กทม.เฝ้าระวังสภาพอากาศในพื้นที่ เหตุปีนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่าในรอบ 30 ปี และมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน เผยสัปดาห์หน้ายังตกต่อเนื่อง 30-60% พร้อมเตรียมหน่วย BEST และศูนย์ปฏิบัติงานเร่งด่วนเพื่อประชาชนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ พร้อมเดินหน้านำแนวพระราชดำริบริหารจัดการน้ำมาปรับใช้
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อากาศในช่วงนี้ว่า จากรายงานพยากรณ์อากาศในช่วงนี้ ความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน เกิดฝนหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง ในพื้นที่ กทม.มีฝนตกเฉลี่ย 70% ของพื้นที่โดยจะเห็นว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกทุกวัน และในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีฝนตกเฉลี่ย 30-60% ของพื้นที่
โดยในปีนี้ฝนตกเฉลี่ยมากกว่าปีที่แล้ว เฉพาะในเดือน เม.ย2551 มีปริมาณฝนตก 217 มิลลิเมตร ซึ่งข้อมูลเฉลี่ย 30 ปี มีปริมาณ 64 มิลลิเมตร และปีที่แล้วมีปริมาณ 168 มิลลิเมตร จะเห็นว่าในปีนี้ฝนมาตั้งแต่ต้นปี ฝนรวมตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือน เม.ย.2551 มีปริมาณรวม 336 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยของ 30 ปี 167% และมากกว่าปีที่แล้ว 180% จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนบางพื้นที่ ทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง ต้นไม้ ป้ายโฆษณา และเสาไฟฟ้าล้ม
สำหรับการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมนั้น กทม.จะปล่อยขบวนหน่วย BEST ในวันที่ 30 เม.ย.2551 พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) และได้มอบให้เลขานุการผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการปฏิบัติงานเร่งด่วนเพื่อประชาชน ไปตรวจศูนย์รับแจ้งที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน ซึ่ง สนน.ต้องรายงานสถานการณ์น้ำฝน การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อม สั่งการ และบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับให้ สนน.และเขตไปปรับแผนรับมือสถานการณ์น้ำในปีนี้ อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 พ.ค.2551 จะมีการประชุมสำนักการระบายน้ำเพื่อวางแผนการจัดการน้ำท่วมปี 2551 จากนั้นในวันเสาร์ (3 พ.ค.) นี้จะลงพื้นที่ตรวจแผนป้องกันน้ำท่วม ณ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วย
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สนน.ประสานข้อมูลแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริแนวทางการบริหารจัดการน้ำ พร้อมประสานกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในประเด็นโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย ที่ให้ขยายขอบเขตให้มากขึ้น การเพิ่มพื้นที่การระบายน้ำด้านตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การถ่ายเทและหมุนเวียนแก้ปัญหาน้ำเสีย การจัดการให้น้ำผ่านเมืองได้สะดวกเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น