xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เดินหน้ายกระดับประเมินAGM พร้อมแก้เกณฑ์ตราสารหนี้เอื้อเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเดินหน้ายกระดับประเมินคุณภาพ AGM ให้ได้ตามเป้า พร้อมสนับสนุนให้สมาคมดำเนินโครงการอย่างเต็มตัวในปีหน้า เน้นแผนเชิงรุกด้านการให้ความรู้ผู้ลงทุน พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงในหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่แก้ไขใหม่ เพื่อกระตุ้นภาคเอกชน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการประชุมรายไตรมาสระหว่างก.ล.ต.และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะเดินหน้าประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (Annual General Meeting: AGM) โดยเร่งพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทุกแห่งในกลุ่ม SET100 ให้ได้คะแนนประเมินไม่ต่ำกว่า 80% ตามเป้า และมอบหมายให้สมาคมรับผิดชอบโครงการดังกล่าวอย่างเต็มตัวในปี 2552 มุ่งแผนดำเนินงานเชิงรุก โดยเฉพาะด้านการให้ความรู้ผู้ลงทุน

“ก.ล.ต. ได้เห็นพัฒนาการและความตั้งใจจริงของ บจ. แต่ละแห่งในการปรับปรุงการจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า บจ. ส่วนใหญ่มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของ บจ. ในการให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง”

สำหรับ บจ. ในกลุ่ม SET100 ที่ปีที่แล้วได้คะแนนไม่ถึง 80 คะแนน ก.ล.ต. ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยและสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกำหนดแนวทางการดำเนินการ เพื่อให้ บจ. แต่ละแห่งได้ผลการประเมิน AGM ปีนี้ตามเป้าหมายที่กำหนด

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ขอความร่วมมือจากบริษัทที่มีผลการประเมินในระดับ “ดีเยี่ยม” เมื่อปีที่แล้ว ช่วยให้คำแนะนำแก่ บจ. เหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการประเมินทั้งระบบในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

ส่วนโครงการประเมินคุณภาพ AGM ในปีหน้า ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ก.ล.ต. เห็นว่าสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยมีศักยภาพในการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยตนเองได้ จึงจะมอบหมายให้สมาคมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการประเมินคุณภาพ AGM อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป

เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังกล่าวต่อว่า ภารกิจหนึ่งของ ก.ล.ต. คือการส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเห็นความสำคัญในการเข้าร่วมประชุม เพื่อซักถามข้อสงสัยต่างๆ กับบริษัท และใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมให้มากขึ้น เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถปกป้องประโยชน์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า สมาคมมีความยินดีและขอขอบคุณ ก.ล.ต. ที่ได้ให้ความไว้วางใจมอบหมายให้สมาคมรับหน้าที่ดำเนินโครงการดังกล่าวเองทั้งหมดในปีหน้า สำหรับก้าวต่อไป สมาคมจะเร่งพัฒนาระบบงานและบุคลากรของสมาคมให้มีความพร้อม รวมทั้งจะปรับแผนการดำเนินงานให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น

นอกจากนี้ สมาคมฯจะมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิของผู้ลงทุน รวมทั้งมีแผนจะตั้งชมรมอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น เพื่อฝึกอาสาสมัครให้มีความเข้าใจในงานที่รับผิดชอบรวมถึง AGM checklist เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์

“การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีของ บจ. ส่วนใหญ่ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ อาสาพิทักษ์สิทธิฯ ที่สมาคมส่งไปสังเกตการณ์ ได้กลับมารายงานว่า บจ. ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการจัดประชุมที่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ถือหุ้นเองก็มีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประชุม ใช้สิทธิซักถามข้อสงสัยและใช้สิทธิออกเสียงมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการยกระดับคุณภาพการจัดประชุมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. ต่อไป”นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าว

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ปรับหลักเกณฑ์เสนอขายตราสารหนี้ เพื่อให้เอกชนออกตราสารหนี้มากขึ้น โดยให้หลักเกณฑ์สอดคล้องกับระดับความคุ้มครองผู้ลงทุนแต่ละประเภท ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและลดภาระผู้ออก โดยได้เผยแพร่หลักเกณฑ์ที่จะปรับปรุงพร้อมเหตุผลไว้ที่ www.sec.or.th และเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2551

สำหรับ สาระสำคัญของแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ ได้แก่1. ปรับปรุงนิยามการเสนอขายหลักทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจง (private placement: PP) ให้กว้างขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ โดยให้หมายถึงการเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนไม่เกิน 50 ราย ในรอบ 12 เดือน (นับผู้ลงทุนในทุกประเภทหุ้นกู้รวมกัน) จากเดิมหมายถึงการเสนอขายแก่ผู้ลงทุน 10 ราย ในแต่ละประเภทหุ้นกู้ ในรอบ 4 เดือน (ซึ่งคิดเป็นปีละไม่เกิน 30 ราย) นอกจากนี้ ได้แก้ไขให้การเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ถือเป็นการเสนอขายแบบ PP โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องมูลค่าเสนอขาย (เกณฑ์เดิมกำหนดว่าต้องไม่เกิน 100 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้การออกหุ้นกู้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากไม่บังคับการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย (filing) และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) เนื่องจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้น่าจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้และสามารถเรียกดูข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ออกหุ้นกู้ได้เอง อย่างไรก็ดี ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจัดให้มีเอกสารชี้ชวนให้ซื้อหุ้นกู้ (offering memorandum) ซึ่งกำหนดให้มีข้อมูลอย่างน้อยเกี่ยวกับหุ้นกู้ที่เสนอขาย

2. ปรับหลักเกณฑ์การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายเป็นรายโครงการ (shelf filing) สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกัน 3. ในการเสนอขายหุ้นกู้แบบวงกว้าง (Public Offering: PO) ให้ใช้การจัดอันดับหุ้นกู้ (issue rating)เท่านั้น ไม่สามารถใช้การจัดอันดับผู้ออกหุ้นกู้ (issuer rating) แทนได้ เนื่องจากอาจไม่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของหุ้นกู้ได้อย่างแท้จริง และ4. ให้ตั๋วเงินที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก รับรอง หรืออาวัล และไม่มีเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล เนื่องจากตั๋วเงินลักษณะดังกล่าวมีโอกาสที่จะกระจายไปสู่ผู้ลงทุนทั่วไปในวงกว้างได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. เสนอปรับปรุงได้จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นที่เผยแพร่ไว้ที่ www.sec.or.th และแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว หรือที่โทรสารหมายเลข 0-2651-5949 หรือ e-mail: corgov@sec.or.th จนถึง วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 โดย ก.ล.ต.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมต่อไป และขอขอบคุณในความร่วมมือมา ณ โอกาสนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น