xs
xsm
sm
md
lg

ความเหมือนในความแตกต่าง หลวงพระบาง-เวียงจันทน์-มหานคร กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีตักบาตรข้าวเหนียว ประเพณีดั้งเดิมของชาวหลวงพระบาง
“สะ-บาย-ดี” คำๆ นี้ คงจะคุ้นหูคุ้นตาท่านผู้ท่านเป็นอย่างดี เพราะไปไหนมาไหนก็มักจะได้ยินเสียงและสำเนียงทักทายตามแบบฉบับภาษาลาวแท้ๆ แต่น่ารักมาแต่ไกล จนทำให้หลายคนประทับใจและอยากไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ หรือหลวงพระบาง เมืองแห่งวัฒนธรรมที่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองมรดกโลกไปแล้ว

ขณะที่หากย้อนกลับมาดูมหานครของประเทศไทยอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง ก็จะพบว่า เมืองทั้ง 3 เมืองนั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างในหลายๆ เรื่อง และที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ก็คือ ทั้ง 3 เมืองมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันเลยทีเดียว เพื่อเป็นการสานความผูกพัน แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกัน “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้นำคณะไปเยือนเมืองทั้งสอง
ตลาดเย็น ตลาดมืดอันขึ้นชื่อของเมืองหลวงพระบาง
...นครเวียงจันทน์ ถึงแม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศลาวเหมือนที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย แต่ก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดทั้งเรื่องการจราจรที่รถราไม่ติดเหมือนบ้าน และรถที่วิ่งบนท้องถนนส่วนใหญ่จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ และรถประจำทางเท่านั้น ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นถือว่าน้อยมาก ขณะที่หลวงพระบางนั้นจะมีกฎที่ห้ามนำรถใหญ่เข้าไปวิ่งในเมืองเพราะถนนแคบและทำลายภูมิทัศน์เมืองมรดกโลก

สำหรับป้ายโฆษณาแล้ว ทั้งหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ แทบจะไม่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้เห็นเหมือน กทม.ที่ไปทางไหนก็เห็นแต่ป้ายโฆษณาเต็มไปหมด โดยเฉพาะป้ายโฆษณาที่หลวงพระบางจะมีเฉพาะป้ายบอกชื่อสถานที่ที่ติดอยู่ตามอาคารต่างๆ ส่วนป้ายโฆษณาสินค้าที่มีอยู่ไม่กี่ประเภทก็จะเห็นอยู่ตามถนนก่อนเข้าเขตใจกลางเมืองหลวงพระบาง
ตัวเมืองหลวงพระบาง
“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ข้อมูลหลังเดินทางไปเยือนทั้ง 2 เมือง เพื่อสานความผูกพันฉันบ้านพี่เมืองน้อง ว่า การเยือนหลวงพระบางครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย ซึ่ง กทม.จะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป โดยส่วนที่เป็นจุดเด่นของหลวงพระบาง คือ การอนุรักษ์วัฒนธรรม โบราณสถาน ทั้งพระราชวัง วัดวาอารามต่างๆ และประเพณีดั้งเดิมอย่างการตักบาตรข้าวเหนียวนั้น กทม.ก็มีแนวทางในการอนุรักษ์ พื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในก็เป็นเมืองเก่า ซึ่ง กทม.เคยหารือกับคณะทำงานและกรมศิลปากรเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานไปบ้างแล้ว ก็จะได้สานกับกรมศิลปากรเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการฟื้นฟูประเพณีการตักบาตรตอนเช้าที่เริ่มจะเหลือน้อยลงให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนกรุงเทพฯ รวมทั้งหารือกับชาวชุมชนในย่านตลาดที่มีความเก่าแก่เพื่อฟื้นฟูตลาดนั้นให้กลับมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมีสินค้าท้องถิ่นหรือเฉพาะพื้นที่มาขายให้โดดเด่นกว่าสินค้าชนิดอื่นๆ เหมือนที่ชาวหลวงพระบางมีตลาดเช้า ตลาดเย็นที่ขายสินค้าพื้นเมืองอย่างผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 เมืองได้ขอความร่วมมือสนับสนุนเรื่องต่างๆ ระหว่างกัน ดังนี้ หากพบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเมืองใดก่อนก็จะมีการแนะนำให้ไปเที่ยวอีกเมืองหนึ่งเช่นกัน และจะมีการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่าย

รวมทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อให้ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ตลอดจนกทม.จะส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนด้านกสิกรรม เช่น การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน และยังจะให้ความช่วยเหลือแลกเปลี่ยนความรู้ในการบริหารจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเมืองหลวงพระบาง
 สภาพการจราจรในนครหลวงเวียงจันทน์ สถานีขนส่ง รถโดยสารประจำทางในตัวเมือง
ส่วนที่เวียงจันทน์ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับ “ดร.สินละวง คุดไพทูน” เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือและให้การสนับสนุนการจัดงานมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ในปี 2552 ซึ่ง กทม.ได้ให้ทุนนักเรียนมาฝึกซ้อมกีฬาที่กทม.ตลอดจนให้ทุนฝึกอบรมที่กทม.แก่พนักงานนครหลวงเวียงจันทน์

ขณะเดียวกัน ในโอกาสที่นครหลวงเวียงจันทน์จะครบรอบ 450 ปี พ.ศ.2553 กทม.จะสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะมิตรภาพระหว่าง กทม.และเวียงจันทน์ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว ณ บ้านหนองด้วง เมืองสีโค้ดตะบอง รวมถึงจัดกิจกรรมมาร่วมเฉลิมฉลองอีกด้วย

ด้าน ดร.คำแพง ไซสมแพง รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง อธิบายว่า การที่หลวงพระบางได้เป็นมรดกโลกทำให้สามารถที่จะอนุรักษ์เมืองให้คงสภาพเดิมแต่การอนุรักษ์นั้นก็เดินมาควบคู่กับการพัฒนา เพราะจะเห็นว่ามีโรงแรม ที่พัก และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น มีร้านอินเทอร์เน็ตเข้ามา มีร้านอาหารต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก แต่จะไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้มาทำลายวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีเอกลักษณ์เก่าแก่ให้จางไป และเมืองหลวงพระบาง เองถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย ไม่มีขอทาน ที่สำคัญไม่มีเธค บาร์เปิดในเมือง

“ในตอนเช้าๆ จะมีการตักบาตรข้าวเหนียวอันเป็นประเพณีที่ดีงามสืบต่อกันมาซึ่งทุกครั้งที่เข้าไปในเมืองก็จะเห็นนักท่องเที่ยวนั่งกลมกลืนกับชาวหลวงพระบาง หยิบปั้นข้าวเหนียวใส่บาตรพระ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์เมืองมรดกโลกนี้ด้วยเช่นกัน” รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง อธิบายเพิ่มเติม

กำลังโหลดความคิดเห็น