xs
xsm
sm
md
lg

เด็กคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นทุกปี เผยเสียเงินกว่า 2,300 ล้านบาทดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.จับมือเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ จัดประชุมวิชาการ “สุขภาพมารดาและเด็กไทยคือหัวใจของแผ่นดิน คลอดก่อนกำหนดป้องกันและแก้ไขได้” เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุข ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดความเสี่ยงการเกิดก่อนกำหนด สนองพระปณิธานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ขณะที่แนวโน้มเด็กคลอดก่อนกำหนดในไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเสียค่าใช้จ่ายกว่า 2,300 ล้านบาทในการดูแล

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานคณะกรรมการโครงการเครือข่ายมารดาและทารก ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารฯ และ รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต ผู้จัดการโครงการเครือข่ายมารดาและทารกฯ ร่วมแถลงข่าว เรื่อง “สุขภาพมารดาและเด็กไทยคือหัวใจของแผ่นดิน” คลอดก่อนกำหนดป้องกันและแก้ไขได้ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.

นายวัลลภ กล่าวว่า ภาวะเด็กเกิดก่อนกำหนดในปัจจุบันเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง จากสถิติในระยะ 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กทารกแรกเกิดในกรุงเทพฯ ประมาณปีละ 110,000 คน ซึ่ง 1,100 คนหรือคิดเป็น 11% มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน คือ ต่ำกว่า 2,500 กรัม และส่วนใหญ่เป็นทารกคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ที่เรียกว่าเกิดก่อนกำหนด ซึ่งสตรีตั้งครรภ์มีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงของเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกใน กทม. และเป็นการสนองพระปณิธานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลภายในเครือข่ายได้รับทราบ และเข้าใจในแนวคิดและแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของการบูรณาการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและดูแลรักษามารดาและทารกแบบองค์รวมที่ครบวงจร

ขณะที่รองศาสตราจารย์ นพ.ธราธิป กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี เนื่องจากคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีโดยเฉพาะ 28 วันแรกของการเสียชีวิตที่เรียกว่าระยะแรกเกิด ซึ่งจากสถิติปี 2548 พบว่ามีเด็กทารกคลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตกว่า 20% หรือมีความพิการสูงกว่าทารกกลุ่มอื่นๆ แต่หากมีชีวิตรอดในน้ำหนักตัวที่ไม่ถึง 1,000 กรัม เพราะคลอดก่อนกำหนด 6 เดือน ต้องใช้เวลาดูแลในโรงพยาบาลถึง 2 เดือนซึ่งในปี 2548 รพ.ศิริราช เสียค่าใช้จ่ายให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นเงิน 22 ล้านบาท แต่ รพ.ที่ให้การรักษาทารกกลุ่มนี้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้คืนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งหากนำข้อมูลของรพ.ศิริราช มาประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับทารกไทยทั่วประเทศพบว่ารัฐบาลต้องใช้งบไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ล้านบาท สำหรับเด็กทารกที่เกิดใน กทม. และ 2,000 ล้านบาทสำหรับทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย หรือการดูแลตลอดชีวิต หากมีความพิการ

ด้าน ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้ทารกเสียชีวิต เกิดภาวะ แทรกซ้อน หรือพิการ เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ยังทำงานไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อครอบครัว และสังคมโดยรวม เพราะการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดต้องใช้สถานที่ บุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงรวมตัวในรูปแบบเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการดูแลภาวะสุขภาพของมารดาและทารก ภายใต้โครงการ “เครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย” ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อสนองพระประสงค์ที่ต้องการให้เด็กและครอบครัวไทยมีสุขภาพแข็งแรง โดยมีพระดำริให้สถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศร่วมรณรงค์ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สร้างเสริมสุขภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีตั้งครรภ์ มารดา และทารกวัยแรกเกิด อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงของเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกในกทม. และเป็นการสนองพระปณิธานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลภายในเครือข่ายได้รับทราบ และเข้าใจในแนวคิดและแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของการบูรณาการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและดูแลรักษามารดาและทารกแบบองค์รวมที่ครบวงจร

ทางเครือข่ายฯ จึงร่วมกับ กทม.จัดประชุมวิชาการ “สุขภาพมารดาและเด็กไทย คือหัวใจของแผ่นดิน” ขึ้นในวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551 ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยการประชุมทางวิชาการที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ ในพื้นที่นำร่องคือกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจะเป็นการประชุมเพื่อแถลงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ของบุคลากรในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 92 แห่ง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุข 700 คน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 500 คน โดยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จะเสด็จมาเป็นประธานในพิธี ประทานรางวัลแก่บุคลากรทางการแพทย์ดีเด่น พร้อมทั้งประทานรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตเพื่อใช้ส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง และทารกที่เกิดก่อนกำหนด นอกจากการบรรยาย การเสวนาทางวิชาการ และการจัดแสดงนิทรรศการ ภายในงานยังมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ครั้งที่ 1 เรื่อง “เจ้าชายน้อยของปวงชนชาวไทย” โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา การแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของกรุงเทพมหานครกับนโยบายคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทย” โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น