โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นวินิจฉัยได้ไม่ยากนัก แต่ต้องได้ประวัติที่ละเอียดถูกต้อง และได้สังเกต รวมทั้งทดสอบเด็กเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองนิ่งเฉยปล่อยไว้โดยไม่หาทางรักษา เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีปัญหาด้านภาวะทางอารมณ์ตามมา
พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา รพ.มนารมย์ เปิดเผยว่า อาการของโรคสมาธิสั้น เป็นอาการที่คนทั่วไปก็มีได้ เพียงแต่มีข้อแตกต่างกันอยู่ที่ว่าเด็กที่แพทย์เรียกว่าเป็น “โรค” จะต้องมีอาการต่างๆ ที่เป็นส่วนใหญ่ของการใช้ในชีวิตประจำวัน และอาการนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็เป็นอย่างต่อเนื่องอยู่นานกว่าเด็กอื่นๆ ซึ่งมีระดับพัฒนาการปกติ มีระดับสติปัญญาเท่าๆ กัน และมีอายุเท่าๆ กัน โดยแพทย์จะมีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าอย่างน้อยๆ ผู้นั้นจะต้องมีกลุ่มอาการที่นับได้หลายๆ อาการถึงขั้นที่กลุ่มอาการของโรคนั้นๆ กำหนดไว้จึงจะสรุปว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งได้
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีอาการสมาธิบกพร่อง ซึ่งอาจจะร่วมกับอาการหุนหันพลันแล่นและอยู่ไม่นิ่งด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยมีอาการนานอย่างน้อย 6 เดือน จนทำให้เกิดผลเสียอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ผลเสียต่อการเล่น ต่อการเรียน ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น โดยที่แพทย์ไม่พบว่าอาจจะเป็นจากสาเหตุอื่นๆ จากการได้ถามประวัติและตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของระบบประสาท และสภาพจิตเด็กพอสมควรแล้วตามระดับพัฒนาการที่ควรจะเป็น
คำพูดที่พ่อแม่และครูที่มีลูกหรือลูกศิษย์เป็นโรคสมาธิสั้น ที่มักจะได้ยิน คือ “ไม่ชอบเล่นเงียบๆ หรือเล่นอะไรที่ต้องนั่งนิ่งๆ จะชอบเคลื่อนไหว ชอบทำเสียงดังๆ” “ตั้งแต่เดินได้ก็ซนตลอด แทบไม่เคยหยุดเลย” “คลาดสายตาไม่ได้ กลัวจะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ” “เมื่อไหร่จะจำได้ซักที ทำผิดซ้ำๆ อีกแล้วนะ” “ดื้อจริงๆ สอนไม่เคยจำ” “ทำไมเวลาครูพูดเธอถึงไม่ฟังอยู่เรื่อย” “ไม่ตั้งใจทำเลย ห่วงแต่เล่น” “คำพูดแม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาหมด” “ถ้าไม่นั่งเฝ้าให้ทำการบ้านตลอดเวลาละก้อ ไม่มีทางทำเสร็จ” “เอาของไปโรงเรียนต้องมีหาย หรือ เกินแทบทุกวัน” “เมื่อคืนท่องศัพท์จำได้หมด แต่ตอนเช้าทำไมลืมหมด” เป็นต้น
พญ.เพียงทิพย์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดปัญหาระยะยาวต่อเนื่องจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ได้ตลอดชีวิต อาทิ ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบด้าน ความนับถือตนเองและความเชื่อมั่นในตนเองลดต่ำลงเรื่อยๆ มีการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบ่อยๆ สูบบุหรี่และใช้สารเสพติด มีการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ปัญหาในการทำงาน การประกอบอาชีพและการจ้างงาน ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
และเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังเป็นโรคนี้อยู่จะมีอาการใจร้อน โผงผาง ขวานผ่าซาก มักพูดจาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม อารมณ์ขึ้นเร็ว ลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว ไม่ค่อยคิดก่อนทำ ทนความเครียด และความคับข้องใจไม่ค่อยได้ ว่อกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ฯลฯ
การช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องนั้นปัจจุบัน วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดีคือการให้ยาเพิ่มสมาธิร่วมกับการฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยและผู้ดูแลและปรับ สภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยและผู้ปกครองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นให้ดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ปกติสุข