xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวิชัย” หนุนไทยทำซีแอลโรคเรื้อรังต่อ ลั่นยังไม่เชื่อใจ บ.ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอวิชัย” หนุนไทยเดินหน้าทำซีแอลโรคเรื้อรังต่อ ชี้ทำซีแอลส่งผลให้ยาลดราคาลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่เชื่อใจ บ.ยาอาจมีลูกเล่น ลั่นไม่มี รมต.ไหนอยู่ตลอดไป ต้องเปิดประตูซีแอลอีกแน่ นักวิชาการ ชี้ คนไทยใช้ยาไม่เหมาะสม ฟุ่มเฟือย ปลื้มจัดงานสัมมนานิสิต เภสัชฯ ไม่ต้องง้อบ.ยาเป็นสปอนเซอร์ ฉวยล้างสมอง สอดแทรกโฆษณายา

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหาร องค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวในงานการประชุมสัมมนานิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ครั้ง ที่ 7 โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ จ.ขอนแก่น โดยมีนิสิต นักศึกษาจาก 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ว่า ผลจากการที่ไทยดำเนินการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ส่งผลให้บริษัทยาต่างๆ เริ่มตื่นตัว และมีแนวโน้มจะลดราคายาลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ จึงไม่ตัดสินใจสั่งซื้อยาจากบริษัทยาต้นตำรับทันที เพราะอนาคตอาจมีการขึ้นราคาได้อีก การลดราคาเป็นเพียงช่องทางทำให้บริษัทยาทำการตลาดคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น

“การที่ประเทศไทยทำซีแอล ทำให้ราคายาถูกลง เช่น ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ โคลพิโดเกรล ที่ไทยประกาศซีแอลไป โดยจัดซื้อยาได้ในราคา 1.06 บาทต่อเม็ด จากเดิมที่ยาต้นตำรับราคาเม็ดละ ประมาณ 70 บาท ซึ่งล่าสุด ประมาณ 1-2 และเมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้รับการติดต่อจากบริษัท ซาโนฟี่ อเวนตีส เจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าว ว่ายินดีจะลดราคาให้เหลือเม็ดละ 5 บาทเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของบริษัทยา ในการตั้งราคายาทั้งหลาย ดังนั้น ไทยควรจะสานต่อการทำซีแอลต่อไป”นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับยาที่มีความจำเป็นต้องทำซีแอล คือ ยารักษาโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องทานยาทุกวัน แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ ยังมีความเดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เพราะยามีราคาแพงอยู่ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงยามีหลายช่องทางที่สามารถทำได้นอกเหนือจากการทำซีแอล เช่น การผลิตยาเอง ซึ่งเรื่องนี้ อภ. อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับองค์กรให้มีศักยภาพมากขึ้น

“แม้ว่าขณะนี้ประตูของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังปิดอยู่ แต่ขอให้หน่วยงานด้านยาที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาปัญหาและความจำเป็นเรื่องยาราคาถูกต่อไป เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่งประตูของการทำซีแอลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเปิดอย่างแน่นอน เพราะไม่มีรัฐมนตรีคนใดอยู่ในตำแหน่งได้นานตลอดไป จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน” นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สถานการณ์การใช้ยาของคนไทยขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง การใช้ยาไม่เหมาะสม เกิดขึ้นในหลายลักษณะ ทั้งการใช้ยาฟุ่มเฟือย การใช้ผิดประเภท ซึ่งเกิดจากการความไม่รู้ การส่งเสริมการขายของบริษัทยา ทำให้มีการใช้ชื่อทางการค้าแทนชื่อสามัญ จนใช้ยาซ้ำซ้อนและเกิดอันตรายในบางครั้ง ขณะเดียวกัน ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนก็มีส่วนทำให้เกิดการใช้ยาไม่ถูกต้องได้เช่นกัน ผู้ป่วยไม่มีทางเลือก แม้จะทราบว่ามียาที่ดีกว่า ก็ไม่สามารถใช้ได้เพราะมีราคาสูง เนื่องจากการผูกขาดทางสิทธิบัตรของบริษัทยา ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ และเกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงยาทั้งในประเทศพัฒนาและยังไม่พัฒนา ซึ่งการใช้ซีแอลทำให้รัฐบาลที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา สามารถใช้ยาในราคาที่เหมาะสมได้

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า ปกติการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับยาและนวัตกรรมด้านสุขภาพบริษัทผู้ผลิตยา มักจะเข้ามาสนับสนุนการประชุมสัมมนา ทำให้นิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ถูกครอบงำด้วยการกำหนดเนื้อหาการประชุมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยา รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายสอดแทรก ซึ่งถือเป็นการล้างสมองอย่างหนึ่ง แต่ครั้งนี้เครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้เข้ามาให้การสนับสนุนการประชุม ทำให้ นิสิต นักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับข้อมูลเชิงลึกอย่างอิสระ และถือเป็นการจุดประกายยกระดับความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความเข้าใจต่อไป ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน ถือว่ามีปัญหาในการเข้าถึงยาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การใช้ยาอย่างเหมาะสม และการเข้าไม่ถึงยา ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญ

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านเอดส์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทเรียนการเข้าถึงยาที่ผ่านมาของไทย โดยเฉพาะการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งการเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสเอดส์เป็นตัวอย่างที่สำคัญอย่างมาก โดยปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์ทุกระบบสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์สูตรพื้นฐานได้ 100% แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศซีแอลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์จากการทำซีแอลสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึง 80%
กำลังโหลดความคิดเห็น