xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยกินปลาน้อย แนะกินปลาน้ำจืดแหล่งโอเมกา 3 ไม่แพ้ปลาทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยกินปลามีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง แต่คนไทยกินน้อยแค่ 32 กก.ต่อคนต่อปี ทิ้งห่างญี่ปุ่นเท่าตัว ปลานิลคนไทยกินเยอะที่สุด ส่งออกสูงสุด คนอีสานแชมป์กินปลาอันดับหนึ่ง หมอแนะต้องกินไม่น้อยกว่า 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ ระบุกินปลาน้ำจืดมีโอเมกา-3 สูงไม่แพ้ปลาทะเล แถมราคาถูก เหมาะยุคเศรษฐกิจซบเซา

วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดงานแถลงข่าว “กินปลาช่วยชาติ เงินหดน้อย พุงไม่มา โรคร้ายไม่มี” โดย ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุน สสส.กล่าวว่า ปลาอยู่ในกลุ่ม 3 อาหารหลักเพื่อสุขภาพที่ควรบริโภค คือ ข้าวกล้อง ผักพื้นบ้าน และปลา แม้จะทราบดีว่าปลามีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง ย่อยง่าย ช่วยพัฒนาระบบประสาทในเด็กและทารกในครรภ์ ไม่มีไขมันที่อันตรายต่อหัวใจ แต่คนไทยยังบริโภคปลาน้อย เพียง 32 กก.ต่อคนต่อปี ขณะที่สหรัฐบริโภคปลา 50 กก.ต่อคนต่อปี ญี่ปุ่นบริโภค 69 กก.ต่อคนต่อปี

“ปลาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น มีโปรตีนคุณภาพดีวัดได้ถึง 76% ในขณะที่เนื้อวัววัดได้ 74.6 %สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ สร้างกล้ามเนื้อได้ มีกรดไขมันโอเมกา-3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะลดการเกาะตัวของเม็ดเลือด ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ กระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า เป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทในเด็กและทารกในครรภ์”ศ.พญ.ชนิกา กล่าว

ศ.พญ.ชนิกา กล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าโอเมกา-3 มีเฉพาะในปลาทะเล แต่ในปลาน้ำจืด ก็มีโอเมกา-3 สูง บางประเภทสูงกว่าปลาทะเล เช่น ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมก้า-3 สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลาช่อนมีโอเมกา-3 ถึง 870 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ปลาแซลมอลมีโอเมกา-3 ประมาณ 1000-1,700 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลากะพงขาว 310 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ส่วนใหญ่ปลาน้ำจืดมีราคาต่ำกว่าปลาทะเล ในภาวะน้ำมันแพง สินค้าราคาสูง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ร่วมกับกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์ รณรงค์ให้คนไทยบริโภคปลาเพราะปลามีราคาต่ำแต่มีประโยชน์สูง อย่างปลาน้ำจืดภายในประเทศ ลดการบริโภคปลานำเข้าที่คุณค่าทางอาหารจะลดลงไปเมื่อถูกแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงให้ปราศจากการปนเปื้อนของพยาธิ

นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมตาบอลิซึม รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โอเมกา-3 เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งพบมากในสาหร่าย และปลา ถ้าบริโภคปลาสม่ำเสมอจะได้รับโอเมกา-3 เพียงพอ สมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐฯ แนะนำให้บริโภคปลาไม่น้อยกว่า 2 มื้อต่อสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำมันปลามาทานเพิ่ม เพราะการได้รับน้ำมันปลาเสริมมากเกินไป อาจเกิดปัญหาเลือดออกง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ทานยาแอสไพรินอยู่ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ ทั้งนี้ การปรุงอาหารควรเป็นการต้มหรือการนึ่ง ไม่ควรทอดหรือผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพราะโอเมกา-3 เมื่อผ่านความร้อนสูงจะสลายตัวได้

ดร.นฤพล สุขุมาสวิน ผอ.ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง กล่าวว่า ภาคที่บริโภคปลาน้ำจืดมากที่สุด คือ 1.ตะวันออกเฉียงเหนือ 2.ภาคเหนือ 3.ภาคตะวันออก 4.ภาคตะวันตก 5.ภาคกลาง ปลานิลคือปลาที่บริโภคมากที่สุดและส่งออกมากที่สุด ไทยส่งออกปลามากเป็นประเทศที่ 3 ของโลก รองจากจีน และนอร์เวย์ ปี 2550 ส่งออก 1,163,398 ตัน มูลค่า 85,230 ล้านบาท นำเข้า 1,298,061 ตัน มูลค่า 53,077 ล้านบาท

“ผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่าปลาน้ำจืดของไทยที่เพาะเลี้ยง อาจปนเปื้อนสิ่งตกค้างจากสารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ กรมประมงจึงทำโครงการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมาตั้งแต่ปี 2546 โดยรับรองมาตรฐานขั้นปลอดภัย (safety level) และมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดี (GAP) มีฟาร์มที่ได้รับรอง safety level 17,499 ฟาร์ม และ GAP 2,988 ราย ภายใน 1 ปีนี้ จะขยายการรับรอง safety level 10,000 ฟาร์ม และ GAP 3,500 ฟาร์ม นอกจากนี้ กรมประมงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทำโครงการนำร่องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืด โดยรับงบสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืดให้ได้มาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพความปลอดภัย นำร่องที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และกรุงเทพฯ” ผอ.ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น