พิษณุโลก - ชลประทานมาเลเซียดูงานชลประทานและงานบริหารจัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำพลายชุมพล อ.เมือง พิษณุโลก เสริมศักยภาพให้เต็ม 100 %ตามวาระแห่งชาติของมาเลย์ที่ต้องปลูกข้าวพึ่งตนเอง ลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เผยรัฐมาเลฯหนุนชาวนาใช้ปุ๋ยฟรี
รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลกแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ชลประทาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตร จากประเทศมาเลเซีย 3 คนที่ประกอบไปด้วย Mr.Tuan Hj Halim bin Abdul Jalil – Deputy Director,Division of Irrigation and Agricultural Drainage , Mr Tn.Hj Mohd Abu Bakar – Deputy Director,DID Pulau Pinang State และ Mr.Thian Kim Tai – Asst.Direct Division of Irrigation and Agricultural Drainage ได้เดินทางมาดูงานระบบชลประทานในพื้นที่เกษตรกรรมที่กลุ่มสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ต.วัดพริก อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตามโครงการความร่วมมือไทย-มาเลเซียในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านชลประทาน
โดยที่ฝ่ายไทยมีนายกรรณชิง ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ให้การต้อนรับและอธิบายระบบชลประทานใต้เขื่อนนเรศวร พิษณุโลก พร้อมกับนายสวน เจริญสุขรุ่งเรือง กำนัน ต.วัดพริก ประธานสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ต.วัดพริก อธิบายถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำของสมาชิกผู้ใช้น้ำ ต.วัดพริก อ.เมือง จ.พิษณุโลก
นายกรรณชิง ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำพลายชุมพล กล่าวว่า ชลประทานมาเลเชียเดินทางมาดูงานครั้งนี้ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซียแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการชลประทาน ซึ่งในแต่ละประเทศจะนำประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำแต่ละประเทศมาปรับประยุกต์ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
โดยการดูงานของมาเลเชียครั้งนี้ กลับสนใจโครงการใช้น้ำในรูปแบบสหกรณ์ เพราะที่ประเทศมาเลเซียยังไม่มีการจัดการรูปแบบสหกรณ์มาใช้ในระบบน้ำ นอกจากนี้ยังสนใจระบบน้ำใต้ดิน บ่อบาดาล ที่ชาวนาไทยมีความสามารถทำนาได้ แม้อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะไปดูงานที่จังหวัดสุโขทัยต่อไป
Mr Tn.Hj Mohd Abu Bakar – Deputy Director,DID Pulau Pinang State เปิดเผยข้อซักถามแก่สื่อมวลชนว่า ตนมาดูงานระบบการจัดการชลประทานและบริหารจัดการของสหกรณ์พิษณุโลก และการบริหารจัดการน้ำใต้ดินที่จังหวัดสุโขทัย เป็นเพราะรัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าวาระแห่งชาติว่าอนาคตอันใกล้นี้ รัฐมาเลเซียจะเร่งปลูกข้าวให้ครบ 100% เพื่อต้องการพึ่งตัวเอง เสริมความมั่นคงในประเทศ จากเดิมที่ปลูกข้าวเองเพื่อการบริโภค 70% ของประชากรในประเทศ แต่ไม่พอ อีกร้อยละ 30 ต้องสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลมาเลเชียจึงต้องมีนโยบายเพิ่มผลผลิตข้าวบนแปลงเนื้อที่เกษตรกรรมเท่าเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบชลประทานไทยมีข้อบกพร่องและข้อดีด้านใดบ้าง เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเชีย บอกว่า ชลประทานของไทยดีแล้ว และดีเรื่องระบบสหกรณ์ ซึ่งตนจะนำการบริหารจัดการน้ำของไทยในรูปสหกรณ์กลับไปพัฒนาระบบชลประทานมาเลเชีย เพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนข้อดีของชลประทานมาเลเชียดีคือรัฐสนับสนุนระบบน้ำ และยังสนับสนุนปุ๋ยเคมีให้ชาวนาฟรี
เขาบอกอีกว่า งานชลประทานของไทยกับมาเลเซียไม่แตกต่างกันมากนัก โดยรัฐเป็นผู้วางระบบชลประทานให้ แต่ข้อดีของไทย คือ ความร่วมมือของภาคประชาชนที่รวมตัวและบริหารจัดการน้ำในรูปสหกรณ์
ส่วนข้อดีของชลประทานของมาเลเซีย คือ นอกเหนือจากน้ำที่รัฐบาลมาเลเซียจัดให้ รัฐยังสนับสนุนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้ทั้งหมด ชาวนาของมาเลเซียทำหน้าที่เพียงไถและหว่านเท่านั้น ปริมาณชาวนามาเลเซีย มีจำนวนน้อยกว่า 20% ของคนทั้งประเทศจะได้รับการดูแลอย่างดี