“อภิรักษ์” ประกาศ 6 วาระสีเขียวเพื่อชาว กทม. พร้อมสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ “เจนเนอเรชันจี” ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน เห็นด้วยกับแนวคิดเก็บเงินคนนำรถมาใช้ในพื้นที่ชั้นใน โดยเฉพาะในย่านจราจรหนาแน่น มีรถไฟฟ้าผ่าน คาด นำร่องสีลม สาทร พร้อมตั้งทีมศึกษา-สำรวจความคิดเห้นก่อนนำมาใช้จริง หวังช่วยประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาจราจร และลดภาวะโลกร้อน
วานนี้(20 พ.ค.)นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ “วาระกรุงเทพฯ สีเขียว” (Bangkok Green Agenda 2008) ภายใต้กรอบดำเนินการ “วาระกรุงเทพฯ สีเขียว” ทั้ง 6 ด้าน พร้อมแถลงความคืบหน้าและแผนปฏิบัติการกรุงเทพฯ สีเขียว ครบ 1 ปี
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับ 6 แนวทาง ภายใต้วาระกรุงเทพฯ สีเขียว Bangkok Green Agenda 2008 ประกอบด้วย 1.Green Society “เขียว” สังคมสะดวก ประหยัดทันสมัย โดยการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การใช้รถจักรยานแทนรถยนต์ การส่งเสริมพลังงานทางเลือก และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทนการเดินทาง
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดการจัดเก็บเงินรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าในโซนพื้นที่ชั้นใน หรือพื้นที่การจราจรติดขัด รวมถึงย่านที่มีระบบรถไฟฟ้า ซึ่งการจัดเก็บดังกล่าวมีการบังคับใช้ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ลอนดอน และนิวยอร์ก เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าเดินรถยนต์ส่วนบุคคลในย่านที่มีระบบรถไฟฟ้า หรือ Congestion Charge มาใช้ใน กทม.ซึ่งเบื้องต้นจะนำร่องที่ย่านสีลม สาทร และสุขุมวิท
โดยก่อนที่จะประกาศใช้อย่างจริงจังนั้นจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนภายใน 1 เดือนโดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล(สยป.) และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการศึกษา และออกเป็นข้อบัญญัติต่อไป ทั้งนี้ เชื่อว่า วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดการใช้น้ำมัน ในยุคที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนวาระที่ 2.Green Living “เขียว” สุขภาวะสมบูรณ์ ชีวิตมั่นคง เพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย เน้นการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกายในสวนสาธารณะ 3.Green Zone “เขียว” ธรรมชาติสะอาด อากาศสดใส กำหนดพื้นที่สีเขียวที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจับปรับผู้ฝ่าฝืนทิ้งขยะลงพื้นถนน และปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง
4.Green Generation “เขียว” สานฝันคนรุ่นใหม่ เรียนรู้ทันโลก ซึ่งเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา 5.Green Community “เขียว” ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนผูกพัน โดยรณรงค์และจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ทุกชุมชนเข้มแข็งและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อลูกหลาน และ 6.Green Economy “เขียว” เศรษฐกิจชุมชน บนความพอเพียง ดึงภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กทม.จะดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Green Generation (Gen G) ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญที่จะเติบโตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสานต่อแนวทางสร้างความสุขให้คนกรุงเทพฯ สู่กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ ต่อไป