xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เตรียมขอเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็ก-ครูใต้กลัว นร.อดหลังข้าว-น้ำตาลราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ขยับหารือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอปรับเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียนที่รับอยู่ 10 บาทต่อคนต่อวัน หลังข้าวสาร-น้ำตาลราคาพุ่ง ครูใต้ส่งจดหมายร้องเรียนกลัวปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าความไม่สงบ เกรงนักเรียนไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้อย่างพอเพียงตลอดปี

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้าในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว และน้ำตาล ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักถึงปัญหา และเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงการจัดอาหารสำหรับนักเรียน ซึ่งรวมถึงโครงการอาหารกลางวันที่อาจต้องมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีครูจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เขียนจดหมายร้องเรียนมาถึง ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ กพฐ.ว่า ขณะนี้เริ่มเป็นห่วงเรื่องการจัดอาหารให้แก่เด็กมากกว่าเรื่องความปลอดภัยแล้ว
 
ดังนั้น สพฐ.คงต้องทำเรื่องเสนอไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูแลงบประมาณดังกล่าว เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มเงินอุดหนุนการจัดโครงการอาหารให้แก่เด็กต่อไป

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ตามที่ตนได้รับจดหมายจากครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าในปีการศึกษา 2551 นี้ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้กลัวปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่กลัวปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอาหารมีราคาแพงมากขึ้น จึงเกรงว่านักเรียนจะไม่ได้รับประทานอาหารที่โรงเรียนจัดให้อย่างพอเพียงตลอดปี ซึ่งคุณหญิงกษมาจะนำข้อกังวลดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมทั้งหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าจะปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาสจากปัจจุบันที่อุดหนุนอยู่หัวละ 10 บาทต่อวันได้หรือไม่ สำหรับราคาค่าอาหารในโรงเรียนทั่วไป สพฐ.คงไม่สามารถควบคุมได้ เพราะในทางปฏิบัติคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดราคาอาหารที่ขายในสถานศึกษาอยู่แล้ว

ด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผน สพฐ. กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการวิจัยติดตามการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งมี พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เป็นประธานคณะทำงานวิจัย โดยมีการติดตามเก็บข้อมูลจากโรงเรียนจำนวน 1,340 โรง ใน 5 สังกัด ได้แก่ สพฐ. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งผลการวิจัยพบปัญหาที่คล้ายๆ กัน อาทิ งบประมาณยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน และที่สำคัญกว่านั้นคือ งบฯ ไปไม่ทันเวลา กำลังคนไม่เพียงพอที่จะดูแลการจัดอาหารกลางวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ และการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองหรือชุมชนยังน้อย

“ผู้วิจัยเสนอแนะว่า ควรจัดสรรงบฯ อาหารกลางวันลงสู่โรงเรียนโดยไม่ผ่าน อปท. และให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่ขาดแคลน และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ควรจัดอาหารเสริม (นม) ให้แก่นักเรียนชั้น ป.5-6 ครบทุกคน มีการขยายผลโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนชั้น ม.ต้น ควรจัดอบรมความรู้ด้านโภชนาการให้แก่ครูผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบโครงการ และควรมีบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ใช่ครูประจำชั้น ซึ่งตนจะนำผลการวิจัยดังกล่าวประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาต่อไป” ดร.รังสรรค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น