“มล.วัลย์วิภา” ระบุ แม้ปิดรับลงนามไปตั้งแต่ศุกร์ที่แล้ว ปรากฏคนไทยรักชาติเดินหน้าลงนามต่อเนื่อง ทำให้ตัดสินใจขยายเวลาลงนามไปจน 10 ก.ค. อันเป็นวันสุดท้ายของการประชุมคกก.มรดกโลกที่แคนาดา เผยเตรียมตั้งโต๊ะหลายจุด เตรียมประสานกทม.ขอตั้งโต๊ะลานคนเมือง สวนสันติ ฯ ท่าช้าง ท่าพระจันทร์
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่หอประชุมจงรักษ์ ไรนาม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการจัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง ความจริงเขาพระวิหาร โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย ได้แก่ มล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา , ดร.สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และนายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น โดยมีประชาชน นักเรียน ผู้ปกครอง ที่สนใจ เข้าร่วมฟังกว่า 2,000 คน
โดยการอภิปรายในครั้งนี้ ได้นำข้อมูล การลงนามแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา และการปักปันเขตแดนมาอธิบาย ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจยิ่งขึ้น โดยในครั้งนี้มีการนำเสนอรูปภาพเพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจประกอบบทเรียนด้วย
น้องเมย์ - ด.ญ.ชวิศา สถิรวิสารกิจ ชั้นป.5/7 กล่าวว่า ทราบข่าวเรื่องเขาพระวิหารจากสื่อโทรทัศน์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยทราบถึงข้อขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ในการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และส่วนตัวก็สนใจเรื่องนี้ เนื่องจากมีในบทเรียน และได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ไปศึกษาเพิ่มเติม โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารฝ่ายเดียว และเห็นว่าควรสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อน จากนั้นค่อยนำเสนอต่อค.ร.ม.
"ถ้าเสียงส่วนใหญ่ พบว่าประชาชนไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็สามารถยกเลิกที่ลงนามไปได้ การมาฟังบรรยายในวันนี้ ทำให้เข้าใจและเห็นภาพของประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับเขาพระวิหารมากขึ้น"
ด้าน ด.ช.เจ้าพระยา พันธ์จุ้ย หรือ "น้องหมื่น" นักเรียนชั้นป.5/4 กล่าวว่า ทราบข่าวเรื่องเขาพระวิหาร ตั้งแต่เป็นหัวข้ออภิปรายบนเวทีพันธมิตรเนื่องจากติดตามข่าวสารทางเอเอสทีวีมาตลอด จนกระทั่งทราบว่ารมว.ต่างประเทศ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ว่าด้วยการลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรรีบร้อนลงนามภายในปีนี้ เชื่อว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล และไม่ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนเสียก่อน
น้องหมื่นกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลทำเหมือนกับรีบร้อนให้เสร็จภารกิจไป สำหรับการมาฟังข้อมูลในวันนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า ข้อมูลที่ตนได้รับจากเวทีพันธมิตร ประกอบกับการศึกษาด้วยตนเองทางอินเทอร์เนต ทำให้ทราบว่า โอกาสที่ไทยจะเสียดินแดนค่อนข้างสูง และข้อมูลเชื่อได้ 95% เนื่องจากวันนี้มีภาพมาประกอบ ทำให้เห็นอาณาเขตที่ชัดเจน มีหลักฐานทำให้รู้ได้ว่า แนวสันปันน้ำอยู่ในทิศทางใด
"ส่วนคำสั่งศาลปกครองกลางที่คุ้มครองเขาพระวิหาร ในเรื่องนี้น้องหมื่นเห็นว่า หากไทยจะยกเลิกคำแถลงการร่วม น่าจะทำได้ แต่คงจะเสียความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติไปบ้างก็คงไม่เป็นไร และในระหว่างนี้ รัฐบาลน่าจะทำประชามติให้เรียบร้อย เพราะถ้าไม่รีบทำ คิดว่าจะไม่ทันการณ์" น้องหมื่นกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานถึงประเด็นการลงชื่อคัดค้านว่า มล.วัลย์วิภาระบุว่าแม้ในวันจันทร์ ก็ยังมีประชาชนทยอยเดินทางมาลงนามคัดค้านต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเอกสารผ่านทางโทรสาร และที่รัฐสภาก็มีประชาชนเอามาให้อีกปึกใหญ่ จึงตัดสินใจว่าจะเปิดให้ประชาชนลงนามคัดค้านอีกครั้ง จนกระทั่งถึงวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่แคนาดา สำหรับโต๊ะลงนามคัดค้านจะตั้งอยู่ที่ สถาบันไทยคดีศึกษา มธ. , ท่าพระจันทร์,ท่าช้าง ซึ่งคาดว่าจะเปิดลงนามได้พรุ่งนี้ (2)
นอกจากนี้ยังประสานไปยังกทม.ว่าจะขอใช้พื้นที่ลงนามที่ลานคนเมือง และสวนสันติชัยปราการด้วย ซึ่งในครั้งนี้จะมีเครือข่ายประชาชนให้ความช่วยเหลือร่วมมือมากขึ้น โดยมล.วัลย์วิภาเปิดเผยตัวเลขที่ไทยคดีรวมรายชื่อได้จนถึงวันศุกร์ สิริราวมแล้ว 33,710 รายชื่อ สำหรับผู้สนใจและไม่สะดวกในการเดินทางสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้จากเว็บไซต์ไทยคดีศึกษา http://www.tu.ac.th/org/tkri/ และส่งผ่านอีเมลล์มาได้ walwipa2008@yahoo.com หรือทางโทรสาร 02-6356127 และส่วนของจำนวนรายชื่อผู้คัดค้าน จะมีการรายงานจำนวนยอดไปทางยูเนสโกเป็นระยะ
คลิกเพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่นี่ ==>