xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้สื่อช่วยขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ "อัมมาร"ฝันทุกระบบเท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้สื่อเป็นพลังขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพ “อัมมาร” ขอให้สื่อเน้นข้อมูลเจาะลึก หาสาเหตุปัญหามากขึ้น ดึงคนชั้นกลาง-สูง เข้าระบบ ให้มีส่วนร่วมเรียกร้องมาตรฐานการรักษาที่ดี ระบุปัญหาใหญ่ขาดแคลนแพทย์ต้องเร่งแก้ ฝันทุกระบบได้รับบริการเท่าเทียม แนะทางแก้ปัญหาแพทย์สมองไหลไป รพ.เอกชน คิดค่าปรับแพทย์ใช้ทุนรัฐบาลสูงขึ้น เก็บภาษีคนไข้ต่างชาติสูงขึ้น 

วันนี้ (1 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา จัดงานราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 3/2551 หัวข้อ “พลังขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพได้จริงหรือ” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายจอน อึ้งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย
     
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  6 ปีที่ผ่านมา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้การล้มละลายจากค่ารักษาลดลง โดยเฉพาะฐานราก ครัวเรือนที่มีฐานะจนที่สุดในประเทศ ส่วนที่ยังไม่ชัดเจนและอยากให้ชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี คือ การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ว่า ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจริงหรือไม่ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยลงหรือไม่ จากการเข้าถึงการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ ทั้งที่รัฐบาลทุ่มงบไม่ใช่น้อยในการส่งเสริมและป้องกันโรค


ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า ส่วนบทบาทของสื่อนั้น ส่วนใหญ่จะเสนอข่าวในเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ อาทิ การให้ความรู้ว่าควรทานอาหารประเภทใด ไม่ควรทำอย่างไร ซึ่งล้วนเป็นสารคดีให้ความรู้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้สื่อได้มีบทบาทมากขึ้น คือ ควรมีการเจาะลึกข้อมูลที่เสนอข่าวว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมามักเห็นข่าวในแง่ลบ อาทิ แพทย์รักษาไม่ดีซึ่งอาจจะพบไม่กี่ครั้ง ต้องยอมรับว่าจะไม่มีปัญหาเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่การนำเสนอข่าวดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยทำให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการรักษาให้ตึงขึ้น แต่สิ่งสำคัญการนำเสนอข่าวประเภทนี้ควรมีการสืบหาว่า สาเหตุใดแพทย์จึงทำการรักษาพยาบาลไม่ดีพอ เพราะเกิดจากปัญหาขาดแคลนแพทย์หรือไม่

“ระบบประกันสุขภาพฯ เป็นระบบของคนไทยทุกคน และมีส่วนร่วมจ่ายในระบบประกันสุขภาพ ซึ่งคนไทยต้องออกมาเรียกร้องทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น อย่าปล่อยให้เลยผ่านไป โดยเฉพาะคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ระบบประกันสุขภาพเท่าที่ควร แต่หากมีการใช้ระบบดังกล่าว และพบว่ามาตรฐานเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าพวกเขาจะออกมาเรียกร้องอย่างแน่นอน ซึ่งการเรียกร้องจะนำไปสู่การแก้ไขมาตรฐานในอนาคต” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่าขณะนี้ปัญหางบประมาณแม้จะขาดแคลน แต่ยังไม่มากเทียบเท่ากับปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งต้องเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ไม่ใช่ว่าปัญหางบประมาณจะไม่ต้องสนใจเลย เพราะปัจจุบันหลายคนมักพูดว่า สปสช. มีการปรับงบประมาณค่ารักษาพยาบาลรายหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาดีๆ โดยต้องนำไปเปรียบเทียบกับระบบสวัสดิการข้าราชการจะพบว่า มีความแตกต่างกันมาก โดยระบบสวัสดิการข้าราชการประมาณ 4 ล้านคนได้งบประมาณสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นถูกต้องหรือไม่

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาขาดแคลนแพทย์มีมาอย่างช้านาน สาเหตุหนึ่งมาจากแพทย์เหล่านี้โยกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ทั้งๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในสถาบันแพทย์ของรัฐ ซึ่งการจะไปต่อว่าพวกเขาคงไม่ถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่าพวกแพทย์บางกลุ่มก็สามารถแบ็คเม หรือใช้เล่ห์กับระบบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจะมีการบริการที่แตกต่างจากภาครัฐ ความจริงควรมีการศึกษาเชิงลึก วิจัยให้ชัดเจนว่าระบบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนแตกต่างกันอย่างไร ใช้เวลาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการไปพบแพทย์อยู่ที่การตรวจวินิจฉัย และคำแนะนำจากแพทย์นั้นๆ แต่ส่วนใหญ่คนไทยชอบคิดว่าไปพบแพทย์ต้องได้ยา ต้องฉีดยา เราต้องเปลี่ยนทัศนคติ

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแพทย์ควรเร่งแก้ไขโดยด่วน โดยอาจดำเนินการได้หลายอย่าง ประกอบด้วย ควรมีมาตรการดึงดูดไม่ให้แพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวเร็วเกินไป ซึ่งอาจต้องมีการคิดค่าปรับแพทย์ที่ใช้ทุนรัฐบาลแต่ต้องการทำงานในโรงพยาบาลเอกชนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีข้างหน้า ต้องเก็บให้สูง เพราะโรงพยาบาลเอกชนจะขยายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรเก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับบริการรักษาอย่างน้อยร้อยละ 20-30 จากบิลค่าใช้จ่าย นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งในส่วนของผู้ป่วยที่จ่ายเงินค่ารักษาเองในโรงพยาบาล ควรมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ซึ่งเฉพาะภาษีที่เก็บจากผู้ป่วยต่างชาติได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี และเมื่อรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี

“หลายคนเกรงว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะไม่สามารถแข่งขันบริการสุขภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น ต้องบอกว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่โรงพยาบาลจะมาหาเงิน หรือแต่ประเทศเองจะมาอ้างว่าเพื่อหาเงินเข้าประเทศ ซึ่งหากจะแข่งขันบริการสุขภาพได้นั้น ก่อนอื่นต้องมั่นใจว่า การดูแลสุขภาพคนไทยในประเทศต้องดีก่อนจะไปแข่งขันกับต่างประเทศ” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และ ว่า อย่างไรก็ตาม ตนมีความฝันอยากให้ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ระบบหลักประกันสุขภาพใดก็ตาม หากเดินเข้าไปโรงพยาบาล และมีเลข 13 หลัก ทุกโรงพยาบาลจะต้องรับรักษาทั้งหมด และจะไม่มีการถามว่าคนไข้อยู่ในสิทธิใด ซึ่งจะทำให้ทุกระบบเท่าเทียมกัน

ขณะที่นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนของสื่อและภาคประชาชนมีส่วนสำคัญมาก เห็นได้จากการเรียกร้องให้มีการรักษาพยาบาลการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาการรักษาไม่ทั่วถึง แต่ปัจจุบันสปสช.ได้บรรจุการรักษาดังกล่าวไว้ในหลักประกันสุขภาพแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลสำเร็จในการขับเคลื่อนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ประชาชนยังไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพอย่างแท้จริง หลายคนยังไม่รู้สิทธิประโยชน์ที่ตัวเองได้รับทำให้พลาดโอกาสการรักษาพยาบาล สื่อต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำหลายคนไม่เข้าใจคำว่า ยาสามัญ ซึ่งเป็นยาลอกเลียนแบบยาต้นแบบที่มีราคาแพง โดยเข้าใจว่ายาสามัญไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะยาสามัญมีสรรพคุณ สามารถออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ายาต้นแบบทุกประการ เชื่อว่า หากประชาชนเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น แม้ว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนเข้ามาปรับเปลี่ยนให้แย่ลง การขับเคลื่อนการเรียกร้องเพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนจะยังคงมีอยู่ตลอดไป

“สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย จริงๆ แล้วอยากเห็นสื่อนำเสนอ 3 กองทุนของประเทศไทย ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่า มีความแตกต่าง ไม่เท่าเทียมกันมากน้อยแค่ไหน มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ความจริงอยากให้มีการรวมทั้งสามกองทุนเป็นกองทุนเดียวกัน เนื่องจากบางกองทุนก็ดูจะไม่ยุติธรรม อย่างเช่น ระบบหลักประกันสังคม ปัจจุบันต้องจ่าย 2 เท่า ต้องจ่ายให้ประกันสังคม และต้องจ่ายภาษี ซึ่งสื่อควรมีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และเกิดกระบวนการแก้ไขหรือพัฒนาต่อไป” นายวิรัตน์ กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สื่อมวลชนมีผลต่อการทำงานของ สปสช.มาก เพราะสามารถสื่อถึงภาพลักษณ์องค์กร การใช้งบประมาณต่างๆ รวมทั้งการของบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักงบประมาณแห่งชาติ และยังช่วยให้ประชาชนเข้าใจสิทธิ์ในระบบมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง ที่สำคัญยังส่งผลต่อสัมพันธภาพของคนไข้และแพทย์ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งการนำเสนอของสื่อในสมัย นพ. สงวน ถือว่าดีมาก เพราะสื่อทำให้ตำแหน่งเลขาเป็นตำแหน่งน่าภูมิใจ ทำให้รู้สึกว่าภาพ สปสช.เป็นที่ยอมรับจากประชาชน

“ประเด็นงบประมาณนั้นเป็นที่ทราบว่าช่วงแรกๆ จะมีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลขาดทุน ไม่มียาเพียงพอแก่การรักษา ซึ่งหากมองในแง่ลบคือระบบแย่ แต่ขณะเดียวกันหากมองในแง่บวกก็มีส่วนทำให้เกิดการผลักดันสำนักงบประมาณแห่งชาติ ให้หันมาพิจารณาถึงความสำคัญของการเพิ่มงบเพื่อสิทธิการรักษาพยาบาลมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนงบประมาณเริ่มน้อยลง เรื่องนี้เห็นได้จากตอนไปเจรจากับสำนักงบประมาณแห่งชาติสมัยนั้น พบว่า สำนักงบประมาณยอมรับว่า เรื่องนี้มีผลต่อการพิจารณา ที่สำคัญพวกเขายังคิดว่าจากปัญหาตรงนี้ทำให้ถูกมองว่าเหมือนนางมารร้ายที่ไม่สนใจสุขภาพประชาชน ดังนั้นเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลสื่อ” นพ.วินัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ความสำคัญของสื่อที่เห็นชัด คือ สื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องสิทธิและหน้าที่ อย่างเช่นเรื่องล้างไตผ่านช่องท้อง ผู้ป่วยจะชินกับการฟอกไตด้วยเครื่อง แต่เมื่อสื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อดีของการล้างไตผ่านช่องท้องก็ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจมากยิ่งขึ้น

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นความเปราะบางในเรื่องคนไข้กับแพทย์นั้น สื่อสามารถทำความเข้าใจเพื่อให้ระบบหน่วยพยาบาลพัฒนามาตรฐานในเรื่องนี้ ที่สำคัญ สื่อยังดึงองระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นองค์กรท้องถิ่นต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพในพื้นที่ของตนเองเพิ่มขึ้น จนขณะนี้ สปสช.ได้จัดตั้งกองทุน

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในสภาพสังคมปัจจุบันเราเห็นความทุกข์ของประชาชนที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยเรื้อรัง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคใดเป็นไปตามสิทธิหรือไม่ สิ่งสำคัญทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการการรักษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่าจะมีเงินในกระเป๋ามากหรือน้อยเพียงใด เพราะเรื่องสุขภาพไม่ใช่สินค้า สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนในสังคมไม่ว่าจะรวยหรือจน ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนมีการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพให้เข้าสู่ประชาชนอย่างแท้จริงมาโดยตลอด เห็นได้จากความสำเร็จจากการต่อสู้ของภาคประชาชนในการผลักดันกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้มีการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน โดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมัยนั้น เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ซึ่งต้องยกย่องเพราะนพ.สงวน ทำงานโดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

นายจอน กล่าวอีกว่า จากการผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมมาก โดยหลักการทำงานจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น และภาคประชาชนทั่วไป เข้าร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ที่สำคัญระบบนี้ยังให้อำนาจแก่ประชาชนในการเลือกการดูแลสุขภาพภายในชุมชนของตนได้อย่างเสรี โดยสามารถจัดตั้งคลินิกชุมชนขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชนนั้นๆ โดย สปสช.จะเป็นผู้สนับสนุน อย่างไรก็ตาม แต่ยอมรับว่าระบบดังกล่าวก็ยังประสบปัญหาเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยหารือกันภายในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพพบว่า ประเทศไทยยังค่อนข้างขาดแคลนแพทย์ตามพื้นที่ชนบทต่างๆ จนมีความคิดกันในองค์กรส่วนท้องถิ่นว่า จะมีการสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจในการศึกษาด้านแพทย์ และพยาบาล

นายจอน กล่าวว่า จากข้อดีข้อเสียของระบบดังกล่าว สื่อมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระบบราชการที่เน้นการบริหารจากบนลงล่าง แต่ระบบนี้เน้นการมีส่วนร่วม ช่วยกันคิดช่วยกันทำ อย่างเช่น การเรียกร้องเพิ่มสิทธิการรักษาให้ผู้ป่วยโรคไต ทำให้ปัจจุบันมีการเปิดสิทธิประโยชน์การล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย เช่นเดียวกับการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึง และล่าสุดมีการพิจารณาสิทธิการให้สารเมทโทโดนกับผู้ใช้ยาเสพติดจำพวกเฮโรอีนเพื่อลดอันตราย และเลิกใช้ยาเสพติด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพหลายคนคิดว่าคุณภาพการรักษาในระบบยังด้อย แต่ข้อเท็จจริงไม่สำคัญเท่ากับปัญหาเรื่องคิวการรักษา รวมถึงการโยกย้ายสิทธิการรักษาในกลุ่มแรงงาน โดยบางคนทำงานในเมืองแต่สิทธิการรักษาอยู่ในบ้านเกิดตามจังหวัดต่างๆ ทำให้คิดว่าไม่สามารถรักษาพยาบาลในตัวเมืองที่ทำงานได้ ทั้งๆ ที่ความจริงสามารถโยกสิทธิการรักษาตามสถานที่ทำงานได้เช่นกัน

นายจอน ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหาเรื่องภาวะการแข่งขันสูงระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉพาะจากการตั้งนโยบายศูนย์การทางการแพทย์แห่งเอเชีย หรือ เมดิคัล ฮับ ส่งผลให้มีการดึงบุคลากรการแพทย์ไปภาคเอกชนจำนวนมาก และปัญหาคือ แพทย์ที่เข้าสู่ระบบเอกชน ส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ให้ทุนในการศึกษาเล่าเรียน และเมื่อแพทย์เหล่านี้ต้องการออกจากระบบก็จะถูกปรับ ซึ่งที่ผ่านมาค่าปรับค่อนข้างถูกมากประมาณ 400,000 บาทเท่านั้น ขณะที่เมื่อไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถหารายได้ได้มหาศาล ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเพิ่มค่าปรับให้แพงขึ้น และหากแพทย์ที่มีเป้าหมายต้องการเป็นแพทย์ตามโรงพยาบาลเอกชน ก็ควรศึกษาในระบบเอกชนมากกว่าจะขอทุนจากรัฐบาล

กำลังโหลดความคิดเห็น