วยเป็นโรคเรื้อรัง แต่การรำกระบองทำให้คนเหล่านั้นหายจากอาการป่วยได้ เช่น รูมาตอยน์ เบาหวาน แม้กระทั่งอัมพาตก็หาย บางคนเป็นมะเร็งลำไส้ก็หายมาแล้ว แต่การรำกระบองอย่างเดียวย่อมไม่พอ เพราะจะต้องมีความตั้งใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายอย่างจึงจะได้ผล ทำควบคู่กันไป

    “เป็นอัมพาตก็หาย ทำไมแขนตายขาตาย เพราะระบบประสาทตาย สมองซีกขวาตาย แขนซ้ายขยับไม่ได้ การรำกระบองก็คือการกระตุ้นให้กระดูกสันหลังเพื่อให้เชื่อมต่อไปถึงสมอง อาการก็จะค่อยยังชั่วขึ้น แต่ถ้าเป็นมากรำกระบองอย่างเดียวก็ไม่พอ ก็ต้องเพิ่มยา วิตามิน อาหาร และกายภาพบำบัดก็ต้องช่วยเสริม”

    อย่างไรก็ตาม การรำกระบองจะได้ผลเต็มที่ ดร.สาทิสบอกว่าจะต้องทำให้ถึงจุดพีคคือ ให้เหงื่อออกและชีพจรเต้น 120 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เพราะการพีคจะเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตและการหลั่งสารเอ็นโดฟินให้ร่างกายสร้างได้อย่างสม่ำเสมอ

  • พลังแห่งมิตร+(สุข)ภาพ

    อาการปวดเมื่อยที่เข้ารุกคนรุ่นใหม่มากขึ้น การออกกำลังแบบบิด ดัดตัว รวมทั้งศาสตร์ไคโรแพคติกจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ อ.ธนิต  นามเสถียร ผู้ฝึกสอนของชมรมรำกระบองบอกว่า การรำกระบองนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมายแล้ว คุณยังจะได้มิตรภาพและเพื่อนต่างวัยกลับมาด้วย

    อย่างไรก็ตาม การกำลังกายมิใช่แฟชั่นที่จะทำตามๆ กันไปได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรู้จุดประสงค์ของการออกกำลังกายแต่ละประเภทเสียก่อน เพราะการออกกำลังกายมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วิ่ง ว่ายน้ำ ฯลฯ การรำกระบองก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้ว่ารำกระบองไปเพื่ออะไร

    “เมื่อได้เหตุผลว่ารำกระบองดีอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วเขาก็สามารถไปร่วมรำกระบองกับจุดที่เขามีรำกระบองอยู่แล้ว เพราะการรำมันยาก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรำคนเดียวที่บ้านได้ ต้องไปเป็นกลุ่มจะได้มีกำลังใจ ถึงจะรำต่อไปได้ นอกจากมีเพื่อน มีมิตรภาพ ห่วงใยซึ่งกันและกัน สายสัมพันธ์ฉันมิตรจะทำให้การออกกำลังกายสนุก การรำมีความต่อเนื่อง อยู่ที่บ้านถึงจะมีหนังสือ วีดีโอ หรืออุปกรณ์ก็ไม่สนุกเท่ากับการไปรำกับเพื่อน” อ.ธนิต แนะนำ
    การรำกระบองจะสนุกก็ต่อเมื่อทำด้วยกันเป็นกลุ่ม
    สำหรับท่ารำกระบองวันนี้ถูกพัฒนาไปหลายท่า แต่ท่าหลักที่เป็นพื้นฐานเดิมมี 11 ท่า ยกตัวอย่างเช่น ท่าสีลม ทำโดยยืนกางขาออกกว้างกว่าไหล่เล็กน้อย พาดตะบองไว้บนบ่าทั้งสองข้าง แขนกางเหยียดตรงแนบกับกระบอง โน้มตัวไปทางด้านหน้าให้มากที่สุด กดปลายกระบองด้านขวาให้ชี้ที่นิ้วโป้งเท้าซ้าย ขณะที่แขนซ้ายยังแนบตึงอยู่กับตะบองอีกด้านหนึ่ง ค้างไว้สักครู่ ทำสลับอีกข้าง เปลี่ยนมากดปลายกระบองด้านซ้ายให้ชี้ที่นิ้วโป้งเท้าขวา ค้างไว้สักครู่ ท่านี้ทำคล้ายๆท่าแตะสลับ แต่ต้องระวังให้แขนตึงและเข่าตึงอยู่เสมอ โดยที่พยายามให้ศีรษะอยู่กับที่ไม่กระดุกกระดิก (ทำสลับกัน 20-50 ครั้ง) เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณแขนตึงเต็มที่แล้วผ่อนคลายลงมาอยู่ในท่าปรกติ จะสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกระดูกสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวจากการปวดเกร็ง

    อีกท่าหนึ่งที่จะช่วยได้สำหรับผู้นั่งทำงานท่าเดียวเวลานานๆ คือ ท่าแหงนดูดาว ยืนกางขาออกเล็กน้อย พาดกระบองไว้บนบ่าทั้งสองข้าง แขนกางยืดตรงแนบกับตะบอง กดปลายกระบองขวาลงมาด้านข้าง จนปลายกระบองจรดกับเข่าขวา แหงนหน้าขึ้นฟ้าตามองปลายกระบองซ้าย แขนซ้ายเหยียดตรง(ห้ามงอ) และพยายามให้ลำตัวตั้งตรงมากที่สุด ค้างไว้สักครู่ กลับสู่ท่ายืนที่จุดเริ่ม จากนั้นสลับมากดตะบองลงทางด้านซ้าย ทำเหมือนด้านขวาทุกประการ (ทำสลับกัน 20-50 ครั้ง) ตะบองจะเป็นตัวยืดกระดูกสันหลังและลำตัวด้านข้างให้ยืดหยุ่น และทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ คลายตัวคลายปวดเมื่อยได้ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งในท่าเดียวเป็นเวลานานๆ ลองหันมาออกกำลัง กายด้วยท่านี้ติดต่อกันดู แล้วจะรู้สึกว่าผ่อนคลายขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยาขนานเอกใดๆ
  • ลองแล้วใช่เลย

    สมบุญ บำรุงผล อายุ 55 ปี สมาชิกชมรมผู้สูงอายุพระนครศรีอยุธยา มือใหม่หัดรำ บอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้ทดลองรำกระบองว่า แม้จะเป็นเพียงครั้งแรกที่ได้รำกระบอง แต่ผลที่รู้สึกได้ก็คือร่างกายที่เคยตึงผ่อนคลายมากขึ้น อาการปวดหลัง และขาที่เดินไม่คล่องจากการหกล้มก็ดีขึ้น และเดินเหินได้คล่อง

    “มันไม่ยากและก็ไม่ง่ายแต่ถ้าเรามีสมาธิ และทำต่อไปได้เรื่อยๆ ก็ดี แล้วก็ต้องรู้วิธีการ วิธีที่ถูกต้อง เราอาจจะทำด้วยตัวเองไม่ได้ในช่วงแรก ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ถ้าเราไม่ศึกษาทำท่าผิดๆ ไปด้วยตัวเองก็อาจจะอันตรายได้ ถ้าเราทำเต็มที่เหงื่อก็ออก แต่ถ้าเราอายุมากแล้วเราก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป” สมบุญ ให้คำแนะนำ

    ด้าน ผกากรอง เขียวทอง อายุ 46 ปี พนักงานบริษัทเอกชน เล่าว่า ไม่เคยออกกำลังกายใดๆ มาก่อน ระยะหลังรู้สึกไม่สบายเนื่องจากนอนดึกและหลับไม่สนิท ตื่นเช้ารู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง คิดว่าจะต้องปรับปรุงตัวเอง จึงทดลองรำกระบองแม้ครั้งแรกร่างกายจะยังไม่เอื้ออำนวยเท่าใดก็ตาม

    “ครั้งแรกแขนขายังติดอยู่ มันไม่ยืดหยุ่นเพราะไม่เคยออกกำลัง อีกอย่างก็เหนื่อย แต่ยังไงก็ต้องปรับตัวเอง เพราะไม่มีใครช่วยเราได้แล้ว หลังจากนี้ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ ปรับให้ตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิม และรำกระบองวันละ 30 นาที” ผกากรอง ยืนยันความตั้งใจของตัวเอง
    เช่นเดียวกับ ธวัชชัย อัศวรุจิกุลชัย อายุ 69 ปี ที่บอกว่าเคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขาก็พิการเดินไม่ถนัด มีอาการทางด้านระบบย่อย ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดอยู่ตลอดเวลา เข้าใจว่าเป็นริดสีดวง แต่ตรวจแล้วพบว่า เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง จึงเข้ารับการผ่าตัด จากนั้นก็กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ต่อมาได้ทราบจากวิทยุว่ามีการออกกำลังกายแบบชีวจิตที่สวนจตุจักร จึงเริ่มไปออกกำลังกาย ได้เข้าคอร์สสุขภาพชีวจิตและได้ปฏิบัติตัวเป็นชีวจิตมาตลอด

    “รู้สึกสุขสบายและ แข็งแรงกว่าแต่ก่อนมาก สามารถเตะปี๊บลอยเลยละ สุขภาพกายใจดีมาก มีเพื่อนคอยให้กำลังใจ อาการขาเดินไม่ปกติ ทั้งลำไส้ปัจจุบันหายปลิดทิ้งทั้งหมดเลย” ลุงธวัชชัยกล่าว

    ...สุดท้าย ดร.สาทิส ให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการออกกำลังกายหรือลังเลที่จะออกกำลังกายว่า “อย่ารอให้ป่วยเสียก่อนจึงจะรู้สึก เพราะบางทีกว่าจะรู้ตัวโรคต่างๆ มันก็รุมเร้าจนเราไม่รู้จะเริ่มแก้ที่ตรงไหน ถ้าวันนี้ยังลุกไหว...ก็เริ่มเถอะ”



  • กำลังโหลดความคิดเห็น