xs
xsm
sm
md
lg

Helicopter Parents ปม “อัตนิวิบาตกรรมวัยรุ่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวการฆ่าตัวตายของนักเรียน นักศึกษา คงเป็นประเด็นที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะหากจำกันได้จะพบว่าในรอบ 4 ปีมานี้ มีนิสิตทั้งชาย-หญิงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายจำนวนไม่น้อย
 
คำถามที่ตามมา คือ ณ เวลานี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ที่ขนาดมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผลิตบุคลากรระดับคุณภาพ ก็ยังมิอาจหลีกหนีจากความสูญเสียดังกล่าวได้
รศ.สุริชัย หวันแก้ว
** ยึดติดอันดับจนลืมมองผู้เรียน
“เรียนก็สูง เก่งก็เก่ง ทำไมคิดได้แค่นี้”
นี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยถึงเบื้องหลังการฆ่าตัวตาย ซึ่งการเกิดคำถามเช่นนี้แม้ประหนึ่งว่าสังคมเป็นห่วงเป็นใย แต่เมื่อวิเคราะห์ลงไปในเบื้องลึกแล้ว คำถามดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไม่ได้ให้ความสนใจกับการฆ่าตัวตายเท่าใดนักว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร และสังคมจะไม่รู้สึกอะไร จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด คนสนิท

รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ให้ข้อมูลในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ‘อัตนิวิบาตกรรมวัยรุ่น : เงามืดในกระแสพัฒนาเอเชีย’ ซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียศึกษาและสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จริงๆ แล้วการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นเป็นประเด็นที่ใหญ่ทั้งโลก โดยเกิดขึ้นมาจากปัญหาการเรียน ความรัก ชีวิตส่วนตัว ซึ่งปัญหาและการตัดสินลงมือของวัยรุ่นนี้จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า 60% พ่อแม่ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าลูกอยากฆ่าตัวตาย
 
ทั้งนี้ ปัญหายอดฮิตที่ทำให้วัยรุ่นคิดสั้นโดยมีต้นเหตุจากภาวะความเครียดจากการเรียนเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และจำเป็นที่จะต้องแก้ไข เพราะสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาและค่านิยมของสังคมที่เป็นอยู่ทำให้ทุกคนต้องการจะเป็นสุดยอด ทำให้เด็กต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันในสถานศึกษา

ขณะเดียวกัน แต่ละมหาวิทยาลัยต่างแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง ระดับประเทศ ระดับโลก โดยสิ่งเหล่านี้ประเมินกันที่ผลงานทางวิชาการ งานวิจัยเด่นๆ จนลืมประเมินส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความรู้สึกและสุขภาวะ ของคนในมหาวิทยาลัยเอง คิดแต่เรื่องของการจัดอันดับเป็นกระแสหลัก ซึ่งนักศึกษาทั้งหลายก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ยืนอยู่ได้จนจะเห็นว่าการคิดคะแนนที่แตกต่างกันเพียงแค่ครึ่งคะแนนก็แทบจะเป็นจะตาย นี่เองเป็นแนวโน้มที่ทำให้เด็กเครียดกับการเรียนมากขึ้น
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
อย่างไรก็ตาม หากมองกลับมาที่ปัญหาสังคมของบ้านเราก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าปัญหาด้านการศึกษาบวกกับแรงกดดันจากสังคมมีผลให้เด็กต้องเครียด พลอยให้การตัดสินใจทำอะไรลงไปด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบเกิดขึ้น

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ความเห็นนี้ว่า การศึกษาไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะมีผลต่อเด็กในการฆ่าตัวตาย แต่เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ปัญหานั้นโดยตรง โดยการศึกษาในปัจจุบันจะเน้นการเอาไปใช้ประโยชน์ มุ่งหาทิศทางที่ทำให้ร่ำรวยขึ้นในอนาคต ระบบการศึกษาเองจึงเป็นแบบการแข่งขัน และเป็นการศึกษาที่แยกระหว่างคุณค่าที่สูงและต่ำ ทำให้เด็กต้องยึดติดกับการศึกษาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น เด็กจะรู้สึกว่าการที่ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในคณะที่ดังๆ จะกลายเป็นคนด้อยค่า และปัญหาเด็กที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินเรียน หรือสอบไม่ติด จึงเกิดขึ้นจากการตั้งค่าความหวังที่สูงเกินไป
 
“การศึกษาเองมีส่วนในการหล่อหลอมคนให้เลือกเดินไปในทิศทางใดก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าการศึกษาจะเป็นตัวตัดสินใจให้เด็กคิดฆ่าตัวตาย แต่คิดว่าน่าจะมีส่วนผลักดันให้เด็กคิดเช่นนั้นมากกว่า จึงอยากให้มองว่ากระบวนการการศึกษาต้องเป็นตัวส่งเสริมให้คนเติบโต ไปในทิศทางที่หลากหลาย ตามความถนัด และความพร้อมของเด็ก ไม่ใช่ไปผลักดันให้เขาต้องเดินในทิศทางเดียวกัน สำคัญที่สุดคือคนในสังคมต้องทำความเข้าใจกันว่าเราต้องการคนในสังคมอย่างไร นักการศึกษาจะมีบทบาทบ้างในการชี้แนะทิศทาง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถจะไปผลักกระแสสังคมได้” รศ.ดร.ไพฑูรย์ แนะนำ
ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์
** ช่วยเหลือลูกทุกอย่าง กรุยทางสู่ ‘หายนะ’
ในด้านปัญหาและแนวทางแก้ไขในมุมมองของนักจิตวิทยาอย่าง ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์ จากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ บอกว่า สาเหตุอยู่ที่วิกฤตทางอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นนั้นเด็กจะมีพื้นที่ในการระบายความกดดันได้น้อย แต่เนื่องจากว่าสิ่งที่เขาต้องแบกรับมีมากเกินไป ทำให้ยอมรับกับความล้มเหลวไม่ได้ จึงเลือกวิธีการฆ่าตัวตายเป็นการหนีปัญหา
 
ทั้งนี้ คนที่จะฆ่าตัวตายนั้นจะมีความคิดอยู่ครึ่งต่อครึ่งระหว่างอยู่หรือไป เมื่อความสับสนเกิดขึ้นแล้วไม่มีใครคอยรับฟังปัญหา ไม่มีใครช่วยแก้ไข การคิดสั้นจึงเกิดขึ้น
ดร.อรัญญาบอกอีกว่า ปัญหานี้มาจากเด็กไม่เคยเจอสภาพแรงกดดัน จนเกิดเป็นภาวะ พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ ( Helicopter Parents) ที่เปรียบพ่อแม่เป็นเหมือนเฮลิคอปเตอร์ เพราะเฮลิคอปเตอร์นั้นจะเป็นพาหนะที่คอยกู้ภัยต่างๆ เปรียบได้กับผู้ปกครองในปัจจุบันที่จะคอยช่วยเหลือลูกอยู่ตลอดเวลา คอยกรุยทางเพื่อให้ลูกได้อยู่ในทิศทางที่ดีที่สุด ทำให้ลูกไม่เคยพบเจออุปสรรคขวากหนามต่างๆ ในทางที่ดีก็คือลูกจะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จ แต่ในมุมกลับกันลูกจะรู้สึกว่าเมื่อเกิดปัญหาก็จะให้ผู้ปกครองแก้ไขให้ ลูกจึงบอบบางเมื่อเจอปัญหาเพียงเล็กน้อย

ส่วนที่น่าห่วงอีกอย่าง คือ กลุ่มเด็กช้างเผือก ที่สังคมต้องการจะดึงตัวมาให้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ก็เป็นการผลักดันให้เขาต้องรับกับแรงกดดันในสังคมเมือง และยังต้องแข่งขันกับเด็กเก่งอีกหลายคน เป็นผลให้เด็กเกิดความเครียดได้
 
“ดังนั้น การแก้ไขคือผู้ปกครองต้องอยู่เบื้องหลังลูกให้มากขึ้น ให้ลูกได้มีโอกาสแก้ปัญหาเองบ้าง ไม่ใช่ว่าเมื่อลูกเกิดปัญหาพ่อแม่ก็จะจัดการให้ทุกอย่าง ควรพูดคุยจนลูกมีแนวทางของตัวเอง หากพบว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า เครียด ผู้ปกครองต้องจับตา และดูแลเป็นพิเศษ"
“งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งได้เสนอแนวทางแก้ไขไว้ว่า ให้มีการเช็กคะแนนการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความสุขอยู่ที่ 10 คะแนน และให้ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงน้อยสุดที่ความเครียด หากเช็กข้อมูลเป็นประจำใน 1 สัปดาห์จะพบว่า เส้นกราฟจะดิ่งลงมากในช่วงที่เราเครียด ทำให้ผู้ประเมินทราบได้ว่าตัวเองควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดที่ทำให้จิตใจอยู่อย่างไม่เป็นสุข และจะพยายามทำตัวเองให้ดีขึ้น วิธีนี้น่าจะช่วยลดปัญหาความเครียดเกี่ยวกับกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งอาจส่งผลให้นำไปสู่การคิดสั้นลงได้ไม่มากก็น้อย” ดร.อรัญญาให้คำแนะนำ
ผศ.ดร.บุญยง ชื่นสุวิมล
** ระวัง!! กระแส “แดนปลาดิบ” ลามสู่ไทย
หากมองภาพรวมภายในภูมิภาคเอเชียจะพบว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น ญี่ปุ่น มีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นกับวัยรุ่นไทย เพราะสังคมไทยและสังคมญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัวที่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยว รวมถึงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในหลายด้านเด็กไทยก็รับมาได้ง่าย
 
ผศ.ดร.บุญยง ชื่นสุวิมล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศอันดับ 1 ของเอเชียอย่างญี่ปุ่นสถิติบ่งบอกว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นฆ่าตัวตายอย่างโหดเหี้ยม และมีความรุนแรงกว่าบ้านเรามาก เช่น การฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งจากสถิติของสำนักงานตำรวจของญี่ปุ่นพบว่า การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นญี่ปุ่นติดอันดับ 10 ของโลก ที่ 24 คนต่อประชากร 1 แสนคน
 
สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน คือ 1.ครอบครัว เพราะเด็กรุ่นใหม่จะมีความคาดหวังกับพ่อแม่ของตนเอง ไม่เคยผิดหวังอยากได้อะไรก็ได้ แต่เมื่อญี่ปุ่นเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลายครอบครัวล้มละลาย เป็นผลให้การคาดหวังของลูกที่มีต่อพ่อแม่หมดลง ลูกจึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว เครียดจนไปถึงการฆ่าตัวตาย
2.โรงเรียน จะเน้นเด็กที่เรียนดี ส่วนเด็กที่ไม่ดีจะไม่ได้รับการเหลียวแล ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ไม่อยากเรียน
 
3.การก่ออาชญากรรม ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรม โดยมีเว็บไซต์สอนการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่างๆ และวัยรุ่นก็เข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดการเลียนแบบ และสุดท้าย ความเชื่อ เพราะเด็กญี่ปุ่นสมัยใหม่จะมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง บางคนพูดได้เต็มปากว่าไม่มีศาสนา ทำให้เด็กไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่รู้จักยับยั้งตนเอง
 
“ต้องยอมรับว่าเด็กไทยมีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นทั้งด้านดี และไม่ดี ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามสิ่งที่กำลังจะแผ่เข้ามาในบ้านเราได้เลย”
ผศ.ดร.บุญยง อธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องพึงระวังจากกระแสการเลียนแบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น