ศธ.เตรียมโละชุดลูกเสือ-เนตรนารีทิ้ง อ้างใช้มา 70 ปี เผยเครื่องแบบลูกเสือใหม่ สีสันสดใส แยกเป็น 5 ชุด เหลือง เขียวอ่อน โอลด์โรส ฟ้า เทาตามประเภทลูกเสือ เลิกใช้เครื่องหมายที่เป็นทำด้วยโลหะ เปลี่ยนใช้เครื่องหมายที่เป็นผ้า (Badge) แทน แจงปรับเครื่องแบบเพื่อความทันสมัยเหมือนลูกเสือนานาชาติ ด้านทีมงานผู้รับผิดชอบออกแบบเครื่องแบบใหม่ยันผู้ปกครองไม่เดือดร้อน ระบุเครื่องแบบใหม่ราคาถูกกว่าชุดเก่า 1 เท่าตัว ด้าน “สมชาย” อ้างยังไม่รู้เรื่อง พร้อมติงไม่ควรเปลี่ยนเครื่องแบบในยุดของแพง ขณะที่ครู-นร.ก็รุมค้าน
วันนี้ (26 พ.ค.) นายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในระหว่างนี้ถือเป็นโอกาสที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ลูกเสือฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 5 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา จึงเตรียมออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องแบบลูกเสือใหม่ มาใช้แทนเครื่องแบบลูกเสือ และเนตรนารีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ใช้มากว่า 70 ปี โดย คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ตั้งคณะกรรมรองรับภารกิจตาม พ.ร.บ.ลูกเสือ ขึ้นมาปรับปรุงระบบกิจการลูกเสือให้สอดรับกับ พ.ร.บ.ลูกเสือฉบับใหม่ ซึ่งรวมถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบลูกเสือด้วย เพราะตามมาตรา 51 ระบุให้ ศธ.ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ
นายบุญรัตน์ ระบุว่า เครื่องแบบลูกเสือใหม่ที่คณะทำงานร่างนั้น ได้มีการปรับปรุงเครื่องแบบให้ทันสมัยขึ้น โดยเลียนแบบจากชุดลูกเสือของหลายๆ ประเทศ ที่นิยมออกแบบชุดลูกเสือให้มีสีสันสดใสเพื่อจูงใจให้นักเรียน อยากเรียนลูกเสือ โดยลูกเสือแต่ละประเภทจะมีเครื่องแบบต่างสีกันเพื่อให้สังเกตได้ง่ายว่า ที่สำคัญจะเลิกใช้เข็ม หรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นโลหะ ซึ่งโลหะอาจก่อให้เกิดอันตรายในระหว่างการทำกิจกรรมได้ และขณะนี้ต่างประเทศเลิกใช้เข็มที่เป็นโลหะนานแล้ว และเปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์ที่เป็นผ้าปักลงเสื้อแทน มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ยังใช้เข็มหรือตราสัญลักษณ์ที่เป็นโลหะอยู่
“เครื่องแบบลูกเสือใหม่ ขณะนี้ได้ผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจาก 4 ภูมิภาคมาแล้ว ส่วนมากเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบลูกเสือ แต่คณะทำงานต้องสรุปเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติก่อน หลังจากนั้น ศธ.ก็ต้องยกร่างเป็นกฎกระทรวงเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ด้วย”
นายเสฏฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบ และการแต่งกายลูกเสือ ระบุว่า ในวันข้างหน้าจะไม่มีชุดเนตรนารีแล้ว ทั้งหญิงและชายจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องแบบเดียวกัน แค่แยกกางเกง กระโปรง ซึ่งเครื่องแบบลูกเสือจะแยกเป็น 5 ชุด ตามประเภทของลูกเสือ นักเรียนชั้น ป.1-6 ซึ่งเป็นลูกเสือสำรองนั้น เครื่องแบบลูกเสือจะเป็นเครื่องแบบนักเรียนปกติ เสื้อขาว กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสีดำ ใส่ผ้าผูกคอสีเหลือง หมวกแก็ปสีเหลือง
นักเรียนชั้น ม.1-3 เป็นลูกเสือสามัญนั้น จะใส่เสื้อสีเขียวอ่อน กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสีดำ หมวกเบเรต์สีเขียวเข้ม ผ้าผูอคอสีเหลือง นักเรียนชั้น ม.4-5 เป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ จะใส่เสื้อสีโอลด์โรส กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสีดำ หมวกเบเรต์สีเลือดหมู ผ้าผูกคอสีเหลือง นักเรียนชั้นม.6 รวมทั้งนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งเป็นลูกเสือวิสามัญ จะใส่เสื้อสีฟ้า กางเกงขายาวหรือกระโปรงสีดำ หมวดเบเล่ย์สีน้ำเงิน ผ้าผูกคอสีเหลือง ส่วนลูกเสืออื่นๆ ใส่เสื้อสีเทา กางเกงขายาวหรือกระโปรงสีดำ ผ้าผูกคอสีฟ้า หมวกสีเบเล่ย์สีเทา
อย่างไรก็ดี ชุดลูกเสือใหม่ เราจะเน้น ประหยัด สะดวก ทันสมัย และไม่อันตราย เครื่องแบบลูกเสือแบบใหม่จะไม่มีเข็ม หรือตราที่เป็นโลหะ ตราสัญลักษณ์ทุกอย่างจะเป็นผ้าเย็บติดกับตัวเสื้อ โดยแขนเสื้อซ้ายจะมีธงชาติและชื่อจังหวัดเย็บติด ส่วนแขนขวาจะมีตราชื่อโรงเรียน กลุ่มกองที่ลูกเสือนั้นสังกัดอยู่ ขณะที่ด้านหน้าจะมีป้ายชื่อและตรารูปหน้าเสือเย็บติดอยู่ สำหรับหมวกจะไม่ใช้เข็มเช่นกันจะเปลี่ยนเป็นตรารูปหน้าเสือที่ทำด้วยผ้าเย็บติดแทน ส่วนกางเกงและกระโปรงนั้นที่เปลี่ยนมาใช้สีดำเพื่อรองรับกับเครื่องแบบนักเรียน แต่กระโปรงของผู้หญิงนั้นจะทำให้เป็นกระโปรงกางเกงเพื่อความคล่องตัวในการทำกิจกรรม ส่วนเนื้อผ้าของเสื้อจะเปลี่ยนเป็นผ้าบางแทนเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน
นายเสฏฐนันท์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารีครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากใช้เครื่องแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2486 ซึ่งออกแบบโดยนาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกและอุปนายกสภาลูกเสือแห่งชาติในขณะนั้น โดยเลียนแบบมาจากชุดการแต่งกายของข้าราชการและนักเรียนในขณะนั้น และเครื่องแบบลูกเสือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เครื่องแบบพระราชทานของ ร.6 เพราะว่าเครื่องแบบพระราชทานสมัย ร.6 นั้นจะเป็นเสื้อแขนยาวสีน้ำตาล กางเกงสีดำและถุงเท้ายาวสีดำ
การจะเปลี่ยนเครื่องแบบลูกเสือ ทางผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับความเดือดร้อน เพราะว่าชุดเครื่องแบบใหม่นั้น ราคาจะถูกลงกว่าเครื่องแบบในปัจจุบันแน่นอน ปัจจุบันราคาชุดลูกเสือที่องค์การค้า สกสค.จำหน่ายอยู่รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 800-1,000 บาท แต่ชุดแบบใหม่ราคาประมาณ 400 บาท ที่ถูกลงเพราะประหยัดค่าเข็มตราสัญลักษณ์ และที่สำคัญคณะบริหารงานลูกเสือแห่งชาติจะเป็นผู้ตัดเย็บชุดออกมาจำหน่ายเอง ซึ่งจะได้ราคาโรงงาน และชุดลูกเสือใหม่ที่มีตราสัญลักษณ์ลูกเสือนั้น จะเป็นลิขสิทธิ์ของคณะกรรมการฯ ผู้อื่นจะจัดจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้อย่างเด็ดขาด
“ไม่ให้ต้องการให้ผู้ปกครองเดือดร้อน จึงได้มีการคุยกันว่า ในประกาศ ศธ.กำหนดเครื่องแบบลูกเสือใหม่จะมีบทเฉพาะกาลให้มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 3 ปี หมายความว่านักเรียนใช้เครื่องแบบเก่าไปได้ก่อนตลอด 3 ปีนี้ หรือหากใครจะซื้อชุดใหม่ใช้เลยก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนประถมและมัธยม เรียนลูกเสือประมาณ 6 แสนคน”
ส่วน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ และช่วงเสื้อผ้าแพง ไม่ควรเปลี่ยนแปลงชุดเครื่องแบลูกเสือ เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเดือดร้อน
นายธรรมสถิตย์ โรหิตเกษ อาจารย์โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม กล่าวว่า ช่วงนี้บ้านเราเผชิญกับปัญหาข้าวของแพง ผู้ปกครองต้องรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซึ่งถือว่าหนักพอสมควร ดังนั้นไม่ควรเปลี่ยนชุดลูกเสือในระยะนี้ทุกระดับ โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือระดับประถมศึกษา เนื่องจากเด็กวัยนี้โตเร็ว ใช้แค่ผ้าผูกคอเพื่อเป็นสัญลักษณ์ลูกเสือ ส่วนเด็กระดับมัธยมถ้าจะเปลี่ยนเพื่อให้เป็นความสากล ควรเว้นช่วงอีกระยะหนึ่งเพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี หรือว่าทยอยเปลี่ยน เด็กคนไหนมีชุดเดิมก็ใช้ไปไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ส่วนเด็กคนไหนจะซื้อชุดใหม่ก็เปลี่ยนเป็นแบบใหม่แทน วิธีนี้จะได้ไม่ทำให้ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป
สีและแบบของเครื่องแบบลูกเสือขอให้คำนึงถึงความคล่องตัวระหว่างการทำกิจกรรมด้วย เนื่องจากเด็กประถม และมัธยม อยู่ในวัยซน ชุดลูกเสืออาจเปรอะเปื้อนสกปรกได้ง่ายในระหว่างการทำกิจกรรม จึบงไม่ควรใช้กางขายาวหรือเสื้อสีอ่อน
ด้าน นายไพศาล สืบศักดิ์วงศ์ นักเรียนโรงเรียนมัธยมป่ากลาง จังหวัดน่าน แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยหากจะเปลี่ยนชุดลูกเสือในระยะปี หรือ 2 ปีนี้ เนื่องจากชุดลูกเสื้อชุดหนึ่งราคาเฉียด 1,000 บาท เกรงว่าหาก ศธ. ออกระเบียบให้เปลี่ยนทันทีพ่อแม่จะต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรให้เป็นนักเรียนเข้าใหม่ ส่วนนักเรียนเก่าก็ควรอนุโลมใช้ชุดเดิม
“ตนรู้สึกว่าชุดลูกเสือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดูภูมิฐาน และใช้มาหลายสิบปีแล้ว คงต้องมาดูว่าชุดยังเหมาะสมหรือไม่ เพราะในแต่ละปีจะตัวแทนลูกเสือไทย ร่วมไปเข้าค่ายหรือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกเสือต่างประเทศ เราต้องมองชุดเพื่อนๆ ว่าเป็นอย่างไร สุดท้าย จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ขึ้นอยู่กับกระทรวง ถ้าจะเปลี่ยนควรออกแบบให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรมหนักๆ ด้วย”
นายวิโรจน์ เริ่มศิลป์ นักเรียนโรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ บอกว่า เครื่องแบบลูกเสือจะเปลี่ยนใหม่ หรือใช้แบบเก่า ไม่มีปัญหา เพราะส่วนมากตัดชุดหนึ่งใส่ได้ประมาณ 3 ปี คือเลือกเนื้อผ้าที่มีคุณภาพ หากซื้อชุดที่ตัดสำเร็จรูปเนื้อผ้าคุณภาพต่ำ ใส่ไประยะหนึ่งจะเก่าเร็ว
“เดี๋ยวนี้ชุดลูกเสือ ถ้าซื้อครบทุกอย่างอยู่ที่ 600 บาทขึ้นไป หากกระทรวงจะเปลี่ยนชุดลูกเสือจริงๆ อย่าให้ราคาสูงมากกว่านี้ และถ้าเปลี่ยนก็ควรออกแบบเป็นสากลแล้วอย่าเปลี่ยนบ่อยๆ ประเภท 5 ปีเปลี่ยนครั้ง”