รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการกองประกอบโรคศิลปะ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของแม่หลังทำผ่าตัดคลอดที่ รพ.เอกชนเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ.2551 เป็นการด่วน โดยจะดูทั้งมาตรฐานโรงพยาบาล และมาตรฐานการรักษา เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนกรณีที่การเสียชีวิตของเด็ก 7 ขวบ ที่ร.พ.อู่ทอง ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว ผู้ปกครองไม่ติดใจที่จะดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญา พร้อมจะถอนแจ้งความในวันพรุ่งนี้
จากกรณีการเสียชีวิตของนางพรรพิไล ตันเจริญ อายุ 31 ปี ตั้งครรภ์แรก หลังผ่าตัดคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งแพทย์นัดผ่าตัดวันที่ 8-9 มีนาคม พ.ศ.2551 แต่ผู้เสียชีวิตเจ็บครรภ์ก่อนและมีน้ำเดินในคืนวันที่ 6 มีนาคม 2551 และไปโรงพยาบาลเอกชนที่แพทย์นัดผ่าตัด แต่มีปัญหาไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เนื่องจากรกเกาะต่ำ ได้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเมื่อเวลา 02.00 น.ของวันที่ 7 มีนาคม 2551 บุตรเพศชาย น้ำหนัก 3,000 กรัม แข็งแรงดี แต่หลังผ่าตัดมารดาเสียเลือดมาก แพทย์ได้ทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 ในวันเดียวกัน เพื่อตัดมดลูกเนื่องจากมดลูกไม่แข็งตัว และเสียชีวิตในที่สุดนั้น
เกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องนี้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นการด่วน โดยให้กองการประกอบโรคศิลปะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การรักษานางพรรพิไล เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมทั้งสั่งกำชับให้กองการประกอบโรคศิลปะ เร่งพัฒนาและตรวจสอบมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้เป็นที่มั่นใจของประชาชนที่รับบริการได้อย่างปลอดภัยในชีวิต
ทางด้านนพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดในการดูแลรักษาพยาบาลนางพรรพิไล โดยดูทั้งมาตรฐานสถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ บุคลากร มาตรฐานการรักษา ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งในเบื้องต้นนั้นยังไม่สามารถระบุผิดถูกได้ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตครั้งนี้จะให้แพทยสภาและองค์กรวิชาชีพช่วยตรวจสอบด้วย
นพ.ธารา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 333 แห่ง กองการประกอบโรคศิลปะได้พัฒนาและสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง พัฒนามาตรฐานให้ดีขึ้นทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ ทั้งเรื่องเครื่องมือ บุคลากร และความสะอาดสถานพยาบาล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ และให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานบริการ โดยในปี 2551 นี้ ได้จัดแผนส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมประเมินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง
ทางด้าน นพ.สุรินทร์ ประสิทธิ์หิรัญ นพ.สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิงวิภาดา ปทุมสูติ หรือน้องหมิว อายุ 7 ขวบเศษ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2551 หลังเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากอาการไข้ และปวดท้อง ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเด็กอาจเป็นไข้เลือดออกว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอู่ทองได้ให้การดูแลรักษาน้องหมิวอย่างเต็มที่ ในวันนี้ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับบิดามารดาของน้องหมิวแล้ว พร้อมให้การดูแลช่วยเหลือเต็มที่
ในเบื้องต้นได้จ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในงานบำเพ็ญกุศลศพ และจะมอบค่าทำขวัญให้อีก 50,000 บาท โดยในวันพรุ่งนี้จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าชดเชยตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิอันพึงได้ ในวงเงิน 200,000 บาท ซึ่งหลังพูดคุยผู้ปกครองเข้าใจ และไม่ติดใจที่จะดำเนินเรื่องทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยจะถอนแจ้งความในเช้าวันพรุ่งนี้ด้วย