xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ-หมอผู้ให้” + “สุลีกาญ-ครูผู้สร้าง” เส้นทางนี้เพื่อเด็กพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูแจ้-สุลีกาญ ธิแจ้

บนเส้นทางอาชีพไม่ว่าจะสั้นหรือยาว แต่ละคนย่อมมีปรัชญาการก้าวเดินตามเส้นทางที่เลือก มีบ้างบางคนที่จำเป็นหรือเต็มใจเดินสวนทางกับผู้คนกระแสหลัก ฝ่าฟันต่อสู้กับคำพูดต่อต้านโดยลำพัง และยังเดินหน้าทำงานต่อไป เช่นเดียวกับ ครูหนึ่งคนที่ยืนหยัดเพื่อเด็กที่มีความบกพร่องให้มีโอกาสเรียนร่วมกับเด็กธรรมดา และหมอผู้เดินหน้าช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ด้วยหวังว่าจะแก้ปมปัญหาในใจตัวเองได้

“ครู” วิชาชีพที่ก่อร่างสร้างคน และ “หมอ” ผู้กู้ชีวิตและจิตวิญญาณให้คนไข้ มีความเกี่ยวข้องกับปรัชญาและอุดมการณ์เดียวกันอย่างไร หาคำตอบได้นับจากนี้…
นพ.วิษณุ ประเสริฐสม
  • หมอ-พ่อ หมวกใบเดียวกัน
    นพ.วิษณุ ประเสริฐสม ประธานกรรมการบริหาร เมดิแคร์ คลินิก อดีตสูตินรีแพทย์ที่เลือกวางมีดผ่าตัดเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา แล้วหันมาจับธุรกิจความงามร่วมกับพญ.ศรีสกุล ภรรยาอย่างจริงจัง หลังจากที่เคยดูถูกแพทย์ผิวหนังว่าไม่ยิ่งใหญ่ และช่วยเหลือใครไม่ได้นอกจากส่งเสริมให้คนไข้ฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ

    “ผมเปลี่ยนความคิดเพราะได้เจอกับคนไข้ที่มีอาการโรคผิวหนังรุนแรง และส่งผลต่อสภาพจิต พูดได้ว่าเด็กสาวคนหนึ่งกลายเป็นคนปลีกตัวจากสังคม เครียดจนอยากตาย และกำลังจะออกจากมหาวิทยาลัยเพราะคนอื่นๆ ไม่ยอมรับ ทำให้ผมเริ่มได้คิดว่าแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมอสาขาไหน เราไม่ควรจะไปดูถูก จากนั้นผมก็ช่วยงานภรรยาแล้ววางมีดโดยสิ้นเชิง”

    จากธุรกิจความงามที่เริ่มต้นที่อุบลราชธานี เคลื่อนตัวสู่เมืองใหญ่ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ พร้อมๆ ไปกับเป้าหมายการทำงานเพื่อสังคม ด้วยสำนึกของอดีตนักเรียนทุนแพทย์ศิริราช สำหรับโครงการแรกเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่องการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กหูหนวก เด็กออทิสติก และเด็กที่มีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองช้ากว่าเด็กทั่วไป หลังจากที่ตลอดเวลาในอุบลราชธานี นพ.วิษณุ ได้กระทำมา

    “ลูกคนที่ 3 ของผมมีความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ตอนนี้ 4 ขวบก็ยังเดินไม่ได้ ฉะนั้นเวลาที่เราเห็นเด็กกลุ่มนี้ก็สะท้อนใจ ผมเป็นหมอและมีความสามารถที่จะรักษาหรือหาทางอื่นๆ ที่จะช่วยได้ แต่กับเด็กที่อยู่ห่างไกล ไร้โอกาส ทั้งการศึกษาและการรักษาทางการแพทย์ก็อยากให้เขาได้รับโอกาสนี้”
    นักเรียนปกติอ่านหนังสือให้รุ่นน้องซึ่งเป็นเด็กพิเศษฟัง
  • การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง
    โครงการ “ห้องสมุดฉบับกระเป๋า” เพื่อมอบให้กับโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมทำกับม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นโครงการนำร่องด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ และหนังสือคือหน้าต่างแรกที่จะเปิดประตูของการศึกษาให้กว้างขึ้น

    “หนังสือจำนวน 140 เล่ม ที่ผ่านการคัดสรรจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ อาจจะดูไม่ได้มากมายแต่เชื่อว่าคุณภาพหนังสือจะช่วยให้พัฒนาการของเด็กๆ ดีขึ้นได้ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมเด็กธรรมดากับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เรียนร่วมกันได้ผ่านการอ่าน”

    นพ.วิษณุ แสดงความคิดเห็นในฐานะพ่อคนหนึ่งว่า จากที่ได้สัมผัสระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน รู้สึกได้ว่ามีครูจำนวนไม่น้อยที่ขาดความเข้าใจในการสอน และยังเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง การเรียนการสอนทุกวันนี้จึงเป็นเพียงอุตสาหกรรมการศึกษามากกว่าการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้อย่างแท้จริง
    โครงการห้องสมุดฉบับกระเป๋าของนพ.วิษณุ
  • 1 ครูผู้ทุ่มเท
    กระนั้นในมุมมืด ย่อมมีแสงสว่างส่องถึงเสมอ แม้ว่าจะเป็นเพียงลำแสงเล็กๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครมองเห็นเลย ดังที่ “สุลีกาญ ธิแจ้” หรือ ครูแจ้ ที่ตลอดอายุการทำงาน ได้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จนได้รับรางวัลตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู จ.เชียงใหม่

    ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ ร.ร.วัดช่างเคี่ยน เมื่อปี 2534 เมื่อครูอนุบาลคนหนึ่งตัดสินใจรับเด็กพิเศษเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กธรรมดา แม้จะได้ยินเสียงค้านจากบรรดาครู มิหนำซ้ำยังบอกย้ำชัดว่า “ใครรับเข้ามาก็ต้องสอนเอง” ครูแจ้จึงตามไปสอนนักเรียนในความดูแลด้วยตนเองตามนั้นจริงๆ ผ่านไป 3 ปี ความพยายามของครูแจ้เริ่มบรรลุผล เพื่อนครูเริ่มเปิดใจ และให้ความร่วมมือสอนเด็กเหล่านี้มากขึ้น วันนี้มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ 101 คนคละเรียนกับเพื่อนนักเรียนปกติ 473 คนได้อย่างไร้ปัญหา

    “ปีแรกเรารับเด็กพิการ ออทิสติก และเด็กที่มีปัญหาด้านการทรงตัว คนอื่นบอกให้สอนเด็กเหล่านี้เอง ครูก็ทำตามนั้นตามไปสอนเด็กที่รับเข้ามาจนกระทั่งเขาเรียนชั้นป.4 ความอดทนของครูแจ้ทำให้ครูอีกหลายคนมองเห็นความสำคัญของเด็กเหล่านี้มากขึ้น ประกอบกับช่วงนั้นมีนโยบายให้จัดการเรียนรวมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ มันจึงเป็นเหมือนหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องดูแลเด็กเหล่านี้ให้ดีด้วย” ครูแจ้เล่า

    ลักษณะการทำงานของครูผู้มีอุดมการณ์ และจิตวิญญาณครูแห่งนครเชียงใหม่ผู้นี้ทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เด็กพิเศษทุกคนเรียกครูแจ้ว่าแม่ ก่อนจะเข้าแถวเด็กเหล่านี้จะทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อปรับพฤติกรรม ในบางรายหากมีพฤติกรรมรุนแรงจนไม่สามารถเรียนร่วมกับคนอื่นๆ ได้ จึงจัดให้มีห้องเรียนคู่ขนาน ซึ่งจะแยกเรียนคนละห้องกับเด็กปกติโดยมีครูพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเนื้อหาวิชาการจะปรับให้สอดรับกับพฤติกรรม

    “การสร้างเจตคติให้ครูรุ่นใหม่ให้เขาเข้าใจเด็กพิการ หรือเด็กออทิสติกนั้น ครูจะต้องคิดและเข้าใจว่าอาการของเด็กเหล่านั้นเป็นอย่างไร จึงต้องฝึกให้ครูลองอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ด้วย และก่อนที่จะทำให้เด็กไว้ใจครูก็จะต้องให้ความจริงใจกับเขา ใช้สายตาที่อ่อนโยน ทำทุกอย่างด้วยความรัก เมื่อเด็กเชื่อใจก็จะส่งผลให้การสอน หรือกิจกรรมในห้องเรียนราบรื่นขึ้น พัฒนาการของเด็กก็จะดีขึ้นตามลำดับ”

    เวลา 17 ปี ที่คลุกคลีและพร่ำสอนเด็กพิเศษมาในตอนแรกต้องยอมรับว่าจำทนเพราะไม่รู้จะแยกแยะเด็กปกติและเด็กมีความต้องการพิเศษอย่างไร สอนไปเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ต่อเมื่อได้ศึกษาอย่างจริงจังก็รู้ความแตกต่าง แต่นั่นก็ไม่สายเกินไปที่จะนำแสงสว่างมาสู่วงการการศึกษา เพราะปัจจุบันวัดช่างเคี่ยนเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติและเด็กพิการ เด็กมีความต้องการพิเศษใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ไปแล้ว

    กำลังโหลดความคิดเห็น