xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับ กรุยทางเข้า MBA ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถามที่คนที่ตั้งเป้าว่าอยากเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) ในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของต่างประเทศ มักจะพบบ่อยๆ คือ ทำไมจึงต้องเรียน MBA? หากเหตุผลคือ ใครๆ ก็เรียนกัน พ่อแม่อยากให้เรียน ไม่รู้จะเรียนอะไรดี อยากไปเที่ยวเมืองนอก หรือคิดว่าเรียนสาขานี้แล้วเท่ดี แหม...อย่างนี้เรียกไม่มีเหตุผลจะดีกว่า

แต่หากต้องการฝึกทักษะการทำธุรกิจ การตลาด การเงิน การบริหารและการบัญชี อยากเปลี่ยนงานด้านการบริหาร อยากได้เงินเดือนสูงๆ อยากทำธุรกิจส่วนตัว อยากเป็นผู้บริหาร นี่ต่างหากคือเหตุผลที่มาถูกทาง

** ทำไมต้อง MBA?
ปิยะ ซอโสตถิกุล
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตนักเรียนทุนปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA)มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา แนะเคล็ดลับในการเลือกสถาบันในต่างประเทศ ในงานแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพว่า คนไทยส่วนใหญ่จะยึดติดชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมากกว่าสนใจว่าตนอยากเรียนสาขาใด เป้าหมายอยากศึกษาอะไร จะเรียนรู้เรื่องอะไร นอกจากนี้ส่วนมากมักแห่ไปในเมืองใหญ่ๆ โดยไม่ได้ศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของมหาวิทยาลัยเท่าที่ควร

“เอ็มบีเอมีหลายแขนงขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะถนัดและมีความชำนาญด้านใด หากต้องการเรียนด้านการบริหารจัดการ เกมกลยุทธ์ และฝึกฝนความเป็นผู้นำต้องที่ฮาร์วาร์ดแต่ถ้าอยากเป็นคนทำงานเก่งต้องเอ็มไอที จุดเด่นด้านการตลาดแนะนำมหาวิทยาลัยเคลล็อก นิวแฮมเชียร์”

แต่หากใครพลาดจากมหาวิทยาลัยท็อปในสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิต เพราะปัจจุบันในออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งอินเดียมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีแนวทางการสอนแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกาแต่ค่าเล่าเรียนถูกกว่าก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

“อย่าไปสนใจการจัดอันดับสถาบันมาก ต้องวิเคราะห์และดูเป้าหมายว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร อยากอยู่เมืองที่อากาศดี หรือต้องการความเป็นอินเตอร์ หรือต้องการเทกคอร์สนานแค่ไหน ซึ่งเรื่องเวลาเป็นตัวหนึ่งในการตัดสินใจ เพราะแต่ละที่จะมีเวลาสอนไม่เท่ากัน อันนี้ต้องดูให้ดีว่าต้องการหลักสูตรอะไร แต่ละโรงเรียนเขาสอนกันอย่างไร แล้วค่อยๆ เลือก นอกจากนี้ยังต้องดูต้นทุนในมือด้วยว่าเพียงพอจะเรียนได้ที่ไหน ไม่ใช่เพราะการเลือกมหาวิทยาลัยที่อันดับสูงๆ แต่กลับไม่ได้นำมาใช้งานได้ถูกต้อง” อดีตนักเรียนทุนฮาร์วาร์ดให้แง่คิด

** สูตรไม่ลับต้นฉบับนักเรียนทุน
สำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันและมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเรียนเอ็มบีเอของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้ได้ก็มีเคล็ดลับเพื่อกรุยทางเข้าเรียนต่อได้อย่างได้ผล ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายเหมือนปอกกล้วย เพราะแต่ละขั้นตอนมีเทคนิคซ่อนอยู่แทบทั้งสิ้น เริ่มต้นต้องก้มมองดูคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับปริญญาตรี (GPA) ในมือเสียก่อนว่าอยู่ในระดับ 3.00 ขึ้นไปหรือไม่ เพราะการรับนักเรียนของมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้นส่วนใหญ่จะพิจารณาจากGPA และอันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศ บางคณะจะระบุGPA เช่น การเงิน การบัญชี การตลาด GPA รวมต้องอยู่ที่ 3.5 ขึ้นไป แต่กรณีที่น้อยกว่า 3.00 ก็ต้องอาศัยผลการสอบ GMAT และคุณสมบัติอื่นๆ

สำหรับ GMAT ก็คือ ข้อสอบเพื่อทดสอบความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และการวิเคราะห์ธุรกิจ ประกอบด้วย การเขียน ทักษะคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งที่สำคัญระดับต้นๆ สำหรับการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยดังๆ ในโลก เพราะเป็นการวัดผลระดับสากล เทคนิคสำคัญในการสอบ GMAT คือ การท่อง ฝึกฝนทำแบบฝึกหัดทุกวัน โอกาสที่จะได้คะแนนสูงก็มากขึ้น หาโอกาสเรียนเพิ่มเติมเพื่อวัดระดับคะแนน

“ข้อสอบ 1 ส่วนต้องใช้เวลา 25 นาที ให้ลองทำในซอฟต์แวร์ แล้วกลับมาอ่านทวน ตรวจทันที สังเกตจะผิดข้อซ้ำๆ และทำถูกในข้อเดิมๆ จากนั้นก็วิเคราะห์และลองทำใหม่จะเข้าใจมากขึ้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสอบGMAT คือหลังเรียนจบปริญญาตรีเพราะความจำยังดี และมีเวลาก็สอบไว้ซึ่งผลสอบสามารถเก็บได้นาน 5 ปี แต่ไม่แนะนำให้สอบหลายครั้งเพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยไม่แน่ใจในผลสอบและไม่แน่ใจว่าเราเก่งจริง ดังนั้นต้องมั่นใจแล้วค่อยสอบจะดีกว่า” ปิยะ แนะเทคนิค

นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ยังเผยเคล็ดลับที่เคยใช้ในช่วงสมัครว่า การใช้ระยะเวลาในการสมัคร(Timing ) ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะแบ่ง 3 ช่วงนั้น ควรจะรีบสมัครในรอบแรก โดยใช้กลยุทธ์ 4-3-2 = 9 คือสมัคร 9 โรงเรียน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Long short เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุด ให้เลือกไว้ 4 แห่ง กลุ่มที่สอง 50/50 เลือกมหาวิทยาลัยที่เข้าไม่ยากจนเกินไปแต่ก็ถือว่าไม่ง่ายเสียทีเดียว เลือก 3 แห่ง และสุดท้ายกลุ่มBack Up จัดเป็นสถาบันที่มีโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกสูงถึง70-80 เปอร์เซ็นต์ เลือก 2 แห่ง

“ถ้าสมัครน้อยที่เกินไปโอกาสที่เราจะได้ก็น้อยด้วย แต่หากสมัครหลายที่ก็แพง ทางที่ดีต้องประเมินตัวเองดีกว่าว่าสามารถเข้าเรียนที่ไหนได้จะดีกว่า”นักเรียนทุนฮาร์วาร์ด กล่าว

** เตรียมตัวลงสนาม หาประสบการณ์ชีวิต
ปิยะ เล่าถึงการนำเสนอจุดขายสำหรับผู้สมัครเรียนต่างประเทศ ว่า การเขียนเรียงความแนะนำตัว (Essay,CV and Rasume) ต้องเขียนให้มีลำดับขั้นตอน มีโครงสร้างที่ดี คอนเซ็ปต์หลุดโลกมักไม่ได้ผล แต่แนวทางต้องมีความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอข้อแตกต่างและจุดแข็งของตนเองให้มากที่สุด สิ่งที่โรงเรียนธุรกิจต้องการคนที่เก่งเรื่องคน มีทักษะการจัดการ เป็นผู้นำ สร้างสรรค์และทำงานเป็นทีม

“อย่าบอกในสิ่งที่ผู้คัดเลือกรู้อยู่แล้ว เช่น ผลการเรียน ซึ่ง 20% ของเด็กไทยชอบเขียนข้อนี้ ซึ่งคุณจะต้องบอกสิ่งที่สามารถแชร์ในห้องเรียนโดยบอกในสิ่งที่เราศึกษาและรู้จักเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้จะต้องมีความแตกต่างด้วย ต้องเข้าใจว่าอะไรสำหรับต่างชาติธรรมดา และอะไรเป็นสิ่งพิเศษ สิ่งที่เขียนใน Essay จะเป็นสิ่งที่เราต้องตอบคำถามในวันที่สอบสัมภาษณ์ด้วย ตัวอย่างเช่น อะไรคือข้อผิดพลาดในชีวิตคุณ? จุดอ่อน และจุดแข็งของคุณคืออะไร? ทำไมต้องเป็น MBA และทำไมต้องเป็นเวลานี้”

อย่างไรก็ตาม จดหมายแนะนำตัวจะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าขาดประสบการณ์ที่น่าสนใจ และกิจกรรมที่แตกต่าง ดังนั้นคนที่วางแผนว่าเรียนจบปริญญาตรีแล้วต้องสอบปริญญาโทต่อ ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งที่สถาบันระดับโลกต้องการจากนักเรียนคือประสบการณ์การทำงานที่สามารถแบ่งปันในห้องเรียนได้ นอกจากนี้หากมีกิจกรรม งานอดิเรก (Activities) ที่แตกต่างออกไปจะทำให้ประวัติของเรามีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เช่น การทำงานพิเศษ หรือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว

“มหาวิทยาลัยชั้นนำแทบจะไม่มีนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์เลย หรือเป็นพวกปล่อยวันหยุดให้ว่าง หรือเอาแต่เรียนอย่างเดียว ดังนั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานเลยหมดสิทธิ์ได้ง่ายมาก สิ่งที่เขาสอนในมหาวิทยาลัยคือสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ ถ้าอยากเข้าใจในสิ่งที่เขาสอนจะต้องทำงานก่อน อันนี้สำคัญมาก ความเป็นผู้ใหญ่ การออกความเห็นในห้องเรียนได้คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยดังๆ ต้องการซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะโผล่ในหนังสือแนะนำตัว และจะเป็นคำถามในการสอบสัมภาษณ์ด้วย” ปิยะให้ภาพ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องมีในหนังสือแนะนำตัว ก็คือ Recomendation หรือบุคคลอ้างอิง ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนของคนไทยที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่จะให้คนที่มีตำแหน่งใหญ่โตเขียนให้ ซึ่งจริงๆ แล้วการเขียนแนะนำ หรือหาบุคคลอ้างอิงจะต้องให้คนที่รู้จักและคลุกคลีกับผู้สมัครเป็นอย่างดี เช่น หัวหน้างานที่สามารถบอกผลงานและข้อดีได้ดีที่สุด โดยข้อแนะนำสำหรับการเขียนอ้างอิงนี้จะต้องเขียนให้เห็นภาพ เช่น ผลงานที่ผ่านมาสามารถสร้างผลประกอบการให้องค์กรได้ดีแค่ไหน หรือบทบาทความเป็นผู้นำของผู้สมัครเป็นอย่างไร เป็นต้น

และเมื่อต้องไปสอบสัมภาษณ์ (interview) ขาดไม่ได้เลยก็คือการเตรียมตัว โดยจะต้องศึกษาข้อมูลของโรงเรียนให้ได้มากที่สุด โดยแหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ดีที่สุดเวลานี้หนีไม่พ้นอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สามารถเรียนรู้ลักษณะที่ตั้งเมือง สภาพอากาศ อาหาร ผู้คน ไม่เพียงเท่านี้สิ่งที่ต้องทำให้คุ้นก็คือ การฝึกซ้อมสัมภาษณ์โดยหาคู่ซ้อมทดลองตั้งคำถาม สิ่งสำคัญสำหรับเด็กไทยเมื่อไปสัมภาษณ์คือ เวลา จะต้องไปก่อนเวลาให้นานเพียงพอที่จะเหลือสำหรับเตรียมตัว สร้างความมั่นใจ และยิ้ม เตรียมข้อมูลศึกษาข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ทั้งของไทยและต่างประเทศ

สำหรับเทคนิคสุดท้ายซึ่งอาจจะเป็นเทคนิคเฉพาะสำหรับนักเรียนไทย นั่นคือ หาที่พึ่งทางใจด้วยการบนบาน หรืออาศัยโชคช่วย ศาลเจ้าใดศักดิ์สิทธิ์ หรือวัดใดขึ้นชื่อต้องถือว่านักเรียนหรือผู้ปกครองไทยไปมาแล้วแทบทั้งสิ้น ซึ่งอดีตนักเรียนทุนฮาร์วาร์ดเมื่อ 12 ปีที่แล้วยอมเปิดเผยว่านี่เป็นเคล็ดลับที่เขาเองก็เคยใช้และได้ผลมาแล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น