xs
xsm
sm
md
lg

พระราชครูฯ ซัดคนทำลายพนมรุ้งจะได้รับผลแห่งการกระทำ กรมศิลป์เผยไม่เกิน 1 เดือนซ่อมเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระราชครูวามเทพมุนี ชี้ผู้ก่อเหตุทำลายเทวสถานและเทวรูปในปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นผู้ก่อบาปในศาสนา และจะได้รับผลแห่งการกระทำ วอนหน่วยงานรัฐส่งเจ้าหน้าที่ดูแลให้ถี่ขึ้น ด้านอธิบดีกรมศิลปากรเผยต้องเปลี่ยนความเชื่อและสร้างค่านิยมให้คนเห็นคุณค่าในโบราณสถานว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ระบุพบความเสียหายของปากนาคและทวารบาลของปราสาทหินพนมรุ้ง ใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 1 เดือนแล้วเสร็จ

พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กล่าวถึงกรณีการทำลายเทวรูป และศิวลึงค์ ในปราสาทหินพนมรุ้งว่า การกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะมีเจตนาใดแอบแฝง ถือว่าเป็นการไม่เคารพ เป็นการก่อบาปในศาสนา และจะได้รับผลของการกระทำนั้น เพราะได้ก่อให้เกิดความเสียใจและไม่สบายใจแก่คนที่พบเห็น

อีกทั้งรูปปั้น รูปเคารพดังกล่าว เป็นตัวแทนการระลึกถึงคุณความดีของพระเป็นเจ้าที่ก่อสร้างด้วยจิตที่เป็นกุศล มีผู้คนที่มีจิตศรัทธากราบสักการะนานนับพันปี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ที่กระทำการเช่นนี้ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่ให้ความนับถือ และไม่ใช่คนในศาสนิก จึงอยากให้ทางภาครัฐเพิ่มการตรวจยามถี่มากขึ้น และให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา

พระราชครูวามเทพมุนี กล่าวว่า การสร้างปราสาทหินพนมรุ้งเปรียบเสมือนกับการสร้างวัดในพระพุทธศาสนา เพื่อระลึกและสร้างความดีถวายแด่พระเป็นเจ้า โดยพระศิวะ เป็นเทพประทานพร และจะประทานพรให้แก่ผู้ที่กระทำความดีด้วยใจที่มุ่งมั่น ฉะนั้น การทำลายเทวสถานและเทวรูปเพื่อจุดประสงค์ใดก็ตามหรือด้วยความโกรธ จึงไม่มีผลต่อการสักการะ และเมื่อได้มีการบูรณะเทวรูปและโบราณสถาน ไม่จำเป็นต้องมีการบวงสรวงเทพใหม่ เพราะความดีที่ได้สะสมยังคงอยู่

ส่วนการสักการะที่ถูกต้องเมื่อถึงโบราณสถานดังกล่าว ผู้มีจิตศรัทธาสามารถสักการะได้ตามปกติ เพียงแต่ให้ระลึกความดีของพระเป็นเจ้า และผู้ที่ก่อสร้างเทวสถานเท่านั้น

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีการบุกทำลายอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือปราสาทหินพนมรุ้ง ว่า จากรายงานที่ได้รับมีการบุกรุกและทำความเสียหายให้กับรูปปั้นต่างๆ เช่น ปากนาคหรือทวารบาล ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบเหตุการณ์ทำลายโบราณสถานแต่โดยความไม่ตั้งใจของนักท่องเที่ยว แต่ในลักษณะของการขโมย ในอดีตอาจจะมีบ้าง เช่น กรณีทับหลังนารายณ์ แต่กรณีการทำลายโดยความตั้งใจ ปกติไม่ค่อยพบ เพราะคนไทยไม่ค่อยทำกัน ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อเคารพศรัทธาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่ามีความผิดในการบุกรุกทำลายโบราณสถาน มีความผิดทั้งจำและปรับตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

“แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย สิ่งที่น่าจะทำความเข้าใจ คือ โบราณสถานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 5,000 แห่ง ขึ้นทะเบียนประมาณ 2,000 แห่ง โบราณสถานเหล่านี้ไม่ใช่ของกรมศิลปากร แต่เป็นของประเทศ และทุกคนเป็นเจ้าของ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องสร้างค่านิยม ทุกคนเป็นเจ้าของ และโบราณสถานนี้เป็นสิ่งมีคุณค่า แสดงความเป็นเอกลักษณ์ เป็นชาติ และมีผลประโยชน์ที่ทำให้เราได้ผลประโยชน์จากมรดกที่ทิ้งไว้” นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนกรณีจะมีผลกระทบต่อการเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกหรือไม่ นายเกรียงไกร กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 10 อุทยานของกรมศิลปากร จะมีแผนการพัฒนาไปสู่ความเป็นมรดกโลก ซึ่งปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในอุทยานที่มีแผนจะพัฒนาใน 2 ส่วน 1.คือ การพัฒนาจัดการกับโบราณสถานและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานของมรดกโลก และ 2.การพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การจัดการสภาพแวดล้อมหรือการขายของหรือการดูแลต่างๆ ซึ่งในส่วนที่ได้รับความเสียหาย เป็นความเสียหายซึ่งในโบราณสถานทุกแห่งจะมีลักษณะความเสียหายก่อนการบูรณะ ก็สามารถซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย ซึ่งปกติความเสียหาย หากไม่ทราบข้อเท็จจริงจะไม่ซ่อมให้เหมือนเดิม เนื่องจากกลัวความผิดพลาด หากทราบข้อเท็จจริงและมีความจำเป็นเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นจะดำเนินการซ่อม ซึ่งในกรณีความเสียหายของนาคหรือทวารบาลมีต้นแบบเดิมอยู่

ฉะนั้น การซ่อมสามารถซ่อมคืนเหมือนเดิมได้ ซึ่งจะซ่อมโดยการทำพิมพ์หรือหล่อพิมพ์ เอาอิฐและเศษหินทั้งหมดบดแล้วทำแบบหล่อผสมปูนเล็กน้อยเพื่อซ่อมคืนสภาพเดิมที่เสียหายไป ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 1 เดือนแล้วเสร็จ

นายเกรียงไกร กล่าวถึงการเช่าร้านค้าในบริเวณอุทยานว่า ปกติเงื่อนไขสัญญาจะเป็นปีต่อปีและมีการประมูลเข้ามา ส่วนนี้เป็นส่วนบริการให้ความสะดวกซึ่งร้านค้าต่างๆ จะอยู่บริเวณด้านล่างไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถาน แต่เป็นส่วนที่จำเป็นเพราะทั้งหมดนี้การอนุรักษ์จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เป็นส่วนการบริหารจัดการตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะไม่เช่นนั้นการพัฒนาไปสู่มรดกโลกค่อนข้างจะลำบาก เพราะฉะนั้นจะมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินการ

สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในโบราณสถาน นายเกรียงไกร กล่าวว่า กรมศิลปากรจะเป็นผู้ดูแล ได้มีมาตรการกำชับให้ดูแลเข้มงวด แต่เนื่องจากมีบุคลากรน้อย จำเป็นจะต้องใช้ส่วนของประชาชนหรืออาสาสมัครเข้ามาช่วย ซึ่งปกติกรมศิลปากรมีโครงการอาสาสมัครเฝ้าระวังมรดกศิลปวัฒนธรรม หรือ อสมศ. คงจะเข้ามาช่วยมากขึ้น นอกจากนี้คือการประสานกับตำรวจในการรักษาความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น