xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” เยี่ยม ศธ.“จรวยพร” จ้อนายกฯให้ความสำคัญด้านการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัด ศธ.เผย นายกฯ ให้ความสำคัญด้านการศึกษา โดยเฉพาะเน้นให้เด็กไทยเห็นคุณค่าของภาษาไทย “ภาษาไทยเป็นภาษาอัจฉริยะ” ยังแนะ “แบบเรียนเร็ว” กลับมาใช้ อ่านออกเขียนคล่อง

วันนี้ (28 พ.ค.) กระทรวงศึกษาธิการ นายสมัคร สุนทรเวช นากยกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงทั้งสิ้น 20 กระทรวง โดยมีนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศพร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ศธ.ให้การต้อนรับ

ก่อนเข้าห้องประชุม นายกฯ เปิดแล็บทอปที่นำมาโชว์ แล้วเปิดคาราโอเกะและร้องเพลงโยสลัม สร้างสีสันก่อนเดินเข้าห้องประชุม โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นนายกฯได้เดินทางกลับโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

นางจรวยพร กล่าวว่า การเดินทางมาร่วมประชุมวันนี้ นายกฯได้ให้ความเห็นกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก โดยแสดงความห่วงใยเรื่องความนิยมการเรียนระดับอาชีวศึกษา ซึ่งในอดีตนักเรียนนิยมเรียนสายสามัญ ร้อยละ 70 สายอาชีวะ ร้อยละ 30 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสายสามัญลดลงเหลือร้อยละ 60 อาชีวะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 จึงฝากให้นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไปหาวิธีที่จะทำให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น เพื่อไม่เด็กมุ่งเรียนปริญญาตรี ทาง เลขา กอศ.ชี้แจงนายกฯว่า ระดับปริญญาตรีจะเปิดเฉพาะสายปฏิบัติการ ส่วนการเรียนการสอนทั่วไปจะเน้นปฏิบัติและเปิดสอนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาด จึงจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีและยังมีการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาใช้ในการเทียบคุณวุฒิ

นางจรวยพร เล่าว่า นายกฯถามถึงปัญหาระดับอุดมศึกษาถึงสัดส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนว่าอยู่ที่เท่าไร นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ชี้แจงว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐมีทั้งหมด 76 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชนมี 68 แห่ง ถือว่าใกล้เคียงกัน ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเปิดสอนระหว่างสายสังคมและสายวิทยาสาสตร์ แตกต่างกันมาก สายสังคม ร้อยละ 70 สายวิทย์ 30 ปัญหานี้ สกอ.จะเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายกฯถามต่อว่า เดิม สกอ.เคยเป็นทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อมารวมกับ ศธ.มีปัญหาอะไรบ้าง นายสุเมธ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องการความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จึงต้องการให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การสนับสนุนเชิงนโยบาย และนายกฯ ซักถามอีกว่า มหาวิทยาลัยพอใจกับการออกนอกระบบหรือไม่ เลขา กกอ.กล่าวว่า การออกนอกระบบทำให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารงานคล่องตัวขึ้น

นางจรวยพร กล่าวว่า นายกฯเห็นใจ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ มีหน้าที่ดูแลด้านคุณภาพ ควบคู่กับงานเชิงปริมาณ นอกจากนั้นยังถามถึงสัดส่วนนักเรียนระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนของรัฐ ว่าสป.มีความพอใจหรือไป ตนตอบไปว่า ไม่ค่อยพอใจสัดส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มีแค่ร้อยละ 18 แต่อยากให้เพิ่มเป็น ร้อยละ 25

นายกฯถามต่อว่า ผู้ปกครองได้ร้องเรียนเรื่องใดมายัง สป.บ้าง นางจรวยพร ตอบว่า ส่วนใหญ่จะมีเรื่องกองทุนเงินให้กู้ยืมและเรื่องทุนการศึกษา นายกฯรับทราบ และยังถามอีกว่า หากยุบรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทันเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จะดีหรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไปว่า หากรวมกันก็จะทำให้เกิดประโยชน์ เพราะกองทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นการนำข้อดี ของทั้งสองกองทุนมารวมกัน ซึ่งขณะนี้นายสมชาย ได้ตั้งเลขากกอ.เป็นประธานคณะทำงานเรื่องดังกล่าวแล้ว

นางจรวยพร กล่าวว่า นายสมัคร ฝากผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยกันดูแลให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง ทั้งการพูด อ่านและเขียน ไม่พูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ และควรให้เด็กได้ฝึกฝนการอ่านการเขียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กใช้ภาษาได้ถูกต้อง พร้อมแนะนำให้เด็กได้ฝึกอ่านอาขยานด้วย จะทำให้เด็กได้เข้าถึงรสภาษาไทย ซึ่งมีทั้งอักขรวิธี วจีวิพากษ์ วาทยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ด้านภาษาไทยที่ชาติอื่นไม่มี

“นายกฯยกย่องให้ภาษาไทยเป็นภาษาอัจฉริยะ มีทั้งวรรณยุกต์ อักขรวิธี วจีวิพากษ์ วาทยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ ภาษาไทยสามารถนำไปสะกดคำภาษาอื่นได้ทุกภาษา อีกทั้งยังเป็นภาษาที่มีรสชาติ ถ้าเปรียบเป็นอาหาร ภาษาไทยเป็นอาหารที่มีรสชาติหลากหลายรสชาติ ครอบคลุม จึงขอให้กระทรวงส่งเสริมให้เด็กไทยเห็นคุณค่าภาษาไทย อ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง” นางจรวยพร เล่า

ขณะที่คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า นายกฯยกให้ภาษาไทยเป็นภาษา และพูดถึงการสอนภาษาไทยและแบบเรียนเร็วภาษาไทยในสมัยก่อน บอกว่าเป็นการสอนที่ได้ผล ซึ่ง สพฐ.ดำเนินการปรับปรุงแบบเรียนเร็วอยู่แล้ว เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย และมีแผนแก้ปัญหาเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง โดย ตัวเลขล่าสุด พบว่า นักเรียนชั้น ป.3 ที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีประมาณ 20,000 ราย และมีนักเรียนทุกระดับที่อ่านเขียนไม่คล่องประมาณ 100,000 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น