xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “เพ็ญ” จัดการทีวี-ละคร ทำลายศีลธรรม เศร้าสถานี-ผู้จัด ไม่ทำตามจัดเรตติ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ครูหยุย” กระทุ้งกรมประชาฯ ลงดาบทีวี ละคร ชี้ทำลายศีลธรรม กระตุ้น “จักรภพ” จัดการ คณะกรรมการเรตติ้ง เศร้า สถานี-ผู้จัด ตกลงจัดเรตติ้งตามเวลา แต่เอาเข้าจริงไม่ทำตาม บ้านกาญจนาภิเษกฯ ยัน จอตู้มีผลกับพฤติกรรมเด็ก

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า การสำรวจของเอแบคโพลล์ถึงการรับชมโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชน ซึ่งพบว่าเด็กบางส่วนอยากเป็นพระเอกละคร จะได้ข่มขืนได้ หรือ เด็กหญิงอยากแต่งตัวเซ็กซี่ เหมือน พัชรภา ไชยเชื้อ นั้น เป็นผลสำรวจที่จริงแท้และแน่นอน เพราะเด็กสามารถซึมซับพฤติกรรมที่รุนแรงต่างๆ ทั้งการทำร้ายร่างกาย ตบตี จูบ กอด มีเพศสัมพันธ์ ข่มขืน จากสื่อโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ควรเร่งดำเนินการเรื่องนี้ จัดระดับความเหมาะสมของรายการ (เรตติ้ง) ให้เป็นไปตามประกาศของกรมประชาสัมพันธ์

“กรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่โดยตรง อย่าอ้างเรื่องสุญญากาศทางกฎหมาย หรือจะใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความไม่เหมาะสมในการทำลายศีลธรรมอันดีก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้ ผมไม่คิดว่าบ้านเมืองจะไม่มีกลไกใดมาดูแล ภาพความจริงที่เห็นจากจอทีวี ก็แสดงอยู่แล้วว่า เต็มไปด้วยภาพไม่เหมาะสม มีแต่ความรุนแรงทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ” นายวัลลภ กล่าว

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะจัดทำคู่มือจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์(เรตติ้ง) กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ควรเรียกประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการจัดเรตติ้ง ที่ได้มีการแต่งตั้ง เพื่อให้การจัดเรตติ้งมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่เคยมีการเรียกประชุม ยืนยันว่า การจัดเรตติ้งตามเวลาผ่านการประชุมร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และผู้ผลิตแล้ว ทุกคนจึงควรเคารพกติกา ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม อยากขอให้ นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะที่กำกับกรมประชาสัมพันธ์ ช่วยมาดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่มีผลกระทบสูงต่อเด็กๆ ซึ่งเชื่อว่านายจักรภพมีแนวคิดที่ดีๆ ในการสร้างสรรค์สื่อ

“ละครในปัจจุบัน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผิดๆ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ระยะสั้นจะทำให้ค่านิยมแปรปรวน แทนที่เห็นว่าความรัก คือผูกผันรับผิดชอบ ก็จะเห็นเป็นความสัมพันธ์ความทางเพศ แทนที่เห็นว่าคุณค่าของคน ต้องมาจากความสามารถ ความรู้ กลายเป็นคิดว่าต้องเปิดเผยเนื้อตัวร่างกาย ส่วนระยะกลาง เด็กจะคิดว่ามีการมีเพศสัมพันธ์ไม่ต้องยับยั้งชั่งใจ ซึ่งมีผลพวงเป็นการตั้งครรภ์ การทำแท้งและระยะยาวจะมีค่านิยมการใช้ชีวิตคู่ รักง่ายทิ้งง่าย” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์ที่แพร่ภาพออกไป เข้าถึงมวลชนทั้งหมด ไม่สามารถจำเพาะได้ว่าใครจะดู แต่เด็กที่ดูทีวีไม่ได้มาจากครอบครับที่อบอุ่น มีภูมิคุ้มกันที่ดีทุกคน และเด็กไม่ได้เป็นตุ๊กตาออกมาจากโรงงานบาร์บี้ จะได้มีคุณภาพเหมือนกันหมด บางคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการทำร้ายร่างกาย มีการข่มเหงทางเพศ เมื่อเขาเห็นในชีวิตจริง ยิ่งเห็นในทีวีด้วย ทำให้กลายเป็นค่านิยมธรรมดาว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

นางทิชา กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ผู้ทำสื่อควรให้ความสนใจในเรื่องนี้ อย่าเอาสีข้างเข้าถูหรือปฏิเสธว่าความรุนแรงไม่เกิดจากการดูทีวี เพราะการผลิตซ้ำ ดูซ้ำ สามารถสร้างค่านิยมให้เยาวชนได้ กลไกของรัฐจึงต้องทำหน้าที่ให้ดี มีการจัดเรตติ้งโดยคำนึงเรื่องช่วงเวลาด้วย เพราะผู้ใหญ่ทุกคนไม่ได้อยู่หน้าจอทีวีกับเด็กตลอดเวลา เรื่องนี้แม้จะเป็นกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ควรเป็นจิตสำนึกร่วมกัน ภาคประชาชนที่ทำงานอย่างเครือข่ายครอบครัวต้องมีให้มากๆ และประกาศให้ชัดพร้อมๆ กันทั่วประเทศ ว่า จะไม่เสพสื่อเหล่านี้ แม้ความเป็นจริงอาจจะต้องทนดูบ้างก็ตาม แต่ถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เชิงอหิงสา ที่จะตอบสนองต่อรายการเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น