xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐบาลหุ่นเลิกชักใย “กรมกร๊วก” ใช้อำนาจคุมวิทยุชุมชน ปลุกปั่นเกลียดชัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะอนุกรรมการวิทยุ-โทรทัศน์ ร่อน จม.ถึง สน.นายกฯ จึ้เรียกประชุม เหตุกม.ออก 3 เดือน ยังเฉย ไม่ยอมให้ทำงาน จงใจสร้างหลุมดำอำนาจ ให้ “กรมประชาฯ” คุมวิทยุชุมชน ใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง-ปลุกปั่นเกลียดชัง ไล่จับแต่คนอ่อนแอ ปล่อยทีวี-เคเบิ้ลทีวี แฉซ้ำ จับตา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่มาองค์กรอิสระคุมสื่อแสนล้าน อาจไม่อิสระแล้ว สภาที่ปรึกษาฯ เปิดวงถก 11 มิ.ย. นี้

นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ในฐานะคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 5 มี.ค ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ทำให้เกิดช่องว่างในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพราะทั้งกรมประชาสัมพันธ์ และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่างไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ จึงไร้หน่วยงาน ดูแลความเหมาะสมในสื่อโทรทัศน์ ทำให้มีการเผยแพร่ภาพความรุนแรง ความไม่เหมาะสมในรูปแบบต่างๆ

ด้านสื่อวิทยุ ก็มีปัญหาและความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะวิทยุชุมชน เพราะขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่ดูแลโทรทัศน์ บอกว่าไม่มีอำนาจเนื่องจากมีกฎหมายใหม่แล้ว แต่กลับใช้อำนาจกับสื่อวิทยุชุมชน มีกรณีสั่งปิด ทั้งๆ ที่หากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ดูแลโทรทัศน์ ก็ไม่ควรมีอำนาจกำกับวิทยุชุมชนเช่นกัน การแก้ปัญหาที่เกิด ทำได้โดยเรียกประชุมคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 79 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ”นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจากหลายส่วน อาทิ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน สมาคมสภาคนพิการฯ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทุกหน่วยงานพร้อมทำงานแก้ปัญหา แต่ติดที่ว่าตั้งแต่กฎหมายออกเกินกว่า 3 เดือนแล้ว ยังไม่เคยเรียกประชุมแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ทราบว่าจะปล่อยให้ปัญหาบานปลายไปถึงเมื่อไร คณะอนุกรรมการฯ จึงส่งหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ให้เรียกประชุมโดยด่วน

ตอนนี้มันเหมือนมีหลุมดำทางอำนาจ วิทยุชุมชนถูกใช้หากำไรทางธุรกิจ และฝ่ายที่มีอำนาจก็ ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ใช้การสื่อสารทำให้เกิดความเกลียดชัง ต่อสู้ จนเลยมาตรฐานทางจริยธรรม ยิ่งในภาวะที่บ้านเมืองเกิดการเผชิญหน้าเช่นนี้ มันอันตรายมาก ทำไมภาครัฐ จึงปล่อยให้ทุกอย่างคาราคาซัง ชาวบ้านผู้ที่อ่อนแอถูกจัดการ ถูกยึดคลื่น ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่า อยากให้มันคลุมเครือ จะได้ไม่มีใครมาตรวจสอบ” นายไพโรจน์ กล่าว

ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า เคเบิ้ลทีวีก็เป็นปัญหาต่อเนื่อง เพราะไร้กฎหมายมาดูแล ตรวจสอบ ปัจจุบันมีเคเบิ้ลท้องถิ่นมากหลายสมาคม การให้คณะอนุกรรมการฯทำงานทันที มีความจำเป็นมาก เพราะแม้มีการ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับใหม่ เพื่อให้มีองค์กรอิสระมาดูแลสื่อทั้งหมด แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ทราบว่าหลักการการได้มาขององค์กรอิสระนั้น ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก อาจไม่อิสระตามเจตนารมณ์ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นปัญหาระยะยาวแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 11 มิ.ย. นี้ เวลา 13.00 น. “วิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯลฯ กับผลกระทบต่อประชาชน” โดยเฉพาะประเด็นการได้มาของสมาชิกองค์กรอิสระที่จะมาดูแลสื่อทั้งหมด มีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ ดร.อนุภาพ ถิรลาภ ผอ.สถาบันการบริหาร และการจัดการโทรคมนาคมไทย ศ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543
กำลังโหลดความคิดเห็น