xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.เมินข้อเสนอแยกสอบคณะวิทย์ ชี้ทำได้แต่ให้คำนึงถึง นร.วิ่งสอบหลายที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทปอ.เมินข้อเสนอที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ไม่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบแอดมิชชั่น ระบุหากคณะวิทยาศาสตร์จะแยกสอบต่างหาก ก็มีสิทธิ์ทำได้แต่ขอให้คำนึงถึงเด็ก อย่าให้ต้องเสียเวลาวิ่งสอบหลายที่

นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลสรุปองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิต-นักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2553 ของแต่ละกลุ่มสาขาวิชา รวม 9 กลุ่มสาขาวิชา ตามที่ คณะกรรมการกลุ่มเสวนา Admissions and Assessment Forum ของทปอ.นำเสนอ จากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รับทราบในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

“องค์ประกอบและค่าน้ำหนักดังกล่าวถือว่ายุติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเผยแพร่ให้นักเรียนทราบอย่างเป็นทางการ เพราะต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี โดยนักเรียนชั้น ม.5 ในปีการศึกษา 2551 จะเป็นรุ่นแรกที่ใช้องค์ประกอบนี้”

นายมณฑล กล่าวอีกว่า สำหรับการทดสอบศักยภาพทั่วหรือ General Aptitude Test (GAT) และการทดสอบศักยภาพทางวิชาชีพ หรือ Professional Aptitude Test (PAT) นั้น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ โดยสอบได้ปีละ 3 ครั้ง เก็บผลสอบไว้ได้ 2 ปี นักเรียน ม.5 มีสิทธิสอบ โดยจะเริ่มจัดสอบในปี 2552

ส่วนกรณีที่ นายสุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหานักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพตกต่ำ จะเสนอที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พิจารณาในวันที่ 14 มิถุนายน ใน 3 ทางเลือก นายมณฑล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นมติของ ทปอ.ไปแล้ว ดังนั้น ผลการประชุมของคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คงไม่มีผลต่อองค์ประกอบแอดมิชชั่น ปี 2553 ทปอ.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติกลับไปมาได้เพราะต้องนึกถึงนักเรียนที่ต้องประกาศล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ทางเลือก 3 แนวทางที่ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยนำเสนอ ได้แก่ 1.คณะวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจะแยกออกมาสอบเองเหมือนกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) โดยจะหาแนวร่วมคณะอื่นมาร่วมสอบด้วย อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น 2.เอาคะแนนจากแอดมิชชันที่คณะวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นคะแนนมาตรฐานว่าต้องได้คะแนนเท่าใดถึงจะมาสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ได้ และ 3.จัดทำข้อสอบมาตรฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สอบได้หลายครั้ง และนำคะแนนที่ดีมายื่นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้น

“องค์ประกอบแอดมิชชันได้ทำแบบสอบถามไปยังองค์กรวิชาชีพตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว และใช้เวลาถึงปีกว่ากว่าจะได้ข้อยุติดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นทุกฝ่ายก็เห็นด้วยแต่ตอนนี้คณะวิทยาศาสตร์อาจได้ข้อมูลหลังจากการวิจัยว่าควรต้องแยกสอบวิชาเคมี ชีววิทยาและฟิสิกส์ออกจากกัน ซึ่งหากคณะวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจะแยกตัวออกมาสอบเองเหมือนกับ กสพท. ก็มีสิทธิ์ทำได้ แต่อยู่ที่ปริมาณนักศึกษาที่จะเข้าระบบมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราอยากให้ร่วมกันทำเพื่อเด็กไม่ต้องเสียเวลาวิ่งสอบหลายที่ ซึ่งแนวทางที่ ทปอ.ทำอยู่ จะทำให้เด็กสอบน้อยลง สอบ GAT และ PAT ได้หลายครั้ง และไม่ต้องวิ่งสอบหลายที่ ซึ่งองค์ประกอบแอดมิชชั่นดังกล่าว รู้ว่าไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ แต่ข้อสรุปที่ออกมาผมก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว” นายมณฑล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น