xs
xsm
sm
md
lg

จวก “ไชยา” พ่นเลิกซีแอลทำชาติเจ๊ง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็นจีโอ จวก “ไชยา” พ่นเลิกซีแอล ทำไทยเสียเปรียบต่อรองราคายา ตัดสิทธิ์ปิดประตูตัวเอง เครือข่ายผู้ป่วยเซ็ง รมว.สธ.ไม่มีวุฒิภาวะพอ เป็นทาสบริษัทยา ขณะที่ สปสช.เสียงอ่อย หาก สธ.ไม่สนองทำซีแอล ก็เลิกเสนอ เลือกช่องทางอื่นที่ทำให้ยาถูกลงแทน ด้าน “ไชยา” พลิ้วรีบแก้เก้อนัดประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 18 มิ.ย.นี้
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.ออกมาประกาศต่อสาธารณะ ว่า จะไม่ทำซีแอลอีกเป็นการทำให้ไทยเสียเปรียบในการต่อรองราคา เพราะที่ผ่านมาสาเหตุที่บริษัทยายอมเจรจาอย่างเป็นทางการ เพราะมีซีแอลเป็นเครื่องมือต่อรอง และบริษัทยารู้ว่าไทยสามารถบังคับใช้สิทธิได้จริง การที่ นายไชยา พูดลักษณะนี้เท่ากับเป็นการปิดประตูทำให้ไทยเสียเปรียบทันที ขณะเดียวกันประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่จะนำซีแอลมาใช้ การที่ประเทศไทยถอยจึงไม่ได้เกิดผลกระทบเฉพาะไทยแต่กระทบต่อประเทศอื่นด้วย

“การเปลี่ยนนโยบายของนายไชยา ถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสั่งให้ทบทวนการทำซีแอล ต่อมาก็สั่งให้เดินหน้าต่อ แล้วบอกว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำซีแอลอีก เพราะคลอบคลุมหมดทุกโรคแล้ว และไม่เห็นด้วยหากไทยจะตัดสิทธิการทำซีแอลของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย ขณะที่ในต่างประเทศ แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองยังมีการบังคับใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก”นายจอน กล่าว

นายจอน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม อนาคตหากมียาที่มีความจำเป็นต้องทำซีแอลคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการเข้าถึงยาของ สปสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่จะต้องมีการเสนอตามขั้นตอนต่อไปซึ่งรมว.สธ.ในฐานะกำกับดูแลจะเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายดังนั้นคงต้องรอดูต่อไปว่าเมื่ออนุกรรมการเสนอรายการยาที่มีปัญหาการเข้าถึงของประชาชน รัฐมนตรี จะปฏิเสธไม่ยอมทำซีแอลได้อย่างไร

ด้านนายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเครือข่ายเพื่อนโรคไต กล่าวว่า การที่นายไชยาพูดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดใดบ้าง ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงยาที่มีราคาแพง อาทิ ยาทางด้านจิตเวช ยาลดการปวดของกระดูกในผู้สูงอายุ ฯลฯ ที่สำคัญ การที่รัฐมนตรีออกมาพูดลักษณะนี้ เท่ากับว่า ไทยตกเป็นทาสของบริษัทยา ทั้งที่ยาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่มนุษย์มีความจำเป็นต้องได้รับเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่สินค้าที่มีสิทธิบัตรทั่วๆไป

“นายไชยา พูดเช่นนี้แสดงให้เห็นไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเป็นรมว.สาธารณสุขได้ เพราะตำแหน่งที่สำคัญนี้ต้องตระหนักว่ามีความจำเป็นเกี่ยวกับยา เพราะในอนาคตอาจเกิดโรคระบาดและต้องใช้ยา จะมาพูดแบบนี้ไม่ได้ ทำอย่างกับว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่มีผู้ป่วยด้วยโรคอะไรอีกเลย” นายสุบิล กล่าว

ขณะที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.กล่าวว่า จะเชิญคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ประชุมในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โดยในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งให้ นพ.ไพจิตร วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ เนื่องจาก รับผิดชอบดูแลเรื่องการทำซีแอลมาตั้งแต่ต้น และยืนยันว่า หากมีความจำเป็นจะต้องทำซีแอลยาตัวใหม่ในการรักษาโรคอื่นๆ อีก ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยสธ.มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็น กับจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเข้าถึงยารักษาที่จะใช้รักษาอาการเจ็บป่วย โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคนั้นๆ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้คณะกรรมการร่วมฯ ชุดใหญ่พิจารณา

“สธ.มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็น กับจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเข้าถึงยารักษาที่จะใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ฉะนั้น กระแสข่าวที่บอกว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะดับฝันผู้ป่วยหยุดซีแอลยาตัวใหม่จึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ในอนาคตหากมีความจำเป็นก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป” นายไชยา กล่าว

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านยา กล่าวว่า การที่ นายไชยา ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีการทำซีแอลเพิ่มเติมอีก ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2542 มาตรา 51 ที่ให้อำนาจประเทศไทยโดยกระทรวง ทบวง กรม สามารถประกาศซีแอลยาหรือวัคซีนป้องกันโรคในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดภัยพิบัติ และโรคระบาดได้ เพราะในอนาคตไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะไม่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับประเทศไทยอีก ดังนั้นการด่วนสรุปหรือประกาศไม่ทำซีแอลอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรพูดโดยเฉพาะคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสการเข้าถึงยาได้ ที่สำคัญบริษัทยาข้ามชาติจะนำไปอ้างอิงเพื่อกดดันต่อต้านการทำซีแอลของไทยได้ด้วย

“คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรพูดว่าจะไม่ทำซีแอลอีก เพราะผิดกฎหมายอย่างมาก แม้ว่าจะไม่มีความผิดหรือบทลงโทษก็ตาม คำพูดของนายไชยาได้สร้างความไม่น่าไว้วางใจในนโยบายด้านสาธารณสุขเพราะไม่มีรัฐมนตรีประเทศไหนออกมาประกาศชัดว่าจะไม่ทำซีแอล เป็นการปล่อยไก่ที่หน้าอายมากไม่มีศักดิ์ศรี แสดงให้เห็นว่านายไชยาไม่มีความรู้ ไม่มีที่ปรึกษาวิชาการ มีท่าทีฟังแต่กระทรวงพาณิชย์ที่รู้กันดีว่าทำงานรับใช้สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ยอมจำนนให้กับสหรัฐฯ หรืออีกนัยหนึ่งคือสวมหมวกผิดใบเหมือนที่ชมรมแพทย์ชนบทเคยบอกว่านายไชยาเลี้ยวรถผิดกระทรวง” นักวิชาการคนเดิม ระบุ

ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การทำให้ราคายาลดลงนั้น มีหลายวิธี อาจใช้กระบวนการเจรจา ต่อรอง เพิ่มอำนาจให้การจัดซื้อยาให้เป็นของส่วนกลาง เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น โดยต้องมีระบบการจัดการที่ดี ก็จะสามารถบริหารงบประมาณได้ และการมองว่า หากไม่มีการชูนโยบายซีแอลแล้ว จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการต่อรองนั้น ก็คงต้องทดลองเจรจากับบริษัทยาก่อน แต่คงจะมีขั้นตอนในการทำงาน เพื่อลดราคายาให้ประชาชนได้เข้ายามากขึ้น อาจจะใช้วิธีเรียกบริษัทยา เข้ามาเจรจา ให้สิทธิโดยสมัครใจ (วีแอล) และให้ค่าตอบแทนสิทธิบัตร หรือ ไม่ก็เลือกยาราคาแพง ที่ไม่ติดสิทธิบัตร

“หาก สธ.ไม่มีนโยบายการทำซีแอลแล้ว ต่อไป สปสช.ก็ไม่มีหน้าที่เสนอ รายการยา ที่ต้องซีแอลต่อไป และหาวิธีทางอื่นแทน แต่ก็จะไม่เลิกทำให้ราคายาถูกลง โดยวิธีการทำให้ยาราคาถูกลงนั้นมีหลายวิธี ไม่ใช่แค่การทำซีแอล และอยากให้มีการเลือก ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเภท จ (2) ซึ่งเป็นยาที่มีการควบคุมพิเศษ โดยยาในกลุ่มนี้เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ของประชาชน ที่ต้องมีการทบทวน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น” นพ.วินัย กล่าว

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กล่าวว่า น่าเป็นห่วงคือแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย (แอกชันแพลน) ที่นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์จะเดินทางในวันที่ 10 มิ.ย.เพื่อไปเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เกี่ยวกับสถานะทางการค้าของไทยที่สหรัฐฯ อาจมีการสอดไส้ เรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรยา โดยเฉพาะประเด็นที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินว่าหน่วยงานใดจะทำซีแอลได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการถ่วงเวลาในการทำซีแอล เพราะขั้นตอนในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ทำหรือไม่ ใช้เวลา 6-12 เดือน จากเดิมที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกที่จะทำซีแอลต้องแจ้งให้ องค์การการค้าโลก (WTO) ทราบเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น