xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิใช้ “นาง-น.ส.” ปรากฏการณ์ “เหรียญสองหน้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อ พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.เป็นต้นไป เป็นอันว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และหญิงที่หย่าร้าง จะมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลได้ตามความสมัครใจ แต่นั่นก็กลายเป็นที่มาของความเห็นจากสังคมอันหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

  • เปลี่ยนคำหน้าชื่อ “หญิงหม้าย” ได้ประโยชน์

    วันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ ว่า ในกรณีผู้หญิงที่หย่าร้าง หรือแยกทางกับสามีนั้น การเปลี่ยนคำนำหน้านามถือได้ว่าเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองอย่างมาก เพราะบางคนต้องเกิดความเจ็บช้ำกับชีวิตครอบครัว และการที่ต้องใช้คำนำหน้านามว่า นาง หรือใช้นามสกุลสามี อาจเป็นสิ่งที่คอยตอกย้ำจิตใจ เป็นการปิดกั้นตัวเองในการพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทำให้การเปลี่ยนคำนำหน้านามจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเปิดตัวเอง

    “หากมองในฐานะของผู้ชายคิดว่า การที่ผู้ชายจะมองผู้หญิงเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นแม่ของลูกนั้น ปกติแล้วผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มองที่ชื่อและคำนำหน้าอยู่แล้ว จะมารู้ทีหลังมากกว่าว่าเขาคนนั้นแต่งงานมาแล้วหรือไม่ ตรงคำนำหน้านามนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก เราเลือกที่จะเรียนรู้ หรือตัดสินใจจะคบกับผู้หญิงสักคนด้วยเหตุผลอื่นมากกว่า” ผจก.มูลนิธิฯ เผยความคิด

    ทางด้านความเห็นจากตัวแทนชมรมเครือข่ายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว อย่าง น.ส.อารดา สุคนธสิทธิ์ อายุ 32 ปี อาชีพนักเขียนอิสระ เสนอความเห็นว่า ตัวเองนั้นอยู่กับสามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และใช้นามสกุลเดิม สำหรับเรื่องนี้ตนมองว่า ผู้หญิงตั้งแต่เล็กจนโต ก็จะใช้คำนำหน้านาม ด.ญ., น.ส., หากแต่งงานก็เปลี่ยนเป็น นาง แต่สำหรับผู้ชายนั้น จาก ด.ช.ก็เป็น นาย ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันว่าทำไมต้องนำคำนำหน้านามมายึดติดกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และเมื่อเขาต้องหย่าร้าง ก็เป็นเหมือนปลอกคอที่จะติดตัวไปตลอด การเปลี่ยนคำนำหน้านามจึงเป็นเหมือนทางเลือกสำหรับตัวเขาเอง

    อารดา ยังบอกอีกว่า วัฒนธรรมไทยนั้น การที่ชายหญิงแต่งงานกันแล้วจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย จะให้ความรู้สึกของการเป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น แต่ในปัจจุบันนี้การอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียน ไม่เปลี่ยนคำนำหน้านาม ไม่เปลี่ยนนามสกุลก็มีอยู่มาก หลายคนคิดว่าการจดทะเบียนสมรสกันก็เหมือนกับตัวอักษรบนกระดาษเพียงแผ่นเดียว ที่นำเอามาตีกรอบให้คนอยู่ร่วมกัน ซึ่งผู้คนก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยทั้งหมด

    “สำหรับเงื่อนไขในเรื่องการทำงานนั้น ผู้หญิงที่ใช้คำนำหน้าว่า นาง ส่วนใหญ่เมื่อไปสมัครงาน เขาจะเลือกพิจารณาคนที่เป็น น.ส.มากกว่า เพราะด้วยความคิดที่ว่า คนที่มีครอบครัวแล้วจะให้ความสำคัญกับงานได้ไม่เต็มที่ เป็นสิ่งที่หญิงหม้ายบางคนอาจเคยพบเจอ หากเปลี่ยนคำนำหน้านามมาเป็น น.ส.ได้ก็จะทำให้มีโอกาสทางหน้าที่การงานเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน” อารดา แสดงความเห็น


  • ห่วง “วัยรุ่น” ไม่เห็นค่าคำนำหน้าชื่อ

    ต่างจาก นางนลินธยาน์ มนตรีธนสาร อายุ 45 ปี อาชีพธุรกิจอิสระ อีกหนึ่งตัวแทนสมาชิกชมรมฯ ให้ความเห็นว่า หลังจากที่สามีเสียชีวิต ตนและลูกก็กลับมาใช้นามสกุลเดิมของตัวเอง แต่ตนก็ยังคงใช้คำนำหน้านามว่า นาง เช่นเดิม ซึ่งตนคิดว่า เรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามนั้นมองได้ 2 กรณี คือ 1. หากหญิงที่แต่งงานสามารถเลือกใช้ได้ทั้งคำนำหน้านามและนามสกุลนั้น อยากให้มองไปถึงลูกที่เกิดมาว่าเขาจะใช้นามสกุลของใคร อาจทำให้เกิดความสับสนภายในครอบครัวได้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทางกฎหมายจะดูแลครอบคลุมไปถึงลูกหรือไม่ และคนที่แต่งงานแล้วยังใช้ น.ส. อยู่นั้นก็เป็นเหมือนการหลอกตัวเอง และไม่ให้เกียรติครอบครัวอีกด้วย

    2.สำหรับหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วมีการหย่าร้าง หรือแยกทางกับสามีนั้น และยังใช้ นาง อยู่เห็นว่า ผู้ชายส่วนใหญ่จะมองหญิงประเภทนี้ในทางที่ไม่ดี เพราะเมื่อรู้ว่าเป็น แม่หม้าย เลิกกับสามี หรือสามีเสียชีวิต อาจจะคิดไม่ดีกับเราได้ ก็ต้องอยู่ที่การวางตัวของเราด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้การเปลี่ยนคำนำหน้านามมาเป็น น.ส.จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องดูถึงความเหมาะสมภายหลัง

    “ปัญหาที่ตามมาอาจต้องมองถึงวัยรุ่นหญิงในสมัยนี้ ที่อาจทำให้เขาคิดได้ว่าคำว่า น.ส.และ นาง นั้นไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไป เป็นผลกระทบที่ส่งผลต่อวัยรุ่นให้ไม่รักนวลสงวนตัว เพราะหากในอนาคตพวกเขาจะแต่งงานกี่ครั้ง จะมีสามีมากี่คน เขาก็จะนึกว่าอย่างไรเสียเขาก็ยังเป็น น.ส.อยู่ ตรงนี้เองคิดว่าเป็นสิ่งที่ล่อแหลมกับวัยรุ่นสมัยนี้อย่างมาก ส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องไปแก้ไขคำนำหน้านามแต่อย่างใด” นลินธยาน์ เสนอความเห็น พร้อมฝากข้อคิด

    ในส่วนความเห็นของ 2 วัยรุ่นจาก ม.มหาสารคาม อย่าง น.ส.ซินเธียแอนนี่ บุญลือ ให้ความเห็นว่า การที่จะเลือกใช้ น.ส.หรือ นาง นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เหมือนเป็นการไม่ผูกมัดตัวเองว่าต้องใช้คำนำหน้าแบบไหน

    ต่างจาก น.ส.วรัฎฐา แก้วคำไสย ที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เพราะสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วนั้นหากไม่ใช้ นาง เป็นเหมือนการไม่ให้เกียรติฝ่ายชาย ไม่ให้เกียรติครอบครัว นอกจากนี้การที่เราแต่งงานและได้ใช้ นาง เป็นเหมือนการตอกย้ำให้คนอื่นได้รู้ว่าเรามีเจ้าของแล้ว เป็นการเพิ่มความมั่นใจของกันและกัน









  • อยากเปลี่ยนเป็น น.ส.ต้องทำอย่างไร

    น.ส.อรอนงค์ มาลัยกรอง หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตพระนคร กทม. อธิบายว่า ผู้ที่เปลี่ยนคำนำหน้านามได้นั้น แบ่งเป็นหญิงที่จดทะเบียนสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนสมรสก่อนวันที่ 4 มิ.ย.2551 รวมไปถึงหญิงที่หย่าร้าง, สามีเสียชีวิต

    สำหรับการยื่นคำขอนั้นสามารถยื่นได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต และที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ แต่หากจะให้เกิดความสะดวกควรยื่นในเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกในการแก้ไขชื่อในเอกสารสำคัญทางราชการได้ทันที เช่น แก้ชื่อในทะเบียนบ้าน เปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ จากนั้นจะออกหนังสือรับรองการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ เพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารยืนยันในการแก้ไขเอกสารสำคัญต่างๆ ต่อไป

    “ก่อนที่จะมีการดำเนินการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้นั้น ทางเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำ อธิบายถึงความสำคัญ ตลอดจนปัญหาที่ตามมาหลังจากการเปลี่ยน เช่นปัญหา ความยุ่งยากในเรื่องของการแก้ไขเอกสารสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจของผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนคำนำหน้านามนั่นเอง” หน.ฝ่ายทะเบียน กล่าว


  • กำลังโหลดความคิดเห็น