xs
xsm
sm
md
lg

สช.เสนอ 2 ทางเลือกให้จทน.ร.ร.เอกชนใช้สิทธิ์ประกันสังคมต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สช. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา วินิจฉัยหาทางรับมือมาตรา 86 ของพ.ร.บ.การศึกษาเอกชน เสนอ 2 ทางเลือก ให้รมต.ศธ.ใช้มาตรา 6 ยกเว้นเจ้าหน้าที่ร.ร.เอกชนไม่ต้องออกจากประกันสังคม หรืออาศัยมติครม.ต่ออายุให้ใช้ประกันสังคมต่อไป

นายสำรวม พฤกษ์เสถียร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยความคืบหน้าแนวคิดการนำเงินจากกองทุนส่งเสริมพัฒนาการศึกษาเอกชน จำนวนร้อยละ 3 ที่โรงเรียนส่งเข้ามาสมทบตามมาตรา 45 ของพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาจ่ายเป็นเงินวิทยฐานะให้แก่ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น แต่จากการพิจารณาวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมพัฒนาฯ พบว่า กองทุนดังกล่าวไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการเติมเต็มค่าตอบแทนครูในเรื่องวิทยฐานะ ดังนั้น จึงไม่สามารถนำเงินในส่วนนี้มาจ่ายเป็นเงินวิทยฐานะได้ ซึ่งหลังจากนี้คงจะต้องมีการหารือกันต่อไปว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนมีขวัญและกำลังใจในการทำงานเหมือนกับครูรัฐบาล ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่จะให้มีการออกสลากพิเศษ 1 งวด เพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นเงินวิทยฐานะ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เห็นว่าเป็นวิธีการที่ยังไม่เหมาะสม

เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเสนอรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในส่วนของเงินวิทยฐานะนั้น เรื่องนี้รัฐบาลเคยยกกรณีตัวอย่างของวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีการจัดสรรค่าตอบแทนในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ศ.) ด้วยงบประมาณของมหาวิทยาลัยเอง โดยรัฐบาลไม่ได้ร่วมสนับสนุนเลย ดังนั้นในกรณีของเงินวิทยฐานะที่จะจ่ายให้กับผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ทางรัฐบาลจึงนำหลักการดังกล่าวมาใช้กับโรงเรียนเอกชนด้วย ทั้งที่เอกชนเองก็มีเงินไม่มากนัก

ด้านนางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้อย่าเพิ่งตัดสินว่าผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนจะได้รับเงินวิทยฐานะหรือไม่ เพราะยังไม่ได้หารือกัน หากวิธีการเดิมไม่สามารถทำได้ ก็คงต้องหาแนวทางใหม่ๆ แต่จะเป็นวิธีการใดคงต้องคุยกันอีกนาน ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนอีกมากที่รอการแก้ไข

นายสำรวม พฤกษเสถียร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวินิจฉัยว่า สช.สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนที่ถูกมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บังคับให้ออกจากกฎหมายประกันสังคม ด้วยวิธีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.) ใช้อำนาจตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเอกชนไม่ต้องออกจากกฎหมายประกันสังคม หรือสามารถใช้มติคณะรัฐมนตรีคุ้มครองชั่วคราวให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนไม่ต้องออกจากกฎหมายประกันสังคมได้หรือไม่

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการประชุมเรื่องนี้นัดแรกเมื่อ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประกอบกับกฤษฎีการับทราบปัญหานี้หลังจากที่กฤษฎีกาได้รับฟังการชี้แจ้ง โดยชี้แจ้งไปว่า เจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนได้รับความเดือดร้อนจากผลตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนจริง ๆ หลังจากนี้ กฤษฎีกาคงจะประชุมกันในเร็วๆนี้ เพื่อวินิจฉัยว่า รมว.ศธ.สามารถอาศัยมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ยกเว้นเจ้าหน้าที่โรงเรียนเอกชนไม่ต้องออกจากกฎหมายประกันสังคมได้หรือไม่ โดยประเด็นที่ต้องตีความคือ อำนาจตามมาตรา 6 นั้น สามารถยกเว้นการบังคับตามกฎหมายอื่นหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปอาศัยมติ ครม. ต่ออายุให้เจ้าหน้าที่ ร.ร.เอกชนอยู่ในประกันสังคมต่อไป

นายสำรวม ระบุว่า สช.กำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ ซึ้งกฤษฎีกาอาจจะให้คำแนะนำอื่น ๆ นอกเหนือจากทางเลือกที่ สช.เสนอไปก็ได้ เมื่อกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว สช.จะทำเรื่องเสนอ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบ สช.จะดำเนินการทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น