xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ เตือนไทยจะเจอพายุหมุนฤดูร้อน 2-3 ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอุตุฯ เตือน ไทยจะเจอพายุหมุนฤดูร้อน 2-3 ลูก พร้อมตั้งคณะกรรมการพยากรณ์น้ำฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-จัดการน้ำเพื่อการเกษตร และคณะกก.จัดการน้ำฝั่งตะวันตก-ออกของ กทม.รับมือสถานการณ์น้ำในปีนี้ ขณะที่อานิสงส์ “นาร์กีส” ทำให้ไทยมีน้ำสะสมท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น

ในวันนี้ (7 พ.ค.) ได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2551 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยมี นายจริย์ ตุลยานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร.เป็นประธานการประชุม และมี นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ กรมอุตุนิยมวิยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กทม.เพื่อรับทราบผลดำเนินการของคณะทำงานติดตาม และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2551
 
ทั้งนี้ นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรทางน้ำและการเกษตร ได้แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์น้ำฝนในปีนี้ที่ คาดว่า จะเทียบเท่ากับปี 2545 หรืออาจจะมากกว่า ดังนั้นสถานการณ์น้ำปีนี้รุนแรง ฝนจะทิ้งช่วงหน้าแล้งเพียง 2 อาทิตย์ ทั้งนี้ พระองค์ทรงรับสั่งว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีการเปลี่ยนแปลงควรต้องมีการสร้างเขื่อนพวงหรืออ่างเก็บน้ำ เพื่อรับปริมาณน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนจะได้ไม่ต้องระบายน้ำทิ้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกัน แผนที่ฝนในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น ต้องทบทวนการบริหารจัดการน้ำใหม่ เพราะหากฝนตกท้ายเขื่อนมากน้ำจะท่วมได้

นอกจากนี้ พระองค์ทรงห่วงเรื่องการปะทะกันของพายุฝน ลมแรงในปี 2551 การเอาชนะธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ควรเร่งฟื้นฟูป่าชายเลน และทำความเข้าใจกับชาวบ้านโดยใช้หลักการเดียวกับโครงการแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ส่วนการขุดลอกคูคลองต้องศึกษาให้ดีหากจำเป็นต้องมีการปลูกพืชตามแนวตลิ่งเพื่อยึดเกาะ และการขุดลอกให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด ขณะที่โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ คลองสนามชัย จังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานให้ทรงทราบว่า มีเอกชนจำนวน 4 ราย ให้ความสนใจนำพื้นที่ทำแก้มลิงรวม 400 ไร่ สามารถรับน้ำได้ 1 ล้านลบ.ม.ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้กับรายอื่นๆ เพราะหากเกษตรกรที่ทำบ่อกุ้ง บ่อปลา ในเขต จ.สมุทรสาคร และใกล้เคียงนำพื้นที่มาเป็นแก้มลิงด้วย และเลี้ยงปลาก็จะเป็นการเก็บน้ำ ปล่อยน้ำได้สอดคล้องกับธรรมชาติที่สำคัญจะทำให้น้ำไม่ท่วม กทม.ได้เป็นอย่างดี

นายรอยล กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า กทม.มีระบบป้องกันน้ำท่วมดี แต่ควรนำน้ำบางส่วนมาใช้ประโยชน์ เพื่อการทำความสะอาดคูคลอง เพื่อชะล้างตะกอนที่ตกค้างคลองโดยการปล่อยน้ำเป็นส่วนๆ แบบกระแทก นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้ติดตั้งสถานีวัดระดับแม่น้ำ ซึ่งได้มีการติดตั้งแล้วที่แม่น้ำท่าจีน โดยให้ติดเพิ่มเติมที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่ จ.เพชรบุรี เพื่อจะได้หาความสัมพันธ์ แล้วสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำได้ง่ายขึ้น และดีขึ้น เป็นต้น

นายสมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในปีนี้คาดการณ์ว่า จะมีพายุหมุนฤดูร้อนเข้ามาในประเทศไทย 2-3 ลูก โดยมีแนวโน้มสูงสุดที่ฝนจะเคลื่อนผ่านไทยตอนบนในเดือน ส.ค.-ก.ย.และผ่านภาคใต้เดือนต.ค.-พ.ย.แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นห่วง เพราะกรมอุตุฯสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ปีนี้ไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือน ต.ค.ส่วนภาคใต้จะมีฝนต่อเนื่องถึงปลายเดือน พ.ย.นอกจากนี้ จากผลพวงของพายุไซโคลนนาร์กีส ทำให้ไทยได้รับน้ำปริมาณน้ำสะสมท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น และเป็นการบอกว่าไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว

ขณะที่นายชลิต ดำรงศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯได้มีการขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณฝนเก็บกักในเขื่อนในสิ้นปีนี้ให้ได้ 80% ขณะเดียวกัน ได้สั่งให้กรมข้าวจัดเตรียมพันธุ์ข้าวให้พอเพียงสำหรับเกษตรกรใช้ทำนาปรัง

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานจำนวน 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการพยากรณ์น้ำฝน ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสำคัญ คณะกรรมการจัดบริหารจัดการน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออก และตะวันตกของ กทม.และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งทั้งหมดศึกษาก่อนจะมีการประชุมและรายงานผลอีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้

ด้าน นายสวัสดิ์ กล่าวว่า อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการทั้งรับมือน้ำท่วม และภัยแล้ง พร้อมทั้งขอให้กรมชลประทานศึกษาปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลย้อนหลังไปโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้วเพื่อให้ทราบปริมาณที่ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น