xs
xsm
sm
md
lg

“เคาช์โปเตโต้” คุกคามเด็กไทย หวั่นเพาะโรคร้ายในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถานการณ์สุขภาพเด็กไทยใกล้วิกฤต พบพฤติกรรม “เคาช์โปเตโต้” คุกคามหนัก ทำเด็กไทยเฉื่อย และเป็นโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 8 จิตแพทย์หวั่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายในอนาคต แนะชวนเด็กออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมงลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เด็กไทยมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเป็น “เคาช์โปเตโต้” (couch potato) หรือคนที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี วิดีโอ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ซึ่งทำให้เป็นโรคอ้วน

การศึกษาล่าสุดพบว่า ในจำนวนเด็กไทยอายุ 2-18 ปีทั่วประเทศจำนวน 17.6 ล้านคน มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนมากถึงเกือบ 1.5 ล้านคน กลุ่มวัยรุ่นเป็นโรคอ้วนมากที่สุดเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ มากมายในอนาคต เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ การสื่อสาร การเข้าสังคมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นด้วย

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเสริมว่า สาเหตุของพฤติกรรม “เคาช์โปเตโต้” มาจากการที่เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกมวีดิโอหรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป

“พ่อแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่มักปล่อยให้ลูกดูทีวี เล่นเกม เพื่อจะได้ไม่มายุ่งกับพ่อแม่เวลาทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่นๆ หลายคนคิดว่าการดูโทรทัศน์และเล่นคอมพิวเตอร์เป็นการให้ความรู้ และปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตราย แต่จริงๆ แล้วนั่นคือการกักขังเด็ก เด็กอาจจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ แต่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาทางกายตามที่ควรเป็น แขนขาไม่ได้ใช้งาน ขาดโอกาสที่จะได้ฝึกการโต้ตอบ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะได้เรียนรู้แต่การรับอย่างเดียว ทำให้พูดช้า เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สมาธิสั้น และเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย”

ผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยร้อยละ 67.8 เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นประจำเฉลี่ยครั้งละ 2.42 ชั่วโมง ดูโทรทัศน์ 1-7 ชั่วโมงต่อวัน และมีเด็กจำนวนมากที่ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมไปรับประทานอาหารไปจนอ้วน หรือบางคนก็ไม่รับประทานอาหารเลยจนขาดสารอาหาร บางคนอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว

จิตแพทย์แนะนำว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากภาวะเคาช์โปเตโต้ ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น หากจะเล่นเกมหรือดูทีวี ก็ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงสำหรับเด็กโตและ 30 นาทีสำหรับเด็กเล็ก

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการศึกษา ครอบครัว ภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันพฤติกรรม “เคาช์โปเตโต้” โดยโรงเรียนควรเพิ่มเวลาออกกำลังกายหรือเรียนพลศึกษาในโรงเรียน การจัดให้มีสนามเด็กเล่น ลานกิจกรรมและสันทนาการในชุมชนอย่างทั่วถึง การใช้เวลากับครอบครัวอย่างมีคุณภาพ เช่น แทนที่พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กนั่งอยู่หน้าทีวีหรือคอมพิวเตอร์ ก็ชวนกันทำงานบ้าน ออกไปวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน เพื่อสุขภาพดีอย่างมีคุณภาพ” แพทย์หญิงอัมพร กล่าว

องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า เด็กในวัยเรียนควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วันละ 60 นาทีเพื่อให้มีสุขภาพดี และสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปวันละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อให้โครงสร้างและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น