xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.โยนเผือกร้อนให้ครูภาษาไทย เหตุทำเด็กแห่กวดวิชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อุทุมพร” ยันข้อสอบภาษาไทยทุกข้อออกตามสาระการเรียนของกระทรวง โยนถามอาจารย์ผู้สอนสอนตามสาระที่กำหนดหรือไม่ ด้าน “กษมา” รับไปฟังงานวิจัยด้วย เด็กระบุว่า ยาก เพราะข้อสอบออกแนวคิดวิเคราะห์ ส่วน น้องเขยแม้ว สั่ง สพฐ.หารือ สกอ.ด่วน

สืบเนื่องมาจากผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า หลักสูตรภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาไม่สอดคล้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ โอเน็ต เอเน็ต ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากแห่ไปเรียนกวดวิชานั้น นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวยืนยันว่า ข้อสอบภาษาไทยทุกข้อออกตามมาตรฐานสาระการเรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาฯกำหนด ไม่เคยออกเกินเลยจากนี้ ต้องถามกลับไปว่าเวลาที่อาจารย์ภาษาไทยแต่ละท่าน ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์เขาอิงสาระการเรียนรู้ ปี 2544 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า

วันนี้ กระทรวงให้ครูมีอิสระในการสอน จะเลือกวิธีไหนสอนนักเรียนก็ได้ เพียงแต่ให้ยึดสาระการเรียนรู้ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าถ่ายทอดครบสาระการเรียนรู้ไหม หากสอนครบเชื่อว่านักเรียนทำข้อสอบที่ สทศ.ออกได้อย่างแน่นอน

“ในเมื่อ สทศ.ยึดตำราของกระทรวง อาจารย์ก็ใช้ตำราเล่มเดียวกัน เด็กควรทำข้อสอบได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชา อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตอาจารย์เวลาสอนยึดสาระการเรียนรู้ที่กระทรวงกำหนดหรือไม่ เพราะปัจจุบันจะให้อาจารย์เป็นคนคิดวิธีการเรียนการสอนเอง นอกจากนี้ ผลงานวิจัยชิ้นนี้เขาสำรวจครอบคลุมแค่ไหน ต้องมาดูหัวข้อที่ถาม ตนก็ไม่เห็นและอยากได้เล่มนี้มาศึกษาเหมือนกัน” นางอุทุมพร บอกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อผลงานวิจัยระบุเช่นนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาจับมือกัน ช่วยกันเช็คว่าเกิดปัญหาเรื่องนี้เกิดจากตรงไหนกันแน่ จะได้แก้ให้ตรงจุด

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตนไปฟังผลงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย ซึ่งจำได้ว่านักเรียนบอกว่าข้อสอบออกแนวคิดวิเคราะห์ จึงดูว่าข้อสอบนั้น “ยาก” อย่างไรก็ตาม คงต้องของานวิจัยมาศึกษาในรายละเอียดก่อน จากนั้นค่อยมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าตนรับทราบเรื่องนี้แล้ว และมองว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดปัญหาบานปลาย จึงสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น