สภา กทม.รับหลักการ เพิ่มเงินสวัสดิการข้าราชการ-ลูกจ้าง กทม.2,000 บาทต่อเดือน พร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาภายใน 15 วัน ขณะที่ ส.ก.พลังประชาชน ชี้ การปรับเพิ่มดังกล่าวมีผลทางการเมือง ด้าน “อภิรักษ์” แจงตั้งใจทำมานานแล้วไม่ได้เร่งปรับในช่วงนี้
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) พ.ศ.2551 ได้มีการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพหรือเงินค่าตอบแทนแก่ข้าราชการ หรือลูกจ้างของ กทม.พ.ศ.... โดยมีรายละเอียดว่า เนื่องจากปัจจุบันสภาวะค่าครองชีพในเขต กทม.มีอัตราสูงขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพตลอดจนเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการและลูกจ้าง โดยให้ข้าราชการและลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างไม่เกิน 13,500 บาท ได้รับสวัสดิการจำนวน 2,000 บาท/คน/เดือน แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับแล้วต้องไม่เกิน 13,500 บาท
นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคพลังประชาชน (พปช.) อภิปรายว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นความคิดริเริ่มที่ดี แต่หากพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้วกลับให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ครอบคลุม เพราะในฐานะที่ผู้ว่าฯกทม.ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการและช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น ภารกิจต่างๆ จึงน่าจะคำนึงถึงดูแลรับผิดชอบประชาชนส่วนรวม แม้ขณะนี้จะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งไม่กี่เดือนก็ตาม ไม่ใช่ช่วยเหลือเฉพาะข้าราชการลูกจ้างหรือพวกพ้องของตัวเองเท่านั้น
ด้านนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก.เขตห้วยขวาง พรรค พปช.กล่าวว่า ในการอนุมัติเงินดังกล่าว อาจทำให้ทุกคนดีใจ แต่หากพิจารณาดูแล้วเห็นว่าวิธีการนำเสนอรีบเร่งเกินไป หรือหากคิดเป็นอย่างอื่นผู้บริหารก็อาจจะตั้งใจไม่ให้สภา กทม.ได้พิจารณาในโครงการ เนื่องจากมีการกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายประจำปี ซึ่งตามหลักการจะต้องมีการเขียนกรอบวงเงินที่ชัดเจนไว้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่กรณีนี้ทำให้ในอนาคตผู้บริหารปัจจุบันรวมถึงผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่อาจพิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเกินกว่า 2,000 บาท และอาจนำไปใช้ในการหาเสียงหรือดำเนินการในทางการเมืองอื่นก็ได้
ขณะที่นายอภิรักษ์ กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะให้ข้าราชการและลูกจ้างได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งก่อนที่จะพิจารณากำหนดเพดานรายได้เป็น 13,500 บาทนั้น คณะผู้บริหารได้พิจารณาอย่างละเอียดและได้จัดทำสถิติรายได้ขึ้นมาโดยเฉพาะ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วข้าราชการลูกจ้าง กทม.ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000-3,000 บาท ดังนั้น อัตรานี้จึงเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว อีกทั้งผู้บริหารไม่ได้เพิ่งจะมาให้ความสนใจในตอนนี้แต่ได้เพิ่มค่าตอบแทนให้ข้าราชการตั้งแต่ปี 2548 มาแล้ว ขณะที่ประชาชนทั่วไป กทม.ก็ไม่ได้ละเลยการให้ความช่วยเหลือ ยังมีการจัดทำโครงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัดและข้าวแกง กทม.ราคา 15 บาทด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 17 คน ใช้เวลาในการแปรญัตติจำนวน 15 วัน