อย.เตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก ผลวิจัยในอังกฤษระบุ อาหารที่ใส่วัตถุกันเสียร่วมกับสีผสมอาหาร ทำให้เด็กสมาธิสั้น ชี้ ผลวิจัยในอังกฤษไม่ได้รับการรับรองจากสำนักความปลอดภัยด้านอาหารยุโรป พร้อมแนะผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารสด ใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารสีฉูดฉาดจะดีที่สุด
ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีข่าวทางหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษว่า การใช้สีสังเคราะห์ผสมอาหารร่วมกับสารโซเดียมเบนโซเอต (Sodium Benzoate) ซึ่งใช้เป็นวัตถุกันเสียในอาหารประเภทขนมหวาน ลูกกวาด ลูกอม ไอศกรีม น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม อาจเป็นสาเหตุให้เด็กอายุระหว่าง 3-9 ปี มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งหรือเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เพิ่มขึ้น อย.ได้ติดตามข้อมูลมาโดยตลอดและพบว่า คณะกรรมการสำนักความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ได้พิจารณาและประเมินผลการวิจัยดังกล่าวแล้ว มีมติไม่รับรองผลการศึกษา เนื่องจากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูลทางสถิติ และยังไม่มีข้อมูลที่สามารถอธิบายกลไกของสีสังเคราะห์และวัตถุกันเสียที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กที่แน่ชัด ดังนั้น จึงให้คงค่าความปลอดภัยในการบริโภค(ค่า ADI) ของสีสังเคราะห์และวัตถุกันเสียเหล่านี้ไว้เท่าเดิม ในส่วนของ อย. ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลการวิจัยดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ยังไม่สามารถสรุปยืนยันได้แน่ชัดจึงยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารกลุ่มนี้ในขณะนี้
เลขาฯ อย.กล่าวต่อว่า อย.มีมาตรการที่คุมเข้มเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอยู่แล้ว โดยวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดที่ใช้ จะต้องผ่านกระบวนการประเมินความปลอดภัยและกำหนดค่าความปลอดภัยในการใช้ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้ อย.อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสีย และสีสังเคราะห์ในอาหารได้หลายชนิด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ไอศกรีม แยม เยลลี่ ขนมหวาน และผลิตภัณฑ์ตกแต่ง หรือราดหน้า ขนมเบเกอรี่ เป็นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มอาหารที่ต้องปรุงแต่งสีสันให้สวยงาม ดึงดูดผู้บริโภคและผู้ผลิตส่วนใหญ่มีความต้องการให้เก็บรักษาไว้ได้นาน แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินค่าความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ อย.ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการ คุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฝ้าระวังอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีการใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ผสมอาหาร โดยตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหาร สถานประกอบการ รวมทั้งการเฝ้าระวังความปลอดภัยจากทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาสถานการณ์การใช้และแหล่งของสารเคมีที่นำมาใช้และปัญหาที่ผู้บริโภค มีโอกาสได้รับ อีกทั้งจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้วัตถุเจือปนในอาหารที่ไม่ถูกต้อง ปรับปรุงข้อกำหนดการแสดงฉลากให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลและนำมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
“ขณะนี้ อย.กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปริมาณการใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ผสมอาหาร เพื่อนำมาเป็นมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคด้านอาหารที่ยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม อย.ขอแนะนำในการบริโภคอาหาร โดยขอให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ให้ความสนใจในการเลือกซื้ออาหารมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสีฉูดฉาด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาบริโภคอาหารที่มีความสด ใหม่ แทน ควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีสีตามธรรมชาติจะดีที่สุด” ภก.มานิตย์ กล่าว