xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของพระเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผ่นดินของพระเจ้าหลังรั้วเหล็กและโซ่ตรวน
เสียงสวดอาซานของพี่น้องมุสลิมว่ายลมมาให้เราได้ยินด้วยแรงส่งจากเครื่องขยายเสียง แต่อาจไม่สำคัญเท่ากับแรงศรัทธา ...มองขึ้นไปบนฟ้า เสียงกำลังจะไปที่นั่น ไปให้ถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน

เราเดินเตร็ดเตร่ไปทั่วตัวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในยามเย็นที่พระอาทิตย์สีแยมส้มใกล้ตกดิน ชายมุสลิมนั่งจิบน้ำชาพูดคุยกันตามร้านกาแฟริมทาง มันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวมุสลิมกระทำกันเป็นกิจวัตร

สำหรับคนเมือง กลางคืนมีแสงสี เสียงเพลง และความมึนเมา การมาอยู่ที่นี่ย่อมต้องซึมเซา จะนะไม่มีร้านเหล้า ไม่มีผับ ไม่มีคาราโอเกะ ตกเย็น มีร้านรวงเปิดบ้างแต่ไม่มากพอจะคึกคัก ไม่มีความบันเทิงให้ตื่นเต้นเร้าใจ วิถีชีวิตดำเนินไปตามท่วงทำนองสม่ำเสมอเหมือนลมหายใจของคนหลับลึก

น่าเบื่อหน่ายหรือสงบงามขึ้นอยู่กับสายตาของแต่ละคน

ถอยไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน อำเภอจะนะเป็นที่รู้จักของผู้คนจากการที่มันตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เมื่อชาวบ้านที่นั่นรวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้าง โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เกิดการชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ นำไปสู่การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นาย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีการฟ้องร้องชาวบ้านและนักพัฒนาเอกชนรวม 20 คนในข้อหาร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน (และอีกหลายข้อหา) แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำตัดสินให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายจำเลยได้ใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ

ถึงวันนี้ โรงแยกก๊าซดังกล่าวปรากฏร่างยักษ์ขึ้นโดยที่ชาวบ้านจะนะไม่อาจทัดทานได้ โดยที่ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีเพียงโรงแยกก๊าซเท่านั้น จะไม่มีโครงการใดๆ ตามลงมาอีกแน่นอน แต่ตอนนี้โรงไฟฟ้าจะนะก็เกิดขึ้นแล้ว...อีกตามเคย

สำหรับชาวบ้านในพื้นที่และคนที่ติดตามแผนการพัฒนาของรัฐ ตระหนักดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียจะยืนอยู่เดียวดายดังที่ผู้มีอำนาจได้ประกาศ แต่มันคือตัวรุกทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญตัวหนึ่งของ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard เพื่อกรุยทางให้กับอภิมหาโครงการอื่นๆ ที่จะตามลงมา ขณะที่ผลกระทบและความขัดแย้งอันเป็นผลพวงจากโรงแยกก๊าซเองก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา แต่ความหวาดกลัวว่าจะนะจะแปลงกายเป็นมาบตาพุดแห่งที่สองกลับกัดกินความมั่นใจในอนาคตของคนที่นั่นให้กร่อนลงทุกทีๆ

เรากลับไปที่จะนะ เพื่อคลุกคลีตีโมงกับเรื่องราวที่นั่นอีกครั้ง (เท่าที่เวลาจะเป็นใจ แน่นอน ย่อมไม่ใช่ทุกๆ แง่มุมของจะนะ) กับหนึ่งเรื่องราวที่กระตุกความรู้สึกภายในของเราให้เชื่อมโยงกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดเป็นคำถามว่ารัฐจะดับไฟใต้ได้อย่างไร? ถ้ารัฐยังไม่เข้าใจและละเลยรายละเอียดที่ดูเหมือนเล็กน้อยในสายตาของรัฐ แต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เกาะเกี่ยวกับศรัทธาอันแน่นแฟ้นของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

สร้างรอยบาดหมางบนหัวใจของผู้คน บน...แผ่นดินของพระเจ้า

คนจะนะต้องการคำตอบ

ย้อนกลับไปเมื่อแรกเริ่มจะมีการตั้งโรงแยกก๊าซ บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เคยบอกกับชาวบ้านจะนะว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ จากตัวโรงงาน ชาวจะนะจะได้ใช้ก๊าซราคาถูกและมีงานทำ

แต่พอโรงแยกก๊าซเกิดขึ้นได้ไม่กี่ปี ชาวบ้านโดยรอบก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าคำโฆษณาเมื่อครั้งนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ กลิ่นและเสียงที่เกิดจากโรงแยกก๊าซชักจะหนักข้อขึ้นทุกทีๆ

“คนอื่นไม่รู้ เฉพาะลุง ถ้าขายที่ได้ ไป ไม่อยู่ ไม่อยู่แน่นอนเลย เพราะวันข้างหน้าเราก็กลัวว่าจะมาเยอะแยะ เหมือนกับที่มาบตาพุด”

สมพงษ์ ประสีทอง วัย 66 ปี สารภาพกับเราอย่างนั้น บ้านของเขาห่างจากโรงแยกก๊าซนิดเดียวเท่านั้น ลุงสมพงษ์บอกว่าตอนกลางคืนจะมีเสียงดังมาก หนำซ้ำกลิ่นก๊าซที่มาจากโรงงานก็เหม็นจนทำให้ไม่สบาย ต้องปรับตัวกันอยู่หลายเดือน เคยร้องเรียน...แต่เงียบคือคำตอบ

เรื่องเสียงดัง เราไม่แน่ใจว่าดังขนาดไหน เพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อพิสูจน์ แต่ถ้าเรื่องกลิ่น เราพอยืนยันได้

ขณะที่รถของเรากำลังวิ่งผ่านบริเวณโรงแยกก๊าซ สายลมหอบหิ้วเอากลิ่นก๊าซเข้ามาทิ้งในรถที่เรานั่ง มันไม่ผิดอะไรกับการนั่งสูดก๊าซหุงต้มตามบ้าน พี่ที่ขับรถให้เราปิดกระจกเพื่อยุติการทดสอบสมมติฐานเรื่องกลิ่น (น่าจะพอแล้ว) ถ้าสายลมพัดพากลิ่นพวกนี้เข้าไปในชุมชนจริง ทางโรงแยกก๊าซก็จำเป็นต้องให้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น

แต่ลุงสมพงษ์โชคดีกว่า นิคม คล้ายกุ้ง วัย 48 ที่บ้านของเขาอยู่ติดกับรั้วโรงแยกก๊าซ ไม่นานก่อนหน้านี้นิคมมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโครงการทหารผ่านศึกซึ่งมีโรงแยกก๊าซเป็นผู้ว่าจ้าง พร้อมๆ กับการเลี้ยงไก่ที่เขารับมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อรอบการเลี้ยงประมาณ 90,000 บาท

“แต่พอโครงการมา เราก็ไม่มีอะไรจะทำ เราไปเป็น รปภ. ของผู้รับเหมาอยู่ปีกว่า พอออกมาก็ไม่มีงานทำ เลยมาสมัครเป็น รปภ. ของโครงการทหารผ่านศึก แต่โรงแยกก๊าซเป็นคนจ้าง แต่นี่เขาให้พักงานมา 6-7 เดือนแล้ว เพราะเราไปฟ้องเขาเรื่องที่เราทำมาหากินไม่ได้ เราเลี้ยงไก่ไม่ได้ เพราะเราไปยื่นหนังสือให้ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงแยกก๊าซ”

นิคมระบายความยากลำบากของการมีชีวิตกลั้วรอยยิ้มแบบปลงๆ และเย้ยหยันโลกไปในตัว ส่วนมือก็หยิบเอกสารจากทางบริษัทขายไก่ให้เราดู เจ้ากระดาษแผ่นนั้นพูดกับเราทำนองว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงไก่ เนื่องจากมีกลิ่นเหม็นและเสียงดังรบกวน บทสรุปก็คือไม่ส่งไก่ให้เลี้ยง ล่าสุด นิคมพยายามใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา

ข้ามมาฝั่งตำบลสะกอม เรื่องเสียงและกลิ่นไม่ใช่เพียงปัญหาเดียวที่ชาวบ้านที่นี่ต้องเผชิญ ชาวบ้านยังเชื่อด้วยว่าทางโรงงานปล่อยน้ำลงสู่ป่าพรุ ทำให้ปู ปลาที่เคยจับได้หายไป ขณะที่พ่อเฒ่ามุสลิมวัย 65 ปี สุไลมาน นิยูนุ ผู้เลี้ยงวัวมาตั้งแต่อายุ 15 ก็บอกว่าเลี้ยงวัวมา 50 ปีไม่เคยมีครั้งไหนที่วัวของพ่อเฒ่าจะตกลูกไม่ครบเดือน (หมายถึงคลอดก่อนกำหนด) จนตายหมดทั้ง 4 ตัว พ่อเฒ่าสุไลมานเชื่อว่าเป็นเพราะวัวไปกินน้ำในป่าพรุ

“วัวตกลูกไม่ครบเดือน เกิดมาก็ตาย เกิดมาก็ตาย เดือนก่อนเกิดมา 4 ตัวตายหมดเลย มาย มายร้องเรียน แค่บอกให้รู้ว่านี่แหละผลกระทบจากโรงงาน คนอื่นที่เลี้ยงวัวก็เหมือนกัน จะขายวัวแล้ว ไม่มีงานทำแล้ว เรียกร้องแล้ว รวมกลุ่มแล้ว แต่รวมเพื่อจะเอาเบี้ย กลุ่มที่เขาจะเอาเบี้ยก็เอาไป เราไม่เอาเบี้ยเลย เพราะเราอยู่กันไม่ได้

“ที่ว่าพัฒนา มีรายได้ดี ถามใคร ถามเขาหรือถามชาวบ้าน นี่แหละมันเกิดจากไม่ได้ถาม รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมีแต่ลดลง แต่ก่อนทำนา ข้าวสารไม่ต้องซื้อ ปลูกยาเส้น เดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่ได้เลย”

พ่อเฒ่าแห่งบ้านสะกอมหลั่งไหลสิ่งที่อึดอัดออกมา ผ่านน้ำเสียงของคนที่ผ่านโลกมามาก รอยยับบนใบหน้ากับดวงตาฝ้าฟางคู่นั้น...เราอาจคิดไปเอง แต่มันเหมือนคนอมทุกข์ ประโยคหนึ่งที่พ่อเฒ่าสุไลมานเอ่ยขึ้น ทำให้เรารู้สึกชาๆ และเจ็บแปลบบอกไม่ถูก

"ไม่รู้มาคุย มาสัมภาษณ์กี่รอบแล้ว แต่แล้วได้ประโยชน์อะไรกับชาวบ้านบ้าง ไม่มี เบื่อแล้ว”

แผ่นดินของพระเจ้า

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชาวบ้านได้รับไม่ใช่ปัญหาเดียวที่คั่งค้างและต้องการให้บริษัท ทรานซ์ไทย-มาเลเซีย ลงมาตรวจสอบ แต่สิ่งที่ใหญ่โตกว่า กระทบหัวจิตหัวใจมากกว่า และคาราคาซังมาเกือบจะ 5 ปีก็คือเรื่องที่ดินวะกัฟ ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แต่กลับเงียบหายไปจากการรับรู้ของสังคม ที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าคือชาวบ้านกลับรู้สึกว่ารัฐและบริษัทได้ร่วมมือกันใช้อำนาจและกฎหมายย่ำยีศรัทธาของพวกเขาอย่างร้ายแรงยิ่งขึ้นทุกที

ใจความสั้นๆ มีอยู่ว่าโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียได้ล้อมรั้วปิดกั้นและเข้าก่อสร้างทับที่ดินวะกัฟหรือที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้กันมาร่วม 100 ปี โดยที่ชาวบ้านมิได้ยินยอม หนำซ้ำรัฐยังออกกฎหมายเพิกถอนที่สาธารณะแห่งนี้เสียอีก

ที่ดินวะกัฟสำคัญอย่างไร?

“เมื่อพูดถึงวะกัฟ มุสลิมจะรู้สึกสะดุดเพราะเป็นที่ที่จะเข้าไปล่วงล้ำหรือทำมิดีมิร้ายไม่ได้ เพราะวะกัฟคือการมอบสิทธิ การอุทิศทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ่อน้ำ ให้เป็นของพระเจ้า เป็นสิทธิของพระเจ้า หมายถึงให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เจ้าของเดิมไม่สามารถจะอ้างสิทธิได้แล้ว แต่เขาจะมีสิทธิในโลกหน้า ผลบุญจะสะท้อนไปในโลกหน้า

“มันเป็นการแสดงออกว่าผู้ที่ทำวะกัฟมีความมุ่งมั่น มีความศรัทธาที่แข็งแกร่งต่อพระเจ้าจริงๆ จึงมอบทรัพย์สินที่มีราคาให้กับพระเจ้าและให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่วันนี้มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”
นาซอรี หวะหลำ ครูสอนศาสนาอิสลามประจำมัสยิดสอลาหุดดีน อธิบายให้เราฟัง

แผ่นดินผืนนี้จึงมิใช่เพียงที่ดินสาธารณะประโยชน์ทั่วๆ ไปสำหรับพี่น้องมุสลิม หากแต่มันได้อยู่เหนือขึ้นไปอีก เป็นแผ่นดินของพระเจ้าที่หลักศาสนาอิสลามระบุว่าไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนแปลง หรือยกให้ใครได้ และชาวมุสลิมทุกคนจะต้องร่วมกันปกป้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สมกับเจตนารมณ์ของผู้ที่ทำวะกัฟที่ล่วงลับไปแล้ว มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดหลักศาสนาและได้รับโทษในโลกหน้า!!

นาซอรีเล่าว่าที่ดินผืนนี้แต่เดิมเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน ซึ่งได้เปล่งวาจาออกไปว่าสิ่งนี้ข้าพเจ้าได้วะกัฟ ได้มอบหมายให้เป็นสิทธิของอัลเลาะห์ ให้กับสาธารณะได้ใช้ประโยชน์

กรณีนี้ เคยถูกส่งไปถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งก็มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินผืนนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นที่วะกัฟ และทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ส่งหนังสือคำวินิจฉัยนี้ให้กับ เพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ผู้จัดการใหญ่บริษัท ทรานซ์ไทย-มาเลเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2547 โดยที่ทางฝั่งชาวบ้านมองว่าการตรวจสอบของสำนักจุฬาราชมนตรีไม่โปร่งใส เพราะไม่เปิดโอกาสให้ทางชาวบ้านได้ชี้แจง ทั้งที่ชาวบ้านมีพยานคนสำคัญคือวะเระหรือทายาทของผู้ที่ทำวะกัฟซึ่งพร้อมจะยืนยันว่าแผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้า

“...แมะบอกเราว่าโต๊ะชายมึงได้วะกัฟไว้เป็นทางให้พี่น้องคนตลิ่งชัน คนสะกอม และคนทั่วไปเดินทางไปมาหาสู่กัน เขาบอกกว้างพอสำหรับเกวียนไปมา สวนกันได้ ครั้งหนึ่งเราเคยไปปลูกต้นไม้ แมะบอกว่าปลูกได้ แต่ห้ามปิดทาง ทางวะกัฟปิดกั้นไม่ได้ เรายึดหลักการศาสนา ยึดฮูก่มของเรา ต้องหยุดกฎหมายที่ย่ำยีศาสนา เราขอท้าสุรยุทธ์ (หมายถึง พลเอกสุรยุทธ์ จุฬานนท์) ให้นำตัวจุฬาฯ มาสบถกับวะเระ...” เป็นคำพูดของ รอกิเย๊าะ มะเด วะเระของผู้ทำวะกัฟ เอ่ยไว้ใน จดหมายข่าวเรื่องเล่าจากลานหอยเสียบ ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม 2549-มกราคม 2550

เดือนตุลาคม 2546 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เลขที่ 17/2547 ออกมา ซึ่งสรุปได้ว่าการกระทำของบริษัท ทรานซ์ไทย-มาเลเซีย ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและเสนอให้ทางบริษัทดำเนินการปรับสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ให้คืนสู่สภาพเดิมและให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นทางสาธารณะประโยชน์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้

โดยปกติคณะกรรมการสิทธิก็มักถูกพูดถึงว่าเป็นยักษ์ไม่มีกระบองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าข้อเสนอดังกล่าวจะถูกเมินเฉยอย่างไม่ใยดี

“โรงแยกก๊าซรู้ว่าตรงนั้นเป็นที่วะกัฟจึงพยายามหาช่องทางที่จะชี้ว่าไม่ใช่วะกัฟ อย่างที่ตำบลตลิ่งชันก็มีข้าราชการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรุกล้ำพื้นที่วะกัฟ แต่ข้าราชการคนนี้โดนย้ายไปแล้วภายใน 24 ชั่วโมง ภาครัฐและบริษัทมีเครื่องมือมากที่จะทำให้หลักการศาสนานี้มันหมดสภาพ” นาซอรีพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

แต่แล้วอยู่ๆ วันที่ 13 สิงหาคม 2549 ไม่นานก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปต่างประเทศและถูกรัฐประหาร อดีตนายกฯ ท่านนี้ก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกา ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (จากหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 86 ก หน้า 15 วันที่ 28 สิงหาคม 2549) กลายเป็นว่าโรงแยกก๊าซสร้างทับที่สาธารณะประโยชน์ไปแล้ว แล้วจึงค่อยออกกฎหมายยกเลิกที่สาธารณะย้อนหลัง เจอเข้าแบบนี้ ชาวบ้านก็งงกันไปเท่านั้น

เปล่า, เรื่องนี้ยังไม่จบ สำหรับชาวบ้าน การออกกฎหมายย้อนหลังในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับโรงแยกก๊าซกลับยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าโดนรังแก และยังต้องหาช่องทางต่อสู้เพื่อหลักการศาสนาต่อไป อีกทั้งการออกพระราชกฤษฎีกานี้ยังเป็นการขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจนซึ่งเป็นช่องทางให้ชาวบ้านใช้ต่อสู้เรียกร้องได้

เนื่องจากในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรค 2 (1) ระบุว่า ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจัดหาที่ดินมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว การถอนสภาพหรือโอน ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ ถ้าพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตามอำนาจกฎหมายอื่นแล้ว การถอนสภาพ ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

ดูตามข้อเท็จจริง ที่ดินวะกัฟผืนนี้ยังคงเป็นที่ดินที่ชาวบ้านตลิ่งชันและสะกอมใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ถูกทางบริษัท ทรานซ์ไทย-มาเลเซีย นำรั้วไปล้อมเพื่อปิดกั้นเส้นทาง ดังนั้น ที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านยังคงใช้ หากจะถอนสภาพย่อมต้องออกเป็น พระราชบัญญัติ ไม่ใช่ พระราชกฤษฎีกา ดังที่เกิดขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันก็แค่เรื่องเก่าๆ เรื่องหนึ่งที่เราหยิบมาเล่าใหม่อีกครั้งจากปากคำของคนในพื้นที่ มันเป็นองก์องก์หนึ่งในละครเรื่องใหญ่ เพียงแต่เป็นองก์ที่ถูกลืมไปเพราะกาลเวลา ขณะที่ความไม่เป็นธรรมยังคงอยู่

เงื่อนไข

บนฝั่งทะเลจะนะ คลื่นลมยังเริงแรง เรายืนอยู่บริเวณแนวท่อก๊าซ หากเราไม่ต้องผ่านเรื่องราวเหล่านี้ ทะเลที่นี่คงสวยแบบไม่มีเงื่อนไข

“มันเป็นความรู้สึกเดียวกันว่าอำนาจที่มีในมือรัฐบาลและบริษัท จะรุกรานและรังแกประชาชนอยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีปัญหาก็ป้ายสีชาวบ้านตลอด ผมว่าเป็นความรู้สึกเดียวกันกับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน” นาซอรีพูดกับเราด้วยความรู้สึกของผู้ที่ถูกข่มเหง

แผ่นดินของพระเจ้าผืนนี้วาดภาพอนาคตอันน่าหวาดไหวของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงคำนึงของเรา คำถามเดิมลอยมาอีกครั้งว่ารัฐจะดับไฟใต้ได้อย่างไร? ในเมื่อรัฐยังสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา

เสียงสวดอาซานจางหาย เราอยากให้มันพาเงื่อนไขความขัดแย้งและความทุกข์ยากต่างๆ จากไปด้วย

...อยากให้ทะเลที่นี่สวยแบบไม่ต้องมีเงื่อนไข

***************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย
ทะเลจะนะในวันที่ยังมีเงื่อนไขความขัดแย้งคุกรุ่น
ป้ายตามแนวท่อก๊าซ
บรรยากาศบ้านชาวบ้านในตำบลสะกอม
ชาวบ้านสะกอม คนกลางคือพ่อเฒ่าสุไลมาน
ลุงสมพงษ์
นาซอรี ครูสอนศาสนา
วันนี้ชาวบ้านยังเข้าไปไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น