สธ.เผยอาการกรุ๊ปทัวร์ 109 ราย ข้าวกล่องเป็นพิษ ปลอดภัยกลับบ้านได้ มี 1 รายส่งตัวเข้ารับการดูแลต่อที่ กทม.เนื่องจากมีโรคประจำตัว ย้ำเตือนกรุ๊ปทัวร์ให้ระวังอาหารกล่อง หากจะสั่งจำนวนมาก ควรสั่งจากหลายร้าน เพื่อให้ได้อาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ควรรับประทานหลังปรุงนาน 4-5 ชั่วโมง
จากกรณีที่คณะทัวร์สัมมนาจากกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 900 คน เดินทางไปสัมมนาที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ระหว่างทางได้แจกอาหารกล่อง ประกอบด้วย ข้าวขาหมู ข้าวผัดกะเพรา ข้าวหมูแดง ให้รับประทานบนรถระหว่างเดินทาง หลังรับประทานข้าวกล่องประมาณ 2 ชั่วโมง เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง เป็นลม ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี 109 คน ซึ่งแพทย์คาดว่าน่าจะเกิดจากอาหารเป็นพิษนั้น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดในวันนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดอาการปลอดภัย แพทย์ให้กลับบ้านได้ โดยมี 1 ราย เป็นเด็กอายุ 2 ขวบ ที่นอนรักษาในโรงพยาบาลสระบุรี ได้ขอย้ายไปรักษาต่อที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีโรคประจำตัวอยู่เดิมแล้ว
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ในการจัดเตรียมอาหารกล่องคราวละมากๆ คณะผู้จัดทัวร์ควรแยกสั่งจากหลายร้าน เพื่อให้ได้อาหารกล่องที่ปรุงสุกนานไม่นานเกิน 4-5 ชั่วโมงจะปลอดภัย เพราะหากสั่งร้านเดียว แม่ครัวก็จะต้องเริ่มปรุงอาหารตั้งแต่ช่วงดึกๆ เพราะเกรงว่าจะไม่ทัน ซึ่งอาหารเหล่านี้หากทิ้งไว้นาน 7-8 ชั่วโมง เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่จะเจริญเติบโตและสร้างพิษขึ้นมา และขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู บางวันฝนตก สภาพอากาศร้อน ทำให้เชื้อแบคทีเรียในอาหารเจริญเติบโตเร็วขึ้น เป็นช่วงระบาดของเชื้อโรคต่างๆ อาหารจะบูดเร็ว จึงทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงได้
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่อง และพบผู้ป่วยทุกปี ในปีที่ผ่านมามีรายงานทั้งหมด 123,577 ราย เสียชีวิต 7 ราย ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ต้นเดือนนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 37,207 ราย เสียชีวิต 3 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี 2 รายที่เหลือเป็นผู้ใหญ่ 1 ราย โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบมักเกิดจากเชื้อสแตพฟิลโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เชื้อคลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) พิษของเชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาการมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อหรือปริมาณสารพิษที่ได้รับ
“ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ควรเลือกรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ อาหารที่ปรุงสุกแล้วระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อน อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนจนเดือดก่อนรับประทาน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ให้พิถีพิถันเรื่องความสะอาดของห้องครัว การใช้มีดเขียงต้องแยกใช้ระหว่างอาหารดิบกับอาหารสุก และควรเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ”นพ.สุพรรณ กล่าว