xs
xsm
sm
md
lg

“ชีวิตที่ (จำ) ต้องสู้” ของ นร.ทุนแกรมมี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการพูดคุยกับนักเรียนทุนก่อนการแถลงข่าวการมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิดำรงชัยธรรมรุ่นที่ 10
ในวินาทีเดียวกับที่ลูกคนรวยบางคนหอบเงินไปซื้อยาเสพติดมาพี้กันอย่างสนุกสนาน, ในวินาทีที่วัยรุ่นหลายๆ คนกำลังใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดราคาเรือนหมื่น โทร.นัดเพื่อนออกไปกินมื้อเย็นในห้างหรู หรือในวินาทีที่โจ๋วัยเลย 18 กอดคอเพื่อนร่วมก๊วนเดินเข้าเธคเพื่อดริงค์แอนด์แดนซ์

มันอาจจะเป็นวินาทีเดียวกับที่เด็กอีกหลายๆ คน กำลังรับจ้างถางหญ้า รับจ้างพิมพ์งาน หรือกระทั่งขอเป็นคนรับใช้ในบ้าน เพื่อหาเงินเพียงไม่กี่สิบบาท สะสมเอาไว้เพื่อเรียนหนังสือ เพื่อเป็นค่าอาหารใส่ปากใส่ท้องไปวันหนึ่งๆ …และนี่คือ เรื่องจริงของโชคชะตาสุดเศร้ายิ่งกว่าชีวิตน้ำเน่าในละครไทย ของเหล่านักเรียนทุนดำรงชัยธรรม

บิว-นันทพร มาอุ่น เด็กสาววัย 15 ที่พจนานุกรมชีวิตของเธอ ได้บันทึกความหมายของคำว่า “สูญเสีย” ตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบ...บิวเสียพ่อตั้งแต่อยู่ป.1 และเมื่อถึงป.6 แม่ก็มาจากไปอีกคน เสียงสะอื้นถี่ๆ ทำให้การเล่าประวัติชีวิตเป็นไปได้อย่างกระท่อนกระแท่น

“ตอนพ่อตาย ก็เหลือแม่ แต่พอแม่ตาย ก็ต้องดูแลตัวเอง ทั้งค่ากิน ค่าเช่าห้อง ค่าเล่าเรียน ทุกค่าใช้จ่าย หนูต้องหาเอง”

เธอต้องรับจ้างป้าข้างบ้านทำงานบ้าน และรับจ้างคนในละแวกเดียวกันที่สงสารลูกกำพร้าอย่างเธอ รายได้จากการทำงานบ้านได้วันละ 50 บาท แต่เด็กสาวก็ไม่เคยย่อท้อ จุดมุ่งหมายเดียวของเธอคือต้องการจะเรียนให้สูงกว่าระดับมัธยมปลาย

“เก็บเงินสามปีช่วงม.ต้น ก่อนขึ้นม.4หนูมีเงินประมาณ 20,000 บาท ซึ่งมันพอสำหรับเรียนต่อม.4-5-6 แต่ไม่พอสำหรับเรียนมหาวิทยาลัย หนูอยากเรียนต่อ อยากจะเรียนหมอ” น้องบิวจบการเล่าประวัติย่อๆ และความฝันของตัวเองเอาไว้เท่านั้น

“พ่อผมค้ายา...” ประโยคขึ้นต้นง่ายๆ ของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี หนึ่งในผู้รับทุน “ดำรงชัยธรรม” รุ่นที่10 ในยามที่เขากล่าวถูกปูมหลังชีวิต พร้อมทั้งให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า ภายหลังเมื่อตำรวจได้เบาะแสการทำผิดของบิดาบังเกิดเกล้า ก็ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย พ่อจึงได้พาแม่และลูกอีก 9 คน ข้ามพรมแดนหนีอาญาบ้านเมืองไปอาศัยอยู่ฝั่งลาว

“ยิ่งไปอยู่ที่โน่น พ่อยิ่งขยายเครือข่าย เขาอยากจะเลิกเหมือนกัน แต่เลิกไม่ได้ อาชีพแบบนี้ เข้าไปทำได้อย่างเดียว เลิกทำไม่ได้ นั่นทำให้พ่อแม่ของผมทะเลาะกัน เพราะแม่อยากให้พ่อเลิกทำ แต่พ่อก็ไม่ฟัง แล้ววันหนึ่ง พ่อเดินออกไปจากบ้าน...แล้วพ่อก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย” เช้ง-เอกพันธ์ แซ่เห้อ บอกเล่าด้วยรอยยิ้มเศร้าๆ

เช้ง เล่าต่อไปอีกว่า หลังจากนั้น แม่ก็หอบลูกทุกคนเข้ามาฝั่งไทย และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่โดนอะไร เพราะพ่อเท่านั้นที่ทำผิด แม่และลูกๆ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งคืนทะเบียนบ้านให้ นั่นเป็นสมบัติอย่างเดียวที่มี เพราะวันที่พ่อเขาหอบครอบครัวหนีคดี พวกเขาไปกันแต่ตัว พอกลับมา ก็เหลือแต่ตัวเช่นกัน

“ผมอยากเรียนต่อ แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน แต่ถ้าผมได้เรียน ผมอยากเรียนหมอ” เช้งเอ่ยถึงความฝันของเขา

ด้าน เด็กสาวชาวมูเซอ “นาสอ แอกุ่ย” อายุ 16 ปี เจ้าของเกรดเฉลี่ย 3.66 ที่เกิดบนแผ่นดินไทย ตอนพ่อแม่ได้สัญชาติไทยแล้ว แต่เธอขอสัญชาติไทยมาหลายปี ทางอำเภอก็ยังไม่ออกให้เสียที ทำให้โอกาสทางการศึกษาต่อของเธอ แทบจะเรียกได้ว่า “ดับวูบ”

“ไม่ว่าทุนไหนๆ ส่วนใหญ่จะระบุว่าต้องสัญชาติไทย หนูเลยไม่มีสิทธิที่จะไปสอบหรือไปขอ”

ไม่ใช่เพียงเฉพาะสิทธิการขอทุนเท่านั้น เด็กสาวยังถูกจำกัดสิทธิกระทั่งการเดินทางออกนอกจังหวัดด้วย

“ไม่เคยเห็นทะเล จนจบ ม.6 ครูที่โรงเรียนพาไปทั้งระดับ เลยไปได้ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นทะเล อยากไปมาก แต่คิดที่เค้าไม่ให้หนูออกนอกจังหวัด พอได้ไปดีใจมาก หนูชิมน้ำทะเลด้วย” นาสอ กล่าว

เมื่อพูดถึงความฝันของเธอ เด็กสาวมูเซอกล่าวว่า อยากเป็นพยาบาลเพราะได้แรงบันดาลใจจาก ยายที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่ 1 ขวบ ภายหลังพ่อแม่หย่ากันและทิ้งเธอไป

“ยายอายุมากแล้ว แถมป่วยออดๆ แอดๆ ส่วนพวกเพื่อนบ้านก็เป็นชาวเขา เข้าถึงการรักษาน้อย เดินทางไปหาหมอทีก็ลำบาก หนูอยากเป็นพยาบาล จะได้กลับไปดูแลคนเหล่านี้”

ชะตากรรมของเยาวชนที่มิอาจเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่ได้รับสัญชาติมิได้มีเพียงนาสอคนเดียว เพราะในหมู่นักเรียนทุนรุ่นเดียวกันยังมีหนุ่มน้อยร่างผอมอย่างเจ้าของชื่อพยางค์เดียวและไร้นามสกุลอย่าง “เท่ย”

“พ่อแม่ทิ้งผมไว้กับตายาย ซึ่งผมค่อนข้างอึดอัด ยายไม่ชอบพ่อผม เพราะพ่อผมเจ้าชู้ มันมีแรงกดดันในบ้าน เวลากินข้าวมันก็อึดอัด ผมเลยตัดปัญหาไม่กินข้าวบ้าน ไปกินที่โรงเรียนเอามื้อเดียวเลย ก็กินวันละมื้อ” เท่ยเฉลยที่มาของหุ่นผอมๆ ของเขา

หนุ่มต่างด้าวผู้ใฝ่ฝันอยากได้สัญชาติไทยคนนี้ เล่าประวัติชีวิตอย่างคร่าวๆ ว่า เขาเป็นคนมอญ ทำเรื่องขอสัญชาติมาหลายปีแล้วแต่ทางอำเภอยังไม่ให้ ทำให้เขาไม่สามารถขอทุนหรือสอบทุนใดๆ ได้เช่นเดียวกับนาสอ

“ตอนผมอยู่ ม.1 พ่อแม่กลับมา แต่ไม่นานก็ทะเลาะกัน แม่ผมหนีออกจากบ้านไป พ่อกับผมเลยถูกยายไล่ออกจากบ้าน พ่อเลยออกไปกับภรรยาใหม่ ส่วนผมไปขออาศัยนอนที่หอพักโรงเรียน โรงเรียนก็ให้อยู่แบบไม่คิดเงิน ผมโชคดีที่ผมพิมพ์งานเป็น ผมก็รับจ้างอาจารย์ที่โรงเรียนพิมพ์งานบ้าง ทำความสะอาดบ้าง รับถางหญ้าด้วย ได้วันละ 80 ผมก็พยายามเก็บไว้ใช้จ่ายระหว่างเรียน”

เท่ย ยอมรับว่า หากเปรียบเทียบกับนักเรียนทุนคนอื่นๆ เขาโชคดีกว่ามาก ที่อย่างน้อย เขาก็ยังมีพ่อแม่ เพราะสุดท้ายแม่ก็กลับมาและรับเขาไปอยู่ด้วยในที่พักของนายจ้างที่เช่าเขาอยู่ ส่วนพ่อก็กลับมาอยู่กับแม่ แม้จะมีการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ เท่ย ก็ยังมีความสุขที่อยากน้อย ผู้ให้กำเนิดของเขาก็ยังอยู่กับเขา

“ผมอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นความใฝ่ฝันของผม แต่ผมรู้ว่ามันยาก สิ่งที่ผมตั้งใจก็คือ เรียนอะไรก็ได้ที่หางานง่าย ผมต้องหาเงินมาซื้อบ้านให้แม่ ผมอยากให้แม่มีบ้านอยู่ ไม่ต้องเช่าเขา ผมคิดว่าอาจจะไปเรียนบริหารคอมพิวเตอร์ เพราะน่าจะหางานได้หลากหลาย

แต่ตอนนี้ผมกำลังคิดจะไปช่วยวิทยุชุมชนจัดรายการเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ผมคิดว่าผมชอบ และผมพูดไทยชัด ผมเกิดบนแผ่นดินประเทศไทย ผมพูดภาษาไทยชัดครับ แม้ว่าผมจะไม่ได้รับสัญชาติก็ตาม” น้ำเสียงที่บอกเล่าประโยคสุดท้ายแฝงไว้ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

และสำหรับนักเรียนที่จำต้องศึกษาอยู่ท่ามกลางห่ากระสุนและควันระเบิดอย่าง “น้องฟา” ฮานีฟา แวมามุ นักเรียนโรงเรียนสตรียะลา ที่แบ่งปันประสบการณ์ว่า บ่อยครั้งที่เธอต้องเจอประสบการณ์ระทึก อย่างเสียงปืนที่ดังขึ้นข้างๆ โรงเรียน , คนรู้จักถูกทำร้ายเสียชีวิต หรือที่เธอกล่าวว่า “กลัวที่สุดในชีวิต” คือเหตุการณ์คนร้ายหนีตำรวจเข้ามาในโรงเรียน

“ครูต้องเรียกนักเรียนทั้งหมดกว่า 500 คน มารวมกันในห้องเล็กๆ เพื่อความปลอดภัย เราก็นั่งอยู่ในนั้นรอพ่อแม่มารับ”

เมื่อถามถึงอาชีพที่เธออยากเป็น น้องฟาตอบทันทีว่าอยากเป็นพยาบาล

“แต่หนูไม่อยากเป็นพยาบาลห้องแอร์ อยากเป็นพยาบาลที่มาดูแลคนป่วยในหมู่บ้านของหนูมากกว่า”

...และนี่คือตัวอย่างชีวิต (จำ) ต้องสู้ของเด็กและเยาวชนที่หนทางชีวิตของเขา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกคนมีผลการเรียนในระดับเกิน 3.5 ทั้งนั้น แต่ด้วยเหตุผลหลากหลายรูปแบบ เขาทำให้เขาไม่มีกำลังพอจะเข้ารับการศึกษาต่อได้ แต่ในวันนี้ ฝันของเด็กเหล่านี้ถูกทำให้เป็นจริงแล้ว ด้วยทุนการศึกษาของมูลนิธิดำรงชัยธรรม ได้ทำให้ความฝันอันเลือนรางของทุกคน กลับกลายสว่างไสวและจับต้องได้

ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าได้รับทุนและมีสิทธิเรียนต่อนั้น ทุกคนดูเหมือนจะรู้สึกคล้ายๆ กันว่า “ดีใจจนแทบร้องไห้” เพราะโอกาสทางการศึกษาที่พวกเขาได้รับนั้น มิได้แปลถึงการรู้หนังสือแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงอนาคตในการพัฒนาตนเอง และโอกาสในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวด้วย ...อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราคงจะได้มีเยาวชนคนเก่งหลากหลายสาขาที่จบการศึกษาจากทุนดังกล่าว ที่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นกำลังที่สำคัญของสังคมต่อไป
น้องฟา
น้องนาสอ
น้องเท่ย
น้องบิว
น้องเช้ง
บรรยากาศการพูดคุยกับนักเรียนทุนก่อนการแถลงข่าวการมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิดำรงชัยธรรมรุ่นที่ 10
กำลังโหลดความคิดเห็น