นายกองค์กรนักศึกษา 5 สถาบัน ร้อง กมธ.ศึกษาฯ ให้ถอนรากบริษัทน้ำเมาแฝงตัวสร้างนักดื่มหน้าใหม่ ผ่านกิจกรรมนักศึกษา นายกองค์การฯ เผย บริษัทสุราแทรกซึมเข้าไปให้ทุนสนับสนุนให้นักศึกษาตั้งชมรมทำกิจกรรมกว่า 100 สถาบันแล้ว จี้ ศธ.ออกกฎระเบียบคุม ห้ามรับทุนจากบริษัทน้ำเมา
นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เปิดเผยว่า กรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายหัวกะทิสร้างสรรค์ (5 สถาบัน) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์การบริหารนักศึกษาและสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย 5 สถาบัน ขอให้กรรมาธิการติดตามตรวจสอบธุรกิจแอลกอฮอล์ทำการตลาดแอบแฝง ผ่านทางกิจกรรมนักศึกษาและสถาบันการศึกษา โดยนักศึกษาที่มายื่นหนังสือ แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้มีบริษัทสุราข้ามชาติทำกลยุทธ์ในการสร้างนักดื่มหน้าใหม่ โดยสนับสนุนให้นักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดวาทะกรรมแฝงเร้น เช่น “ดื่มอย่างมีสติ” “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” หรือ “ดื่มอย่างชาญฉลาด” เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ ทราบดีว่ายิ่งทำให้เยาวชนเริ่มต้นดื่มเหล้าเมื่ออายุน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเสพติดแอลกอฮอล์ได้มากเท่านั้น ทำให้มีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกรรมาธิการได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และได้ประสานไปยังสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรมสัมมนา ระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักศึกษาให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป
นายสิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทางกรรมาธิการได้หารือร่วมกัน และมีแนวคิดว่า รัฐบาลและสถาบันการศึกษาควรเน้นการส่งเสริมให้นักศึกษาจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มาเบียดพื้นที่ของกิจกรรมแอบแฝง และกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์อื่นๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง กรรมาธิการไม่ต้องการกดดันให้กระทรวงศึกษาธิการออกข้อบังคับหรือกฎระเบียบ เพราะที่ผ่านมาได้มีการออกกฎระเบียบมามากมายก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง จึงควรให้กิจกรรมเกิดจากตัวเด็กเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากตัวเด็ก
ด้านนายภัทธพิศิษฐ์ วรฤทธิธานนท์ นายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุกคืบเข้ามาในสถาบันการศึกษา ด้วยการสนับสนุนการทำกิจกรรม การให้ทุนอุปถัมภ์การจัดตั้งชมรมต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็แอบแฝงสอนวิธีการดื่มให้กับเยาวชนที่ยังไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ถ้าใครไม่เคยดื่มควรดื่มในปริมาณเท่าใด? หรือดื่มอย่างไรไม่ให้เมา? ซึ่งขณะนี้พบว่ามีสถาบันการศึกษาที่ถูกอ้างว่า ได้มีการตั้งชมรมโดยการสนับสนุนของธุรกิจน้ำเมาแล้วกว่า 100 สถาบัน ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้กรรมาธิการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบกรณีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แอบแฝงเข้ามาในกิจกรรมนักศึกษา เพื่อศึกษาผลกระทบ และการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ด้วยการประกาศนโยบายให้สถานศึกษาไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งไม่รวมกิจกรรม ไม่รับทุนอุปถัมภ์ หรือจัดตั้งชมรมที่มีธุรกิจดังกล่าวอยู่เบื้องหลัง