xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายลุ่มน้ำโขงแถลง ประณามรัฐไร้ธรรมาภิบาล งุบงิบดันโครงการผันน้ำงึมสู่อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน
24 มิ.ย. 2551
ประณามรัฐไร้ธรรมาภิบาล งุบงิบดันโครงการผันน้ำงึมสู่อีสาน


วันนี้ (24 มิ.ย.) คณะรัฐมนตรี โดยการนำของนายสมัคร สุนทรเวช กำลังพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาทเพื่อเร่งรัด “โครงการผันน้ำน้ำงึม - น้ำโขง - ห้วยหลวง – หนองหานกุมภวาปี-ลำปาว-อุบลรัตน์-น้ำชี” เข้า ครม.อย่างเงียบเชียบ งุบงิบ แม้กำลังมีแรงกฎดันจากสถานการณ์ทางการเมืองอย่างมากก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็ก) เรื่องน้ำที่จะทำให้ “รัฐบาลอายุสั้น” อย่างรัฐบาลนายสมัคร มีอยู่มีกินไปได้อย่างสบาย ๆ โดยได้ร่วมมือกับนายทุนจีน กลุ่มธุรกิจการเมือง ธุรกิจก่อสร้าง โครงการเหมืองแร่โปแตซ (ที่มีทุนจีนอยู่เบื้องหลัง) ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคอีสานโดยมีตัวเลขงบประมาณด้านน้ำหลายแสนล้าน โดยแรงจูงใจ คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเกษตรอุตสาหกรรม หาใช่เพื่อประชาชน และเพื่อโครงการชลประทานสำหรับคนอีสานอย่างที่กล่าวอ้างไม่

สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ และ นายสมัคร นายกรัฐมนตรีขี้เหร่ปากไว ไร้ธรรมาภิบาล ไม่มีมโนทัศน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาแถลงเพื่อผลักดันโครงการผันน้ำทั่วประเทศ และโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างน้อยสองเขื่อนคือเขื่อนบ้านกุม จ.อุบลราชธานี เขื่อนปากชม จ.เลย โดยระบุว่า “จะต่อเชื่อมน้ำทางอุโมงค์มาใช้ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย โดยทำอุโมงค์ลัด ส่งมาแบบกาลักน้ำ วางท่อลอดใต้แม่น้ำโขงและโผล่ขึ้นห้วยหลวงประเทศไทย” และนายสมัครยังระบุว่า ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 นี้ จะเดินทางไปจีน เพื่อไปเจรจาเรื่องการสร้างโครงการดังกล่าว โดย “จีนต้องส่งมาอย่างน้อย 3 บริษัท ส่วนจะลงทุนอะไรก็เป็นเรื่องของจีน และจะมีการสร้างอุโมงค์ยาว 80 กิโลเมตรจากท้องน้ำเลย เพื่อปล่อยมาที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งสามารถเติมน้ำให้แม่น้ำพองและแม่น้ำชีได้”

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ขอประณามขบวนการไร้ธรรมาภิบาล และการตัดสินใจนโยบายสาธารณะผันน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว-เขื่อนอุบลรัตน์ ที่กำลังจะอนุมัติงบประมาณในวันนี้โดยไร้กระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการประชาพิจารณ์ และไม่คำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุทกวิทยา ธรณีวิทยา การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็มในภาคอีสานจากโครงการดังที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากโครงการโขง-ชี-มูล ในอดีต ซึ่งกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติตั้งแต่ปี 2537 ให้หยุดการผันน้ำจากลำน้ำโขงในโครงการชี-มูล ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาการแก้ปัญหาผลกระทบดินเค็มที่ชัดเจน แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการศึกษาที่ชัดเจนแต่อย่างใด

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ขอแถลงจุดยืนคัดค้านโครงการผันน้ำสู่อีสานที่จะดำเนินการ และโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ด้วยเห็นว่า รัฐบาลไทย กำลังเร่งอนุมัติงบประมาณ เพื่อจะได้กินอย่างมูมมามก่อนจะสิ้นอายุขัย ถือเป็นการดำเนินการที่ไร้ความชอบธรรม และเราจะไม่ยอมรับการดำเนินใดๆ ของโครงการนี้

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
24 มิถุนายน 2551

คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าน้ำพอง 2-อุดรธานี 3 อุดรธานี
กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน อุดรธานี
เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน อุดรธานี
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา อุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ขอนแก่น
โครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำพอง ขอนแก่น
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำห้วยสายหนัง จ.ขอนแก่น
โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นขอนแก่น
องค์กรชาวบ้านป่าดงลาน จ.ขอนแก่น
เครือข่ายลุ่มน้ำชี-มูนขอนแก่น
สมาคมเพื่อนภู ขอนแก่น
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน มหาสารคาม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มหาสารคาม
เครือข่ายป่าไม้-ที่ดินภาคอีสาน มหาสารคาม
สภาหมอพื้นบ้านภาคอีสาน มหาสารคาม
สถาบันชุมชนชาวนา มหาสารคาม
โครงการความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ลำปะทาว ชัยภูมิ
โครงการจัดการทรัพยากรต้นน้ำเซิน ชัยภูมิ
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำพรม ชัยภูมิ
เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ชัยภูมิ
ศูนย์นิเวศชุมชนศึกษา ชัยภูมิ
โครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นต้นน้ำพอง-ป่าสัก เลย
มูลนิธิเลยเพื่อการ อนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน เลย
มูลนิธิพัฒนาอีสาน สุรินทร์
สถาบันชุมชนอีสาน สุรินทร์
สมาคมป่าชุมชนอีสาน สุรินทร์
ศูนย์ข้อมูลอีสาน สุรินทร์
โครงการทามมูล สุรินทร์
ศูนย์ตะบัลไพร สุรินทร์
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง สุรินทร์
สมาคมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนลุ่มน้ำสงคราม นครพนม
ชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม สกลนคร
เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูน อุบลราชธานี
กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง หนองบัวลำภู
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เขวาโคก ร้อยเอ็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น