“หมอประเสริฐ” เตือนคนลงเล่นน้ำห้วย หนอง คลองบึง เสี่ยงโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง เหตุอะมีบาเติบโตดี ภาวะโลกร้อน ส่งผลแหล่งน้ำธรรมชาติร้อนขึ้น ชี้จับตาโรคลีเจียแนร์ หรือโรคสหายสงคราม ติดเชื้อจากหอผึ่งเย็น สปา น้ำพุ เครื่องพ่นละอองฝอยแพร่เชื้อ
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี ในการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 16 ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของโรคในภาวะโลกร้อน” ว่า ภาวะโลกร้อนมีผลให้การเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อโรคและพาหะนำโรคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้ออะมีบาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์ เมื่อน้ำร้อนขึ้นเชื้อชนิดนี้ จะเจริญเติบโตได้ดี เด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ลงเล่นน้ำแล้วสำลักเชื้ออะมีบา เข้าไปจะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะมีรายงานผู้ที่ได้รับเชื้อนี้จำนวนไม่มาก แต่มีรายงานพบมากขึ้น จำเป็นที่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันป้องกัน
นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ โรคลีเจียแนร์ หรือโรคสหายสงคราม จากเชื้อลีเจียเน็ลลา นิวโมฟิลลา ส่งผลให้เกิดโรคปอดบวม เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยและเจริญเติบโตได้ดีในน้ำอุ่น หรือที่อุณหภูมิเฉลี่ย 35-46 องศาเซลเซียส แหล่งแพร่เชื้อ เช่น หอผึ่งเย็นของอาคาร สปา น้ำพุประดับ เครื่องพ่นละอองฝอย เครื่องผลิตความชื้น น้ำพุร้อน และน้ำในแหล่งน้ำที่ร้อน เป็นต้น โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร ติดต่อทางการหายใจ ไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน อาการของโรคมีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก ท้องเดิน บางรายมีอาการทางสมอง ซึม ชัก ในประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต แต่ในต่างประเทศมีรายงานการเสียชีวิตและอัตราป่วยสูงขึ้น การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจร่างกายทางกายภาพ ตรวจภาพรังสีปอด และเพาะเชื้อจากเสมหะ การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการทำความสะอาดแหล่งแพร่เชื้อบ่อยๆ
“ส่วนโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น ไข้เลือดออก และอหิวาตกโรค ยังจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคไข้เลือดออกปกติไม่ควรพบผู้ป่วยเกิน 1% ของประชากรประเทศ แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยใกล้เคียง 1% มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะถึง 1% เมื่อสิ้นปี 2551 ทั้งที่ไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคนี้ให้อยู่ในระดับเกือบ 0% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ยุงเพิ่มจำนวนมากขึ้นและการวินิจฉัยล่าช้า ขณะที่อหิวาตกโรคเริ่มพบรายงานการกลับมาระบาด เนื่องจากอากาศร้อนและแห้งแล้ง แมลงวันแหล่งแพร่เชื้อโรคนี้เติบโตได้ดี ประชาชนจึงต้องให้ความร่วมมือในการควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดด้วยการกินอาหารสุกและดื่มน้ำสะอาด” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ กฤษณา ภูริกิตติชัย และคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “สถานการณ์การดื้อยาของเชื้ออหิวาตกโรคในประเทศไทย” โดยเฝ้าระวังเชื้ออหิวาตกโรคที่แยกได้จากผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมจากโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2550 – 30 เม.ย. 2551 จำนวน 517 สายพันธุ์ จากนั้นนำเชื้อทั้งหมดมาทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ พบว่า เชื้ออหิวาตกโรคในประเทศไทยดื้อต่อยา Cotrimoxazole อัตรา 96.9-100% แต่ไวต่อยา Ampicillin โดยมีอัตราดื้อยาเพียง 0.3-1.2%