xs
xsm
sm
md
lg

ทูตชี้ “ระบอบทักษิณ” ทิ้งปัญหาเพียบ ระบุผลประโยชน์เกาะกงจุดชนวนพลังมวลชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตเอกอัคราชทูตชี้ประเด็นเขาพระวิหารอาจกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ ชี้ “ระบอบทักษิณ” ทิ้งเรื่องไว้เยอะทำให้เกิดประเด็นที่ประชาชนสนใจมาถึงตอนนี้ ระบุหากไม่มีเรื่องผลประโยชน์ “เกาะกง” คนไทยคงไม่ให้ความสนใจมากขนาดนี้ ซัดการปกปิดข้อมูลแถลงการณ์ร่วมปิดหู ปิดตาประชาชน ทั้งที่เขมรเผยแพร่ข้อมูลให้คนทั้งโลกรับรู้ ย้ำเป็นการผูกมัดไทยทางอ้อม

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง “ความเห็นทางกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร” โดย ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะออกมาชี้แจงว่าแผนที่ที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไม่ได้ล้ำเข้ามาในไทย แต่สิ่งที่เป็นคำถาม และกำลังถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ คือ คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2505 นั้น เป็นผลให้ข้อโต้แย้งของไทยในด้านข้อเท็จจริงและในแง่กฎหมายสิ้นสุดไปแล้วหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบกันมาตลอดว่าแม้ไทยจะยอมรับคำตัดสินของศาลโลกแต่เป็นการยอมรับในเรื่องของกฎหมายปิดปาก ไม่ได้ยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและได้สงวนสิทธิ์ไว้มาตลอด และเหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่ขอขึ้นจดทะเบียนเขาพระวิหารร่วมกับกัมพูชามาก่อนหน้านี้ ทั้งที่ทางขึ้นหลักอยู่ฝั่งไทย

“แถลงการณ์ร่วมที่นายนพดลไปลงนามกับกัมพูชานั้น มีความหมายและนัยยะที่สร้างความสับสน โดยเรื่องเขตทับซ้อน จึงไม่แน่ใจว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลโลกและได้สร้างผลผูกพันกับทั้ง 2 ประเทศหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากข้อกังขาต่อตัวรัฐมนตรีการต่างประเทศว่ามีอำนาจไปลงนามหรือไม่นั้น รัฐบาลยังได้คำนึงถึงผลกระทบของไทยและกัมพูชาระยะยาวและประเทศในแถบภูมิภาคนี้หรือไม่ รวมทั้งผลกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศในกลุ่มอาเซียน” ดร.คนึงนิจ กล่าว

ดร.สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวว่า อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ หากเป็นการเมืองภายในถือเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม แต่ประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือประเด็นปัญหาการเมืองภายในกัมพูชา เพราะหากรัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในได้ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาจะนำความสัมพันธ์การต่างประเทศมาเบี่ยงประเด็นเพื่อปลุกระดมชาตินิยม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมมาตลอด ทำให้ฝ่ายหนุน หรือต่อต้านมาแข่งขันกันว่าใครเป็นชาตินิยมมากกว่ากัน เพราะทางฝั่งกัมพูชาเองนั้น ชาวกัมพูชาทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มประชาสังคม เอ็นจีโอ ก็หันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น
ปัญหาอยู่ที่ว่าผลกระทบที่เกิดจากการจดทะเบียนจะเป็นอย่างไรต่อทวิภาคี ส่วนภูมิภาค และด้านการเมือง เมืองไทยนั้นโชคดีมากที่ เมื่ออดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำอะไรทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นประเด็นและจะให้เป็นข้อคิดของสังคมตลอด ซึ่งทำให้คนไทยรู้จักและเปรียบเทียบในเรื่องของระบอบทักษิณว่าเป็นอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร ถ้าหากไม่มีประเด็นที่นำไปผลประโยชน์ในเกาะกง คนไทยเองก็คงไม่สนใจในเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อเรื่องนี้เกิดแดงขึ้นทำให้คนไทยต้องหันกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง

“หากจะให้เป็นประเด็นการเมืองคงเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ สำหรับในอดีตเคยมีปัญหาเกิดขึ้นภายในกัมพูชา เขาจะทำการปลุกระดมกระแสชาตินิยมเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำกัมพูชาทำ และในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประชาชนกัมพูชาจึงติดตามมากเป็นพิเศษ โดยที่รัฐบาลฮุนเซน เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่สนใจสภาวะการเมืองในไทย เพราะกัมพูชาได้เห็นแถลงการณ์ร่วมของเราแล้ว ซึ่งการใช้แถลงการณ์ร่วมเป็นวิธีการที่รัฐบาลไทย ใช้เนื่องจากไม่ต้องผ่านรัฐสภา เรื่องนี้ในสมัยของรัฐบาลที่แล้ว ได้อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจาถึง 4 ครั้ง แต่ฝ่ายกัมพูชาก็บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงการระแวงแก่ประชาชน ส่วนแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลชุดนี้นั้นเป็นเอกสารสาธารณะที่ต้องทำการเปิดเผย แต่ของเราไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ทราบมาก่อน ด้านฝ่ายกัมพูชาเมื่อได้แถลงการณ์ไปก็ทำการเผยแพร่ไปทั่วโลก กัมพูชาจึงมีเจตนาที่จะล็อครัฐบาลไทยไม่ให้เบี้ยวต่อแถลงการณ์ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลของเราดำเนินการหักหลังประชาชน หากบริสุทธิ์ใจต้องเปิดเผยตั้งแต่แรก” ดร.สุรพงษ์ กล่าว

ดร.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การที่ยอมให้กัมพูชาจดทะเบียนฝ่ายเดียว เท่ากับยอมรับว่าล้มเลิกข้อสงวนเมื่อปี 2505 ไปแล้ว ต่อจากนี้ เรื่องที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วโดยขอจดแยกเพิ่มเติม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ให้หายคลายแคลงใจ เพราะหากจริงใจว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ก็น่าจะบอกข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ ว่าเรื่องเขาพระวิหารหากไทยมีข้อมูลใหม่ ก็สามารถคัดค้านต่อศาลโลกใหม่ได้ แต่เมื่อเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง ปลุกชาตินิยม ตนเห็นว่าไม่เสียหาย เพราะเมื่อเราเห็นว่าประเทศชาติเสียหาย เสียเปรียบ ถูกรังแก แต่ไม่เรื่องใช่เรื่องของการแก้แค้น หรือความเป็นชาติที่เหนือกว่ากัน อันนี้เป็นสิ่งที่อันตราย

“ตนไม่อยากให้เรียกว่าพื้นที่ทับซ้อน เพราะเมื่อเป็นของเราเมื่อก่อนหน้านี้ก็ต้องเป็นของเรา แต่กัมพูชาเรียกว่าที่ของเขาก็ไม่เป็นไร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ในส่วนของไทยคงไม่เป็นไร แต่จะอันตรยายในบริบทของความไม่พอใจของชาวกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง คนที่พูดว่าอย่าพูดเรื่องนี้เพราะจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถือว่าไร้สาระ เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้นั่งอยู่เฉยๆ ก็เกิดผลกระทบ เรามีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์กันภายในประเทศ และไม่มีผลต่ออาเซี่ยน เพราะมีกฎในเรื่องของการไม่แทรกเรื่องภายในของกันและกัน ยกเว้นหากไทยและกัมพูชาขอให้อาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ย”

ด้าน รศ.นพนิธิ สุริยะ คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เหตุที่ต้องเถียงว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่นั้น คนที่ตอบได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตนมองตามหลักการแล้วคิดว่าเรื่องที่เถียงกันจะต้องมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ กฎหมายในมาตรา 190 ที่มี 13 ประเภทของสนธิสัญญา หากสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นเข้า 1ใน 13 รัฐบาลก็ต้องทำตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ แต่เมื่อดูแถลงการณ์ร่วมจะเห็นว่า และเทียบกับเกณฑ์สนธิสัญญากรุงเวียนนา จะเห็นว่าถ้อยคำมีเจตนาที่ก่อให้เกิดพันธะหรือข้อผูกพัน เพราะเมื่อดูทีละข้อ จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ เพราะคำว่า agreed แปลว่า ตกลง ดังนั้นเมื่อตกลง ก็ต้องมาทำ ไม่ทำจะตกลงกันทำไม และมาดูว่าตกลงกันเฉยๆ หรือไม่ เมื่อดูข้อ 1 จะเห็นว่าหากเราสนับสนุนหรือชื่นชม ก็มีผลผูกพันแล้ว ส่วนข้อ 5 ที่บอกว่าไม่กระทบต่อสิทธินั้น หมายความว่าหากกระทบ จะทำให้เราเสียสิทธิไปหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น