xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยราชดำเนิน : พื้นที่ศึกษาภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยราชดำเนิน
ไม่น่าจะมีสถานศึกษาแห่งใดในโลกที่มีความหลากหลายของผู้ศึกษามากเท่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่มีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ขาย ชาวไร่ชาวนา อาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ทรงศีล ที่มาจากต่างทิศทาง ทุกเพศ หลากหลายวัย
หลายคนอาจกำลังจินตนาการถึงที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในตึกรูปงาม หรืออาคารสวยหรู
แต่ผิดถนัด! เพราะมันตั้งอยู่บนถนนราดยางมะตอย พื้นที่ส่วนกลางของประชาชนคนเดินดิน
ที่นี่ไม่คิดค่าหน่วยกิต ไม่คิดค่าบำรุง ไม่มีค่าส่วนกลาง ใครที่อยากเข้ามาเรียน ชำระไว้แค่อย่างเดียวเท่านั้น
นั่นคือ ‘หัวใจแห่งความรักชาติและรักประชาธิปไตย’


ฐานที่หนึ่ง : หลักสูตรเตรียมสาธิตมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
ขณะที่เดินเลียบๆ เคียงๆ ไปยังข้างเวที สายตาก็พาไปสะดุดกับเด็กผู้ชายในเครื่องแบบลูกเสือคนหนึ่ง กำลังกวาดทำความสะอาดอยู่ข้างเต็นท์ ด้วยชื่นชมปนประหลาดอยู่ในใจ ทำไมเด็กมัธยมอายุไม่น่าเกิน 15 เข้ามาทำอะไรที่นี่ แถมไม่ได้เข้ามาแล้วผ่านเลย กลับหยิบจับไม้กวาดดูแลพื้นที่สาธารณะ
“ตอนแรกก็แค่คนที่เดินผ่านทาง จากนั้นก็ขยับเข้ามาร่วมนั่งฟัง” เสียงเจ้าของชุดลูกเสือสามัญที่ปักชื่อไว้ว่า กันตธัช กิจธิคุณ บอกเล่าถึงที่มาที่ไป
“แต่มีอยู่วันหนึ่งกลุ่มเยาวชนที่นำโดย แสงธรรม ชุนชฎาธาร ขึ้นเวทีแล้วประกาศว่าหากเยาวชนคนไหนสนใจจะมาร่วมกลุ่มกันก็ให้มาลงชื่อที่ข้างเวทีได้ ผมเลยไปลงชื่อเข้าร่วม โรงเรียนผมอยู่ไม่ไกลมาก เดินมาที่นี่ได้ทุกเย็น มาช่วยได้ทุกวัน” เสียงเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งขณะนี้เป็นเยาวชนเฉพาะกิจสาธิตมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนินตอบ
กันตธัชเล่าว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเราเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าด้านดีหรือร้าย เราจึงสมควรสนใจไว้ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครทำอะไรกับประเทศก็ได้ “ที่บ้านชอบคุยเรื่องการเมืองกัน ทำให้ผมเข้าใจความเป็นไปของการเมืองมาตั้งแต่เล็ก เมื่อมีการตรวจสอบพบนักการเมืองที่ทุจริต มีการจัดชุมนุมแบบนี้ผมจะออกมาร่วมด้วย มันดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้”
พูดคุยสักพัก สายตาก็พลันสอดส่ายหาเพื่อนสมทบของกันตธัช
“เพื่อนที่โรงเรียนไม่ค่อยมีใครสนใจการเมือง” เด็กชายตอบทันควัน แล้วเล่าให้ฟังต่อถึงการเรียนการสอนในระบบของ ที่โรงเรียนจะสอนให้รู้ถึงหลักประชาธิปไตยว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้สอนแบบเจาะลึกว่าประชาชนมีสิทธิที่จะกระทำอะไรได้บ้าง ทำให้เด็กคนอื่นที่ไม่รู้เรื่อง พานคิดไปว่าการชุมนุมทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ทำให้รถติด เศรษฐกิจแย่ แต่สำหรับ กันตธัชกลับมองต่างไป เขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้เด็กรู้ว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นเรื่องของทุกคน เด็กต่อไปก็ต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ต้องเรียนรู้เอาไว้
เสียงของนักศึกษาฐานอื่นยังคงกึกก้องอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศทำให้เราเปรียบเทียบการเรียนรู้ที่แตกต่าง
“มาที่นี่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตยแบบทางตรง ซึ่งถือเป็นทางออกของประชาชนที่สามารถแสดงออกได้ ผมเองตอนนี้เป็นเด็กแต่ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ต้องมาศึกษาเอาไว้ มันได้อะไรมากกว่าที่ตำราเคยสอน ที่นี่เราสามารถแสดงออกได้ มาที่นี่ก็มีเพื่อนที่มาช่วยกันทุกเย็นสิบกว่าคน มีหลากหลายโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัย ปริญญาโทก็มี ได้คุยเรื่องการเมืองกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน” เด็กชายตอบเสียงร่าเริง
“ผมนับถือความเข้มแข็งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาก ถึงแม้ว่าใครจะสร้างกระแสมากดดันหนักหนาขนาดไหน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่เคยคิดย่อท้อ” เยาวชนคนกล้าทิ้งท้ายความรู้สึกไว้
แค่นี้ก็ทำให้เราเดินออกจากซุ้มเด็กสาธิตฯ นี้อย่างมีความหวังต่ออนาคตของชาติขึ้นบ้างแล้ว

ฐานที่สอง : หลักสูตรการงานพื้นฐานอาชีพแบบพอเพียง
เดินจากซุ้มเยาวชนอนาคตไกลมาเรื่อยๆ ก็ต้องนึกสงสัยกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า
เขากำลังมุงดูอะไรกัน? ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงสาวเท้าเข้าไปหาคำตอบ
บนป้ายผ้าเขียนคำตอบให้หายคาใจ ‘ฐานงานอาชีพ ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์’
ไม่เฉพาะผู้หญิงแม่บ้านที่เป็นนักศึกษาของฐานนี้ ผู้ชายพ่อบ้านก็มาร่วมฟังบรรยายในวิชานี้ด้วย
ฟ้างาย คำอโศก หนึ่งในชาวกองทัพธรรม อาจารย์บรรยายวิชาอาหารสุขภาพกำลังง่วนอยู่กับการสาธิต สีสันผักสวยสดน่ากินดึงเราเข้าไปร่วมวง
เสือใบสั่งลุย เมนูเพื่อสุขภาพที่เธอกำลังสาธิต ประกอบด้วยใบไม้ พืชใบเขียว ผักพื้นบ้านจำนวนกว่า 20-30 ชนิด นำมาปรุงให้ได้ 9 รสตามแบบแพทย์แผนไทย มีทั้งรสหวาน มัน เค็ม เปรี้ยว จืด ฝาด เวลาใส่ผักก็ต้องใส่ให้ได้ 7 สี ได้แก่สีแสด ส้ม แดง เหลือง ฟ้า ม่วง ดำ พืชผักแต่ละสีจะให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ให้วิตามินเกลือแร่ครบ รักษาป้องกันโรคได้ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ทำได้ง่าย และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ฟ้างายทำหน้าที่ผู้สาธิตอย่างแข็งขัน
ด้วยสีสันที่มากับสุขภาพ เราจึงชิมไปชวนคุยไป
ฟ้างายเล่าว่า มาเรียนที่นี่แล้วจะทำให้วิถีชีวิตของเราพอเพียงตามหลักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย แต่ละฐานจะเน้นไปในวิชาชีพที่ผู้เรียนจะนำไปใช้เพื่อพึ่งพาตนเองต่อไปได้ เน้นธรรมชาติ แนวคิดของการจัดสอนวิชาชีพมหาวิทยาลัยราชดำเนินนี้ มาจากการที่ชาวกองทัพธรรมใช้ชีวิตตามวิถีนี้อยู่แล้ว
“ไม่ว่าโลกจะถล่ม ดินจะทลาย นักการเมืองจะปล้นไปหมด เราก็อยู่ได้ เขาปล้นได้แต่เงิน แต่เขาจะไม่ได้กินอาหารไร้สารพิษ เงินมันเป็นแค่กระดาษ เป็นตัวเลข เป็นสิ่งสมมติ แทนที่เขาจะเอาสมมตินั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ เขาดันเอาสมมตนี้ไปสนองแต่กิเลสตัวเอง การหลงสมมติทำให้คนเรากลายเป็นบ้า อย่างพวกเราชาวกองทัพธรรมจะยึดถือหลักสาธารณโภคีทุกสิ่งเป็นของส่วนกลาง”
เห็นเรายังสำราญกับอาหารสุขภาพ เธอจึงเล่าให้ฟังต่อว่า เหล่าชาวกองทัพธรรมมาอยู่ที่นี่ นอกจากช่วยทำอาหารแล้วก็คิดต่อว่าจะทำประโยชน์อะไรได้อีก ต้องเป็นกิจกรรมที่ให้คนได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่มานั่งฟังอย่างเดียว เพื่อที่จะได้นำไปใช้ให้ชีวิตดีขึ้น สำหรับคนต่างจังหวัดยังนำไปทำเป็นอาชีพได้ด้วย ใครที่เป็นเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีที่มาจากอุตสาหกรรม กลับไปมีวิถีชีวิตอย่างสมัยบรรพบุรุษได้
เธอเล่าจบ หมดชั่วโมงของฐานนี้พอดี ไม่รอช้าเธอบอกให้เราเปลี่ยนฐานเรียนต่อไป ตามประสาครูผู้หวังดี
เดินถัดมาไม่กี่ก้าวก็เจอฐานน้ำยาอเนกประสงค์ ที่มีชั้นเรียนอัดแน่นไม่แพ้ฐานไหน
สมหมาย ทัศโน กับโทรโข่งกำลังทำหน้าที่รับส่งเสียงพูดไปยังนักศึกษาที่เดินหน้าเข้ามาชั้นบรรยายนี้ ที่ฐานนี้กำลังมีการสาธิตทำน้ำยาซักล้างที่ให้นักศึกษาได้ลงมือทดลองทำด้วยตัวเองโดยเธอทำหน้าที่ผู้สอน
“นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ทุกวันนี้อะไรก็แพงขึ้น สิ่งใดที่ทำได้เอง เราก็ควรจะทำ ผู้ชายก็ประหยัดขึ้น ผู้หญิงก็รู้จักทำของใช้เองโดยไม่ต้องซื้อ มันก็เป็นการช่วยชาติได้แบบหนึ่ง” อาจารย์สมหมายสอดแทรกประโยชน์ให้นักศึกษาฟัง
เธอกล่าวต่ออีกว่า “ทุกคนมีความรู้คนละนิดคนละหน่อยก็มาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คนที่มาทุกวันถ้าแค่มากินข้าวเฉยๆ แล้วกลับบ้านมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สู้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ไม่ต้องจ้างครูจากที่ไหน ไม่ต้องปลูกสร้างโรงเรียนใหญ่โต สอนกันแบบนี้ตามธรรมชาติ”
เรียนจบไปสองฐาน นอกจากอิ่มท้องได้สุขภาพ และซึมซับความรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังได้น้ำยาซักล้างติดมือมาอีกขวด

ฐานที่สาม : หลักสูตรการเมืองเรื่องประชาชน
กินอิ่มหนังท้องตึง แต่หนังตาไม่ยักจะหย่อน
จะหย่อนอย่างไรไหว ก็ชั้นเรียนใหญ่ด้านหน้ากำลังจะมีการบรรยายรวมสำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี ที่มีห้องเรียนใหญ่เท่าความกว้างของถนน
ไม่รอช้าจัดแจงหาที่นั่งเหมาะๆ เพื่อเรียนร่วมกับเพื่อนนักศึกษาคลาสใหญ่ ที่นั่งกันเต็มชั้นเรียน
สุรศักดิ์ หมื่นนาอาม อาจารย์บรรยายอิสระประจำภาคการเมืองประชาชน เดินมามือเปล่า แน่นอนอาจารย์รุ่นใหม่เขาไม่ปิ้งแผ่นใสกันแล้ว
ไม่รอช้าสุรศักดิ์เท้าความเป็นการเรียกน้ำย่อยว่า ทุกวันนี้ข้อมูลของประชาชนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันมาก เกษตรกรจะมีความเข้าใจแบบหนึ่ง ข้าราชการเข้าใจแบบหนึ่ง คนในเมืองก็เข้าใจอีกแบบหนึ่ง ความเข้าใจที่แตกต่างนี้ทำให้นักการเมืองส่วนหนึ่งไปหาประโยชน์จากความไม่รู้ของประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจในภาพเดียวกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาคธุรกิจค้าขาย 25 เปอร์เซ็นต์และธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเข้าใจในส่วนนี้แล้วจะรู้ว่าตัวเองอยู่ในจุดใด
“อย่างเราจะอยู่ในภาคการค้าขาย 25 เปอร์เซ็นต์ที่เสียภาษีให้แก่รัฐ เราจึงได้เห็นว่าเงินภาษีที่เราเสียไปนั้น คนอีก 5 เปอร์เซ็นต์เอาภาษีที่เราเสียให้ไปกระจายเพื่อหาเสียง สร้างฐานเสียงให้กับคน 5 เปอร์เซ็นต์นั้น ในขณะที่คนภาคธุรกิจ 25 เปอร์เซ็นต์นี้ต้องเสียภาษี แต่คน 5 เปอร์เซ็นต์ในนั้นเขาอาจจะมีนักกฏหมาย ที่สามารถเลี่ยงภาษีได้”
สุรศักดิ์ยกตัวอย่างให้ฟังเข้าใจง่าย
“คนระดับรากหญ้าชาวบ้านทั่วไปเวลามีคนเอาเงินมาให้ ถามว่าเขาชอบไหม? แน่นอนว่าเขาต้องชอบอยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าเงินที่เขาเอามาแจกจ่ายนี้เป็นเงินภาษีอากรของส่วนกลางไม่ได้เป็นเงินของคน 5 เปอร์เซ็นต์นั้น มันไม่ถูกต้องเพราะเงินที่เอาไปให้ชาวบ้านต้องเป็นเงินที่สร้างอาชีพ ไม่ใช่ให้เพื่อประชาสงเคราะห์ รัฐจะต้องจัดสรรอาชีพ สร้างอาชีพให้คนไทย” ด้วยความเข้าใจที่ยังแตกต่างกันทำให้ปัจจุบันคนชั้นกลางกับคนชั้นล่างมีปัญหากันเองโดยมีคนชักใยคือคน 5 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าไปทำงานการเมือง อาจารย์หน้าชั้นเรียนยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
“แสดงว่าการศึกษามีส่วนทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจ” เรานึกสงสัย
การศึกษาเป็นเพียงวิธีการ เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลให้คนสามารถแปลนัยยะทางการเมืองได้ การศึกษาจึงต้องทำเพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง ในต่างประเทศเขาจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อกัน ถ้าประเทศเขามีรายได้จากอุตสาหกรรม บุคลากรที่เขาอยากได้คือวิศวกร การศึกษาของเขาจึงต้องทำสองอย่างคือหนึ่งรักษาความมั่นคงของชาติ ต้องเรียนภาษา เรียนประวัติศาสตร์ของชาติเพื่อรักษาความเป็นชาติเอาไว้ ในขณะเดียวกันอาชีพหลักที่รัฐต้องการคืออาชีพที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงเป็นการศึกษาที่เน้นไปที่การผลิตวิศวกร สุรศักดิ์อธิบายถึงรูปแบบการศึกษาในต่างประเทศ ก่อนเล่าต่อว่า
“โครงการมหาวิทยาลัยราชดำเนินนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เปรียบเทียบกับนักไฮปาร์กสมัยเก่าจะใช้วิธีปลุกระดม พูดให้สะใจ ซึ่งในระยะแรกนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ แต่ในระยะยาวพี่น้องประชาชนเขาต้องการข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับคนที่มาจะเป็นคนที่มีความรู้ บางครั้งเราเองไม่ต้องไปสรุปให้เขา เพียงแค่ให้ข้อมูลความจริง เขาก็สามารถสรุปได้เอง การเมืองภาคประชาชนในบ้านเราเพิ่งอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น และเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้กันตลอดชีวิต แต่ในวันนี้ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก การคุยเรื่องปัญหาบ้านเมืองเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น การที่เราสื่อความหมายออกไปรัฐบาลก็เริ่มจับประเด็นได้ว่าเราต้องการสื่อสารอะไร ประชาชนมีความเห็นต่างในเรื่องอะไร”
หมดคาบอาจารย์สุรศักดิ์ ไฟในตัวเริ่มคุกรุ่นจากความรู้ใหม่ที่ได้รับ ไม่รอช้า เรามองหาชั้นเรียนต่อในทันที

ฐานที่สี่ : หลักสูตรการเคลื่อนไหวด้วยการสร้างพื้นที่
สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจารย์บรรยายในวิชาถัดไปทำให้เรารู้สึกกระหายความรู้อีกครั้ง
สุริยะใส อาจารย์ประจำชั้นบรรยายนี้เกริ่นให้ฟังถึงเนื้อหาว่า โดยตัวการเคลื่อนไหวของมวลชนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการต่อสู้ของคนยากจน ของเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัยยะหนึ่งมันถือเป็นโรงเรียนการเมืองอยู่แล้ว เพราะด้านหนึ่งของการชุมนุมคือการกดดัน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการจัดการศึกษาเพื่อมวลชน เป็นการศึกษานอกระบบนอกหลักสูตร การจัดตั้งมวลชนต้องใช้การศึกษาเข้ามาช่วย ให้ไปไกลกว่าการศึกษาในระบบ เช่น มีการติดอาวุธทางความคิด ใส่ทฤษฏีทางการเมืองเข้าไป ชวนถกเรื่องสังคมใหม่ ในการจัดตั้งมวลชนจะต้องเชื่อว่าเราสามารถทำสังคมให้ดีกว่านี้ได้ มหาวิทยาลัยราชดำเนินนี้จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการต่อสู้ทางการเมือง
“เมื่อสามปีที่แล้ว เราต่อสู้กับระบอบทักษิณ เราเห็นว่าโจทก์การเมืองเก่ายังคาอยู่แม้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้พ้นสภาพการเป็นนายกฯไปแล้ว แต่ว่าตัวระบอบยังอยู่ ทั้งวิธีคิด อุดมการณ์ ความเชื่อแบบทักษิณยังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ประชานิยมยังเป็นนโยบายที่ได้ผลอยู่ ความคิดแบบเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนหรือการเดินตามรอยทุนนิยมอย่างสุดขั้วเป็นความคิดที่เติบโตขึ้นพร้อมกับการสถาปนาระบอบทักษิณ เราจึงเห็นว่าการสู้กับระบอบมันยากกว่าการไล่ที่ตัวบุคคล มันซับซ้อนกว่า” สุริยะใสเล่า พร้อมเสริมต่อว่า
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่เดิมเป็นการกดดันด้วยพลังมวลชนได้เพิ่มระดับขึ้นไปเป็นการติดอาวุธทางปัญญา การยกระดับมวลชนที่เข้าร่วมต่อสู้กับเราให้ไปไกลกว่าความไม่ชอบ ไม่พอใจทักษิณ ต้องชี้ให้เขาเห็นว่าระบอบทักษิณเป็นภัยต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร การจะก้าวข้ามระบอบทักษิณต้องทำอย่างไร ด้วยโจทย์ที่มันซับซ้อนขึ้นเราจึงต้องยกระดับมวลชนด้านความคิดความอ่านด้วยการให้การศึกษาให้ข้อมูลข่าวสาร เราจึงแปลงสภาพกลายเป็นมหาวิทยาลัยราชดำเนินดังกล่าว
ชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยราชดำเนินช่วงไหนที่เข้มข้นที่สุด? เราถามหาคอร์สอินเทนซีฟ
“เราพยายามจะจัดสาระบนเวทีให้มากกว่าการปราศรัยโดยปกติ ในช่วงไพรม์ไทม์ระหว่างเวลา 19.00-22.00 น. จะเป็นช่วงที่เราให้ความสำคัญของเนื้อหาสาระ เช่น เอาเรื่องการทำซีแอลยาว่ากระทบต่อการยกเลิกการทำซีแอลยาที่รมว.สาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลาทำไว้ในรัฐบาลสุรยุทธ์ เป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนต่อการเข้าถึงยาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้กลับหาทางยกเลิก เราก็เอาคนที่รู้เรื่องนี้มาพูด หรือคนที่รู้เรื่องการขายรัฐวิสาหกิจว่ามันกระทบต่อคนส่วนใหญ่อย่างไร หรือปัญหาจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลชุดนี้ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องเพราะมาตรการมันผิดพลาดอย่างไร”
การศึกษาเพื่อสร้างสิ่งใหม่ว่าควรเพิ่มเติมอะไรบ้าง? เราเริ่มอยากเห็นมุมการเรียนรู้ใหม่ๆ
“อีกมุมหนึ่งที่คิดว่าต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ คือเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่จะเป็นเวทีให้ชาวบ้านประชาชนหรือคนชายขอบต่างๆ โดยเฉพาะการแปลงถนนให้มากกว่าเป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์ ให้มันได้ทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย เช่น เป็นฟอรั่ม จุดสะท้อนความเห็นของคนด้อยโอกาสทางสังคม”
หลังตอบคำถาม สุริยะใสเล่าเรื่องราวในต่างแดนให้นักศึกษาฟังเป็นเกร็ดความรู้เพิ่มเติมว่า
หลายๆ ประเทศทั่วโลกมีขบวนการรณรงค์ที่เรียกว่า ‘ทวงถนนคืน’ กลับมาเป็นของประชาชน เช่น ในนิวยอร์ก ซิดนีย์ ลอนดอน หรือตามเมืองใหญ่ในยุโรป มีขบวนการที่นำคนเป็นพันไปยึดสี่แยกของถนนในมหานครใหญ่ๆ ออกบูทจัดงานให้ชาวบ้านได้แสดงออก เป็นการจุดกระแสว่าทุกวันนี้พื้นที่สาธารณะเริ่มหดหายมันถูกครอบครองโดยอำนาจรัฐ โดยทุนนิยมมากเกินไป พื้นที่สาธารณะที่รับใช้เจตจำนงสะท้อนปัญหาของคนส่วนใหญ่มันน้อยลง เพราะสื่อเองไม่ได้ทำงานอย่างแท้จริง สื่อถูกครอบงำ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้านหนึ่งจึงเป็นเหมือนการสร้างพื้นที่ของสาธารณะด้วย เพื่อให้ประชาชนที่มีความคิดอ่านทางการเมืองที่แตกต่างจากกระแสหลักได้แสดงออก
เล่าเรื่องในต่างแดนจบ อาจารย์สุริยะใสเล่าย้อนกลับมาที่กรณีศึกษาใกล้ตัวในบ้านเราให้ฟัง
“เรื่องของพื้นที่มันสำคัญกว่าสถานที่ คนเรามักจะติดกับสถานที่มากไป อย่างรัฐบาลจะชอบพูดว่าต้องนำปัญหาเข้าสู่สภาฯ หรือเลือกตั้งมาแล้วต้องให้รัฐบาลที่อยู่ทำเนียบฯ เป็นผู้กำหนดนโยบาย มันชี้ให้เราเห็นว่าเราติดกับดักเรื่องการเมืองเชิงสถาบัน ที่เน้นให้ความสำคัญต่อสถานที่ เช่น ทำเนียบฯ สภา แต่ว่าเราไม่สนใจเรื่องของพื้นที่ ที่มันหมายถึงอุดมการณ์ ความคิดอ่านทางการเมือง ที่มีสาระมากกว่าตัวอาคารสถานที่”
คาบสอนของอาจารย์หน้าชั้นเสร็จสิ้น นักศึกษาหลายคนลุกไปเพิ่มกำลังให้ผนังท้อง หลายคนลุกไปยืดเส้นยืดสาย เหลือเพียงแต่ฉันและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชดำเนินอีกหลายคนที่ยังนั่งอยู่ ซึ่งคงกำลังคิดถึงเรื่องเดียวกัน
“วิชาต่อไป จะได้เรียนอะไรที่น่าสนใจอีกนะ?”

************************
สุริยใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
สุรศักดิ์ หมื่นนาอาม นักวิชาการอิสระ ผู้บรรยายวิชาการเมืองภาคประชาชน
ฟ้างาย คำอโศก ชาวกองทัพธรรม ผู้สอนฐานอาชีพอาหารเพื่อสุขภาพ
สมหมาย ทัศโน ชาวกองทัพธรรม ผู้สอนฐานอาชีพทำน้ำยาเอนกประสงค์
กันตธัช กิจธิคุณ หนึ่งในเยาวชนเฉพาะกิจ สาธิตมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
ห้องเรียนของเยาวชนสาธิตมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
นักศึกษาลุกมาแสดงพลังรักชาติ
อนาคตเด็กสาธิตมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
ฐานงานอาชีพ ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์แห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
ฐานอาหารเพื่อสุขภาพ
ฐานน้ำยาเอนกประสงค์
ให้นักศึกษาทดลองทำน้ำยาเอนกประสงค์ด้วยตนเอง
บรรยากาศชั้นเรียนฐานอื่นๆแน่นขนัดไม่แพ้กัน
บรรยากาศชั้นเรียนฐานอื่นๆแน่นขนัดไม่แพ้กัน
ชั้นเรียนรวมวิชาการเมืองของเหล่านักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน
นักเรียน นักศึกษาหลากหลายวัย ร่วมกันนั่งฟังบรรยายความรู้การเมือง
นักเรียน นักศึกษาหลากหลายวัย ร่วมกันนั่งฟังบรรยายความรู้การเมือง
นักเรียน นักศึกษาหลากหลายวัย ร่วมกันนั่งฟังบรรยายความรู้การเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น